กสศ. โชว์ตัวเลขงบการศึกษาไทย ใช้ไปไม่น้อย แต่ไม่ตรงจุด ลดเหลื่อมล้ำไม่ได้

กสศ. เผยตัวเลขงบการศึกษาสูงขึ้นเพิ่มเกือบ 50% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เหตุเน้นเท่าเทียมเป็นหลัก ให้ความสำคัญกับการลดเหลื่อมล้ำ สนับสนุนเด็กกลุ่มต่างๆ ไม่มากเท่าที่ควร หวังใช้ฐานข้อมูลผลักดันการวางแผนการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดตัวระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาของไทย (NEA) เผยตัวเลขงบประมาณด้านการศึกษาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการใช้งบประมาณแผ่นดินในสัดส่วนกว่า 20% มาตั้งแต่ปี 2542 และที่สำคัญคือรายจ่ายด้านการศึกษาต่อหัวต่อปี เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 50% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ว่ามีการใช้งบประมาณมากขึ้น แม้ว่าจะมีจำนวนเด็กนักเรียนน้อยลง
รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาปีละ 816,463 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม OECD (ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9 ต่อ GDP”
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณที่ไม่เพียงพอ แต่อยู่ที่การจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ต่อผู้เรียนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งในมิติของโอกาส และคุณภาพอยู่มาก” รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การทำระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาของไทย หรือ NEA ทำให้มองเห็นการใช้งบประมาณด้านการศึกษาของไทยได้ชัดเจนขึ้น และสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และตรงจุดมากขึ้น โดยควรเน้นที่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น
“เรายังมีโรงเรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาอยู่มาก มีโรงเรียนที่ห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารที่อาจไม่มีบุคลากรทางการศึกษา และอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาเพียงพอ การจัดสรรงบประมาณที่เน้นที่ความเท่าเทียมอย่างเดียวอาจไม่ใช่ทางออกในการลดความเหลื่อมล้ำ และอาจถึงเวลาแล้วที่จะหันมาใช้ข้อมูลในการพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเหลื่อมล้ำสูง”
ข้อเสนอในการปฏิรูปการบริหารจัดการงบประมาณด้านการศึกษา อาทิ การช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล และลดการสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีความจำเป็นหรือใช้ทรัพยากรร่วมได้ การบูรณาการการวางแผนการรับนักเรียนในระดับพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ และการศึกษาแนวทางการเกลี่ยอัตรากำลังคนให้สอดคล้องกับความจำเป็น รวมถึงแก้ระบบแรงจูงใจให้บุคลากรกระจายไปสู่พื้นที่กันดารห่างไกลให้มากขึ้น
“เราหวังว่าข้อมูลที่ได้จากการทำระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาของไทย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนพลวัตในการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศ และผลักดันให้เกิดการวิจัย และพัฒนาให้เป็นประโยชน์มากขึ้น” ดร.ไกรยส กล่าว
รศ.ดร.ชัยยุทธ ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการงบประมาณด้านการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่จะปรับสูตรการกระจายงบประมาณโดยเฉลี่ยเป็นรายหัว หรือเน้นที่ความเท่าเทียม มาเป็นการพิจารณาโดยเน้นที่ความจำเป็นและความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ โดยเน้นที่การช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็ก ห่างไกล และเน้นการกระจายอำนาจการบริหารจัดการ ตัดสินใจไปยังท้องถิ่นมากขึ้น โดยส่วนกลางดูแลเพียงเรื่องนโยบายและการกำหนดทิศทางเป็นหลัก รวมถึงการทบทวนการลดสัดส่วนงบประมาณที่ไม่จำเป็น และเพิ่มระบบจูงใจในการทำงานในพื้นที่ห่างไกล และส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผู้สนใจข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://research.eef.or.th/nea/