KNOWLEDGE

รู้จัก Social Protection in Education ไม่ว่าจะมีอีกวิกฤต อีกกี่โควิดก็ไม่หวั่น

ในภาวะวิกฤตอย่างการแพร่ระบาดของ โควิด-19  ในสังคมที่มีความเสมอภาค เข้มแข็ง การแก้ปัญหาย่อมสามารถใช้ยาตัวเดียวในการแก้ได้ทั้งหมด แต่ในสังคมที่ยังมีความแตกต่าง เหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหา หรือทางออกที่ดีของคนกลุ่มหนึ่ง กลับไม่สามารถใช้กับคนอีกกลุ่มได้เลย เพื่อหยุดเชื้อ เราต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไป ซึ่งอาจไม่เป็นปัญหาสำหรับเด็กกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง หมายถึงการที่ไม่มีอาหารเช้าทาน มีอาหารกลางวันทานเท่าที่สามารถหาได้ เรื่องสารอาหารไม่ต้องพูดถึง … เมื่อเปิดเทอมมาเราอาจเห็นเด็กกลุ่มหนึ่งตุ้ยนุ้ยผิดตาจนเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วนเพราะอยู่บ้านมีอาหารว่างมากกว่า 1 มื้อ กับเด็กอีกกลุ่มที่ผอมจนต่ำกว่าเกณฑ์เพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เมื่อที่บ้านไม่มีฐานะเพียงพอที่จะจัดอาหารที่มีโภชนาการดีให้กับพวกเขาได้

ปัจจุบันเราแก้ปัญหาเร่งด่วนนี้ด้วยการ “เยียวยา” ในระยะสั้นโดยเร็วที่สุดไปก่อน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารเพิ่มเติมให้กับนักเรียนยากจนพิเศษในสังกัด สพฐ. ตชด. และ อปท. ตั้งแต่ ป.1- ม.3 และระดับอนุบาลได้กว่า 7 แสนคน เป็นเงินคนละ 600 บาทเพื่อเป็นค่าอาหารเบื้องต้น แต่หากต้องการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต อย่างยั่งยืน เราคงต้องเริ่มสร้างระบบ และแนวทางในการแก้ปัญหากันตั้งแต่ตอนนี้

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดแนวคิด “การคุ้มครองทางสัมคมในระบบการศึกษา” (Social Protection in Education) เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีวิกฤต

วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เราต้องหันกลับมามองทั้งระบบอีกครั้ง เมื่อเกิดปัญหา หรือวิกฤตขึ้นมา เราจะนึกถึงการเยียวยาก่อนเป็นอย่างแรก เพราะเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนให้ผ่านปัญหาตรงนั้นไปได้ แต่ถ้ามองถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเยียวยาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้อง “คิดต่อ” ถึงการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมให้ครอบคลุมทุกมิติ

ดร. ประสาร กล่าวว่า “การคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา” เป็นสิ่งที่สังคมทุกภาคส่วนต้องเตรียมพร้อมเพื่อแก้ปัญหา และปกป้องคุ้มครองเด็ก และเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบ หากสามารถทำได้ ไม่ว่าจะมีวิกฤตใดเข้ามา เราก็จะสามารถปกป้อง และดูแลลูกหลานของเราได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา ได้แก่

มิติ 1 ความมั่นคงด้านอาหาร
ควรสร้างให้เกิดความเสมอภาค ให้เด็กทุกคนได้อิ่มท้อง มีโภชนาการที่ดีเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเซลล์สมอง และสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น

มิติ 2 ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว
ครอบครัวควรให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเด็ก และการศึกษาของเด็ก

ในบางครอบครัวที่มีฐานะยากจนพิเศษ บางครั้งการศึกษาเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าความอยู่รอด หรือปากท้อง เด็กจำนวนมากต้องออกจากระบบการศึกษาโดยจำใจเพราะต้องออกไปทำงานหาเงินมาจุนเจือครอบครัว จะทำอย่างไรให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่พร้อมจะเรียน ทำอย่างไรให้ครอบครัวสนับสนุนและเห็นความสำคัญของการศึกษา

มิติ 3 ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียน
การเดินทางเป็นอุปสรรคหนึ่งของการศึกษา เด็กบางคนต้องเดินทางอย่างยากลำบากกว่าจะไปถึงโรงเรียน หรอืบางครั้งเส้นทางที่มาโรงเรียนก็เป็นเส้นทางที่ไม่ปลอดภัย

มิติ 4 ความพร้อม และความปลอดภัยของสถานศึกษาและครู
โรงเรียน ควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็ก และเยาวชน และคุณครูควรเป็นบุคลากรที่เป็นที่พึ่งพาสำหรับเด็กได้ การป้องกันความรุนแรงในสถานศึกษา รวมไปถึงการคุกคามด้านต่างๆ ควรเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ

มิติ 5 ความพร้อมของชุมชน และท้องถิ่น
ชุมชนมีความสำคัญอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าการทำงานของ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) มีผลอย่างมากต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชน จะดีแค่ไหนหากเรามีอาสาสมัครการศึกษาประจำหมู่บ้านที่จะช่วยสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับลูกหลานในชุมชน

หากเราสามารถสร้าง การคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา ได้นอกจากจะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนแล้ว ยังนับเป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และทำให้เกิดความเสมอภาคในการศึกษา อันจะนำไปสู่การพัฒนาทั้งในและนอกระบบอีกด้วย  

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้เริ่มช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมพัฒนากลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนทั้งใน และนอกระบบการศึกษา รวมถึงครู ผู้พิการ และประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวนรวมมากกว่า 1,147,754 คน ใน 27,731 โรงเรียนทั่วประเทศ แต่ กสศ. มองว่าเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น และยังมีอะไรให้ทำอีกมาก เพื่อทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถหยุดความยากจนข้ามชั่วคนได้ในอนาคต

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat