KNOWLEDGE

กสศ. จับมือ 11 หน่วยงาน แก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์

หลังพบเด็กนอกระบบการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หวั่นส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ย้ำเด็กทุกคนต้องอยู่ในเรดาร์ มีทางเลือกการศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตเด็ก

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีมติรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไปตามข้อเสนอของ กสศ.

ทั้งนี้ กสศ.กำลังทำงานร่วมกับ 11 หน่วยงาน เช่น กระทรวงคึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยจะประชุมนัดแรกร่วมกับทั้ง 11 หน่วยงานในวันที่ 14 มิถุนายน 2567

ดร.ไกรยส กล่าวว่า หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาและกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดของประเทศไทยปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ทำให้มีอัตราการเกิดใหม่ลดลงต่ำกว่าปีละ 500,000 คน ส่งผลให้ไทยอาจติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางต่อไปอีกหลายปี

อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยสามารถยุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจนทำให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์ภายในทศวรรษข้างหน้า จะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้นเกือบร้อยละ 1.7 ของ GDP จากรายงานการประเมินขององค์การยูเนสโก ผ่านการเพิ่มขึ้นของรายได้ตลอดชีวิตของเด็กและเยาวชนที่มีการศึกษาสูงขึ้น ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นนี้เกือบเท่ากับค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ราวร้อยละ 1.6

จากการทำงานด้านข้อมูลร่วมกันระหว่าง กสศ. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดีอี พบว่าตัวเลขนักเรียนในระบบการศึกษาที่เข้าเรียนในระดับอนุบาลถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อ1. – ม.6) ในทุกสังกัดประมาณ 11 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลของ EDC Education Data Center สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักทะเบียนราษฎร์กระทรวงมหาดไทย พบเด็กและเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา (เด็กนอกระบบ) ในปี 2566 ประมาณ 1.02 ล้านคน

“หากเห็นตัวเลขจำนวนเด็กตกหล่น ปี 2566 สะสมประมาณ 1.02 ล้านคน อาจจะดูสูงจนน่าตกใจ แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขเด็กนอกระบบในรายจังหวัด เทียบกับจำนวนประชากรวัยเรียนในพื้นที่แล้วจะพบว่า เกือบทุกจังหวัดมีอัตราส่วนเด็กนอกระบบการศึกษาเป็นตัวเลขหลักเดียว หรือราว 1-3% ของประชากรในวัยเดียวกันของพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ มีเพียงพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดตาก ที่มีเด็กนอกระบบสูงถึง 6-13% ของฐานประชากรวัย 3-18 ปี” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว

ดร.ไกรยส กล่าวว่า มติ ครม.ที่ผ่านมา ถือเป็นกุญแจดอกแรกในการขับเคลื่อนทั้ง 4 มาตรการ ได้แก่

1.มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ

3.มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย

4.มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด จะเป็นประธานคณะกรรมการติดตามเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งจะทำให้ทุกจังหวัดมีกลไกทำงานให้ทุกต้นเทอม ทุกโรงเรียน ทุกจังหวัด มีระบบการติดตามผู้เรียน และฟื้นฟูเด็กเตรียมความพร้อมการเข้าเรียนใหม่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

“โครงการ Zero Dropout ไม่ได้หมายถึงเด็กเยาวชนทุกคนจะกลับเข้าสู่โรงเรียนทันที แต่หมายถึงว่า เด็กทุกคนจะมีทางเลือกในการเรียนรู้ และพัฒนาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต หรือแม้จะยังไม่พร้อมกลับเข้าระบบ พวกเขาก็จะมีเส้นทางการเตรียมความพร้อม การได้รับการฟื้นฟู 3-6 เดือนก่อนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อค้นพบคุณค่าและเป้าหมายของตัวเอง ซึ่งเชื่อมโยงกับเส้นทางการศึกษาต่าง ๆ จะช่วยให้เขาบรรลุเป้าหมายของชีวิตและครอบครัวได้ นั่นคือปลายทางของ Zero Dropout ที่ทุกฝ่ายตั้งใจให้เกิดขึ้น” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว

Related Posts

Send this to a friend