ปลุกพลังท้องถิ่น ตั้งเป้าสร้างเทศบาลแห่งการเรียนรู้ทั่วประเทศ ชู สร้าง“อสม.การศึกษา” ป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบ
วันนี้ (8 มิ.ย. 63) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดเวที “นวัตกรรมท้องถิ่นร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดี
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“ท้องถิ่นเป็นรากฐานของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” ความตอนหนึ่งระบุถึงข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) ว่ายังมีเด็กเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลก ที่ยังคงอยู่นอกระบบการศึกษา โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กวัยประถมศึกษามากกว่า 60 ล้านคน ขณะเดียวกันใน 10 ปีที่ผ่านมา (2007-2017) การลดลงของจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีจำนวนลดลงไม่ถึง100,000 คน
ดร.ประสาร กล่าวว่า โจทย์สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโลกที่มีความยากมากขึ้น ในขณะที่งบประมาณของภาครัฐและเงินบริจาคกลับมีแนวโน้มลดลง ผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ จึงต้องพยายามค้นหา นวัตกรรม หรือมาตรการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก ซึ่งทิศทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการใช้ท้องถิ่นเป็นฐานในการทำงาน น่าจะเป็นทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยงานวิจัยรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมายืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
Prof.Banerjee, Prof.Duflo และ Prof.Kremer นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลทั้ง 3 ท่านเชื่อว่า
“คำตอบของปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอยู่ในพื้นที่ ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงทดลองที่เหมาะสม ด้วยการทำงานร่วมกับภาคีในพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง คือหนทางสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำที่สามารถใช้ได้ผลจริงทั้งในพื้นที่ทดลอง และสามารถขยายผลสู่การดำเนินการระดับชาติได้อย่างยั่งยืน”
ดร.ประสาร กล่าวว่า เมื่อใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานในการทำงาน จะช่วยย่อโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากระดับประเทศสู่ระดับท้องถิ่น จะลดความซับซ้อนและขนาดของปัญหาลงมาราว 100 เท่า จะเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทการทำงานเชิงพื้นที่ เช่น การอาศัยพลังของคนในพื้นที่ในการส่งเสริมเครือข่ายอาสามัครด้านการศึกษา หรือ อสม.การศึกษา เพื่อร่วมเฝ้าระวังช่วยเหลือครอบครัวเด็กยากจนด้อยโอกาสและเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ โดยอาศัยบทเรียนความสำเร็จในการทำงานของ อสม.ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
ขณะที่ นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่าจากสถานการณ์โควิท-19 กสศ.ได้ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบทางด้านการศึกษากับเยาวชน พบว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมาก่อนประเด็นความเสี่ยงของเด็กที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษาถึงร้อยละ 70 ซึ่งผลสำรวจตรงนี้เหมือนเป็นการเตือนที่สำคัญว่าหากอีก 1 เดือนข้างหน้า ท้องถิ่นไม่สามารถเข้าถึงปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จะส่งผลให้เด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาได้
อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้ร่วมกับท้องถิ่นนำร่องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ราชบุรี เป็นต้น ผ่านโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่มุ่งให้เกิดความร่วมมือในระดับพื้นที่เพื่อให้การดูแลกลุ่มปฐมวัยและกลุ่มนอกระบบการศึกษาก่อนจะขยายสู่กลุ่มเป้าหมายอื่นในอนาคต โดยผลลัพธ์ที่ได้จาการดำเนินงานที่ผ่านมา คือ 1.เตรียมดึงเด็กจำนวน 10,000 คน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา จากเด็กจำนวนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาไปแล้ว 50,000 คน 2.กลุ่มเด็กปฐมวัย มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีมาตรฐานมากขึ้น
“กสศ. เห็นโอกาสภายใต้ความท้าทายในการพัฒนาเมืองหรือท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยสนับสนุนทั้งในมิติของโอกาสและความเท่าเทียม ควบคู่มิติของคุณภาพและการใช้ประโยชน์ได้ของการเรียนรู้ ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่และมีเครือข่ายเพื่อร่วมกันแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ทำให้สามารถพัฒนาคุณภาพเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ตรงกับความต้องการของบริบทพื้นที่” นายสุภกร ระบุ
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ยังระบุถึงการทำงานต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์โควิด-19ด้วยว่า กสศ.เตรียม ดึงภาคประชาชนมีส่วนร่วมในอนาคตอันใกล้ โดยพร้อมสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายเครือข่ายอาสาสมัครด้านการศึกษา (อสม.การศึกษา) ในการเฝ้าระวังช่วยเหลือครอบครัวเด็กที่ยากจนด้อยโอกาสและเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ โดยใช้นวัตกรรมระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ในรูปแบบ Mobile Application ในการสนับสนุน อสม. การศึกษา รวมถึงท้องถิ่น ทำการค้นหาเป้าหมาย และระบุตัวตนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการการดูแลช่วยเหลือ และคุ้มครองสวัสดิภาพเป็นพิเศษ ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 เช่น การติดตามเด็กนักเรียนในกลุ่มเสี่ยง และการทำงานร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐ และประชาสังคมในพื้นที่เครือข่าย ส่งเสริมชุมชนและครอบครัวให้มีขีดความสามารถในการสนับสนุนโรงเรียนในการเฝ้าระวังช่วยเหลือครอบครัวเด็กที่ยากจนด้อยโอกาสและเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษมิให้เด็กหลุดจากการศึกษา โดยใช้ระบบเทคโนโลยีในการเฝ้าระวัง การติดตามที่เหมาะสม
“อสม.การศึกษาจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้กับท้องถิ่น คาดว่าจะใช้ อสม. ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่และท้องถิ่นจะช่วยเสริมพัฒนาศักยภาพของ อสม. ที่มีอยู่เดิม หรือมี อสม.การศึกษาที่มาจากข้าราชการที่เกษียณแล้ว เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้มีความรู้ ความสามารถทางด้านจัดการศึกษา” นายสุภกร กล่าว
ขณะที่ ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในทุกมิติของสังคมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทุกปัญหามีความซับซ้อน และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ ทุกชุมชน ซึ่งสถานการณ์โรคระบาดโควิด- 19 ช่วยขยายภาพปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยให้ชัดขึ้น เห็นได้จากความเดือดร้อนและทุกข์ยากของคนจากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างรุนแรง สวนทางกับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น หรือการที่ภาคบริการและแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงและฉับพลัน แต่ภาคการเกษตรยังอยู่รอดและต้องรับภาระการอพยพคน ส่วนประชาชนจำเป็นต้องปรับวิถีการใช้ชีวิตให้สอดรับกับสถานการณ์
“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วในระดับต้นๆ ของประเทศ การแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่การทำให้ทุกคนเท่ากัน แต่เป็นการลดความแตกต่างโดยการทำให้ทุกคนได้รับและเข้าถึงสุขภาวะขันพื้นฐานที่ได้มาตรฐานอย่าง เท่าเทียม นอกจากด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ด้านการศึกษาก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องขอบคุณกสศ. ที่เข้ามาเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนและรวมพลังท้องถิ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการจัดการศึกษา เพราะมีต้นทุนทางสังคมที่ดี มีความยืดหยุ่นและเอกภาพในการบริหารการศึกษา อีกทั้งการศึกษาของท้องถิ่นสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่นและสังคมได้ ดังนั้นท้องถิ่นจึงนับเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สำคัญอย่างยิ่ง” ศาสตราจารย์วุฒิสาร ระบุ
ด้านนายสุพจน์ จิตร์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า หน้าที่ อปท.นอกเหนือจากงานด้านปกครองแล้ว ยังมีหน้าที่ส่งเสริมด้านการศึกษา ทั้งนี้บทบาทของ อปท.ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้น เราต้องดูความพร้อมของแต่ละพื้นที่ด้วย เพราะศักยภาพในด้านต่างๆไม่เท่ากัน จึงต้องให้แต่ละพื้นที่เป็นผู้จัดการเรื่องการศึกษาให้เหมาะสมกับศักยภาพ ส่วนการมี อสม.การศึกษาเป็นเรื่องที่ดีที่ตนคิดว่าจะช่วยป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ แต่อย่างไรก็ตามทางพื้นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเสริมศักยภาพของ อสม.การศึกษา ซึ่งอาจจะเป็น อสม.ที่มีอยู่แล้วหรือเครือข่ายคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นต้น