KNOWLEDGE

ธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม Open House พร้อมเปิดเวทีเสวนาทิศทางการศึกษาแห่งอนาคต

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดกิจกรรม “Thammasat Open House 2023 : Space of Limitless Education” เปิดบ้านธรรมศาสตร์ ประตูสู่การเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด เมื่อวันที่ 27-28 ต.ค. 2566 เปิดประสบการณ์ให้นักเรียนตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ภายใต้กิจกรรมการแสดง สันทนาการ พร้อมจัดเวทีพูดคุยการศึกษาแห่งอนาคต โดยมี ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ศุภมาส กล่าวว่า กิจกรรมเปิดบ้านของสถาบันอุดมศึกษา เป็นกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้นักเรียนและบุคคลทั่วไปได้รู้จักสถาบันการศึกษามากยิ่งขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลการรับเข้าศึกษา หลักสูตร การเรียนการสอน รวมถึงได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงในแต่ละคณะ เห็นบรรยากาศการใช้ชีวิตเป็นนักศึกษา เพื่อก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ เตรียมความพร้อมในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “Future Education: ทิศทางการศึกษาแห่งอนาคต ตอบโจทย์โลกยุคใหม่” ว่า เมกะเทรนด์ต่าง ๆ ของโลก ที่กำลังจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการศึกษา และระบบการเรียนน้อยลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ การพัฒนาระบบสุขภาพที่คนหันมาใส่ใจกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว รวมไปถึงประเด็นของการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้มหาวิทยาลัยจะต้องมีการปรับตัว ปรับหลักสูตร ตลอดจนรูปแบบการศึกษาที่จะต่อยอดไปสู่อาชีพการทำงานได้มากขึ้น

“สำหรับบางคนกว่าที่จะเรียนจบหลักสูตรอาจใช้เวลานานเกินไป เพราะแต่ละคนเขามีภาระไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราจึงพยายามพัฒนาให้ระบบอุดมศึกษาเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนได้มากขึ้น สามารถค่อย ๆ เก็บเป็นเครดิตเอาไว้ได้ อย่างที่ มธ. ทำไปแล้ว พร้อมมีระบบโค้ชชิ่ง ที่จะเข้าไปช่วยแนะแนวทางให้บนความต้องการของเด็กว่าอยากเป็นอะไร มีแนวทางไหนที่จะทำได้ แล้วจัดแพลทฟอร์มการเรียนรู้ให้สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมถึงเพิ่มโอกาสในการมีรายได้ระหว่างเรียนไปด้วย ซึ่งเราอยากให้ภาพแบบนี้ขยายไปในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศได้” น.ส.สุชาดา กล่าว

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ความรู้มีอายุสั้น แต่คนมีอายุยาว ซึ่งความรู้จากสถาบันการศึกษาไม่เพียงพอที่จะใช้ในชีวิตการทำงานได้ตลอดไป ฉะนั้นสถาบันการศึกษาก็ต้องปรับตัวให้ผู้เรียนได้เรียนเท่าที่จำเป็น แล้วรีบออกไปเผชิญโลกการทำงานจริงได้เร็วที่สุด และเมื่อเขารู้ตัวว่าขาดอะไร จะต้องเติมอะไร ก็ทำให้เขาสามารถกลับเข้ามาเรียนเพิ่มเติมได้โดยง่าย ไม่ใช่ให้เรียนเผื่อไว้มากมาย แต่กว่าจะเรียนจบออกไปแล้วความรู้นั้นก็ล้าสมัย หรือไม่ได้ใช้

รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มธ. กล่าวเสวนาหัวข้อ “INCLUSIVE SOCIETY : แตกต่างอย่างเท่าเทียม สู่สังคมเพื่อคนทั้งมวล” โดยระบุว่า ประเทศเรามีนักศึกษาพิการเพียง 0.03% เท่านั้น ขณะที่คนพิการทั้งประเทศมีไม่ถึง 5% ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โอกาสในการทำงานจึงน้อยตามไปด้วย และแม้จะมีการเปิดรับคนพิการเข้าทำงานมากขึ้น แต่ทางเลือกอาชีพของเขาก็มีให้น้อยเช่นกัน ฉะนั้นตั้งแต่ต้นทางมหาวิทยาลัย จึงควรเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันผลักดันให้คนพิการได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในแขนงต่าง ๆ มากขึ้น

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม. ได้มีการรับข้าราชการที่เป็นคนพิการด้วยเช่นกัน แต่อาจยังรับได้ในจำนวนไม่มาก แต่เมื่อปีที่ผ่านมาเพิ่งมีการจัดการสอบที่เหมาะสมและเอื้อให้กับคนพิการมากขึ้น โดยในส่วนของปัญหาที่คนพิการอาจยังเข้าทำงานได้ไม่หลากหลายมากนัก นับเป็นโจทย์ที่ต้องร่วมกันออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์การทำงานของคนพิการด้วย และจะไม่โยนให้เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยซึ่งทำหน้าที่ผลิตอย่างเดียว แต่หน่วยงานเองก็จะต้องเป็นส่วนที่สะท้อนสิ่งต่าง ๆ เป็นข้อมูลกลับไปด้วย

Related Posts

Send this to a friend