เรเชล นวัตกรรมวิจัยเพื่อสังคมสูงวัย ช่วยเสริมแรงการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ ป้องกันการสะดุดหกล้ม

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ล่าสุดให้การสนับสนุนงานวิจัย เพื่อสนองตอบสถานการณ์สังคมสูงอายุในขณะนี้ ได้แก่การพัฒนานวัตกรรมวิจัย ชุดเอ็กโซสูท (Exosuit) “เรเชล (Rachel)” ชุดบอดี้สูทที่เป็นตัวช่วยพยุงกล้ามเนื้อให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นงานวิจัยโดยทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่นำโดย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ผู้อำนวยกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค
ดร.ศราวุธ กล่าวว่า “ชุดบอดี้สูท “เรเชล” เพื่อการออกแบบวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ จัดทำขึ้นมาสำหรับผู้สูงอายุที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้โดยเฉพาะ ซึ่งความพิเศษของชุดนี้ คือจะช่วยในการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระด้วยการมี “กล้ามเนื้อจำลอง” จากพลังงานลมที่ติดตั้งอยู่ในชุด เพื่อทำหน้าที่ “ซัพพอร์ต” หรือเสริมแรงในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ”
“กล้ามเนื้อจำลองที่อยู่ในชุด “เรเชล” เป็นเทคโนโลยีที่จำลองการทำงาน ของกล้ามเนื้อของคน เพื่อให้ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นยืน เดินขึ้นบันได หรือแม้แต่กรณีการยกของหนัก ก็จะมีกล้ามเนื้อจำลองช่วยเสริมแรงพยุง ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากอาการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและกระดูก อันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะต้องรักษามวลกล้ามเนื้อและกระดูกเอาไว้ ยกตัวอย่างการลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง ซึ่งแม้จะดูเป็นท่าพื้นฐานที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน แต่กลับซ่อนไปด้วยองค์ประกอบ ของการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อต่อบริเวณกระดูกสันหลัง ลำตัว สะโพก เข่า ข้อเท้า ซึ่งทั้งหมดต้องทำงานสอดประสานกัน โดยอาศัยแรงจากกล้ามเนื้อหลายมัด และการเคลื่อนของข้อต่อที่เหมาะสม โดยยังคงรักษาสมดุลของร่างกาย ซึ่งชุดบอดี้สูทที่ถูกออกแบบมานี้ จะเป็นการเข้าไปวาง “กล้ามเนื้อจำลอง” ในตำแหน่งที่ช่วยให้การทำงานของกล้ามเนื้อจริง เคลื่อนไหวในท่าทางต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ”
“แม้เทคโนโลยีบอดี้สูทในลักษณะเดียวกันนี้ จะมีอยู่ในต่างประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์ประกอบในหลายส่วนนั้น อาจไม่ได้ตอบโจทย์กับคนไทย ไม่ว่าจะเป็น ขนาด รูปทรง หรือความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ จึงเป็นโจทย์ให้ทีมวิจัยต้องพัฒนาขึ้นมาเอง เป็นนวัตกรรมของคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากเป็นตัวช่วยให้กับผู้สูงอายุ ภายในประเทศแล้ว ยังจะสามารถทำตลาดไปสู่ประเทศอื่นๆรอบข้าง ที่มีลักษณะความต้องการ ที่ใกล้เคียงกันได้อีกในอนาคต”
“สำหรับชุดบอดี้สูท “เรเชล” ที่ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับคนไทยนั้น ในระยะแรกของการวิจัย เรียกว่ารุ่น แอคทีฟ (Active) โดยเป็นรุ่นที่มีการใช้ระบบพลังงานลม เพื่อสร้างกล้ามเนื้อจำลองทำให้ชุดมีน้ำหนักมาก ต่อมา สวรส.ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน และต่อยอดการวิจัยในรุ่นชื่อว่า ออลเดย์ (All-day) โดยพัฒนานวัตกรรมกล้ามเนื้อจำลอง ด้วยการตัดเย็บและเลือกวัสดุผ้าที่มีน้ำหนักเบา แต่ยังคงคุณสมบัติในการทำงาน มีขนาดเหมาะสม สามารถสวมใส่เสื้อผ้าทับได้ และสวมใส่ได้ตลอดทั้งวัน เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ คล่องตัว ตลอดจนตอบโจทย์การใช้งานจริงในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น”
“รวมทั้งในชุดเรเชล รุ่นออลเดย์นี้ มีการใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับ การเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งจะส่งข้อมูลมายังแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้สวมใส่ มีการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง การยกของ การเดิน ฯลฯ ซึ่งระบบจะแจ้งเตือน หากมีการใช้ท่าทางที่ไม่เหมาะสม ผิดไปจากธรรมชาติ ทำให้ช่วยลดความเสี่ยง ต่อการพลัดตกหกล้ม ส่งผลให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น เป็นเวลานานขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อทั้งในระยะสั้น และระยะยาวของผู้สูงอายุที่ยังดูแลตัวเองได้ ลดภาวะพึ่งพิง และยังเป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรง และความพิเศษของ ชุดบอดี้สูท “เรเชล” นี้ยังไม่ได้ถูกออกแบบบนโจทย์ของการเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้นำมุมของแฟชั่นดีไซน์ มาใช้ในการออกแบบพัฒนาชิ้นงาน”
อ.กนกลักษณ์ ดูการณ์ ผู้อำนวยการศูนย์อบรมแพ็ทเทิร์นอุตสาหกรรม แพ็ทเทิร์นไอที สถาบันพัฒนาแพ็ทเทิร์นอุตสาหกรรม และออกแบบเสื้อผ้าสำเร็จรูป กล่าวว่า “โจทย์ที่สำคัญไม่แพ้กันคือผู้ใช้งานจะต้อง “อยากสวมใส่” ซึ่ง “ความสวยงาม” จึงเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา ในการออกแบบร่วมด้วย หลังได้รับโจทย์มาแล้วเราได้พยายาม มองหาตัวเลือกวัตถุดิบผ้าแต่ละชนิด ซึ่งเราใช้ผ้าแบบเดียวไม่ได้ เพราะผ้าแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ในการนำมาใช้งานให้เหมาะสมกับการยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อในแต่ละส่วน ขณะเดียวกันก็ต้องผสานเข้ากับอุปกรณ์ ที่ถูกติดตั้งภายในชุดให้ได้อย่างลงตัว สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายในการออกแบบ เพราะถ้าเราต้องการให้คนสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้จริง ก็ต้องมีแรงดึงดูด ทำให้เขาเกิดความอยากได้อยากใช้ เรื่องของอารมณ์และความสวยงาม จึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ใช้ในการพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้”
ในส่วนของการวิจัยและทดสอบชุดเรเชล ทางเอ็มเทคได้ดำเนินการภายใต้ ห้องปฏิบัติการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนา และทดสอบผลิตภัณฑ์อุปกรณ์วัด และประมวลผลด้านสุขภาพแบบสวมใส่ (Wearable devices) แบบ one-stop-service ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในปี 2565 โดยเป็นห้องปฏิบัติการที่มีกล้องติดตั้งโดยรอบ เพื่อใช้ในการตรวจสอบการเคลื่อนไหวของชุด และชุดอุปกรณ์วัดสัญญาณชีพต่างๆ เช่น อุปกรณ์วัดสัญญาณไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ค่าพลังงานที่ร่างกายใช้ในการเคลื่อนไหว เพื่อประเมินประสิทธิภาพของอุปกรณ์สวมใส่ พร้อมแปรผลเป็นสัญญาณที่วัดค่าออกมาได้อย่างแม่นยำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าชุดที่ถูกพัฒนาขึ้นมานี้ ไม่ได้เป็นการทดสอบที่ตั้งอยู่บนความรู้สึกของผู้สวมใส่เพียงอย่างเดียว
นอกจากการพัฒนาชุดบอดี้สูท “เรเชล” แล้ว ทางเอ็มเทค สวทช.ยังได้มีการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ เช่น ชุดพยุงหลัง “รอส (Ross)” ซึ่งพัฒนาขึ้นสำหรับภารกิจทางการแพทย์ ช่วยลดภาระของกล้ามเนื้อส่วนหลัง และความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ จากการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุ ได้แก่ การยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การพลิกตัวผู้ป่วย การประคองผู้ป่วย และก้มยกของ เป็นต้น ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาล หรือเวรเปล รวมถึงบุคคลที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้
ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. ระบุว่า “ปัญหาตามวัยของผู้สูงอายุ จะมีทั้งเรื่องของสมดุลทางร่างกาย กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงลง กระดูกที่บางลง ส่งผลตามมาคืออัตราเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ “พลัดตกหกล้ม” และปัจจุบันมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากเกิดกรณีหกล้มขึ้นมาแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมากกว่า คนวัยหนุ่มสาวหลายเท่าตัว อาจถึงขั้นต้องผ่าตัด นอนโรงพยาบาล หรือแม้แต่เกิดความพิการ ไปจนถึงต้องมีผู้ดูแล กลายเป็นการเพิ่มภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว
“นวัตกรรมชุดบอดี้สูท เรเชล เป็นการนำเอาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดูแลและป้องกันผู้สูงอายุ ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศโดยรวมได้อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เรากำลัง ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุขณะนี้ สวรส.จึงสนับสนุนนวัตกรรมวิจัยนี้ โดยร่วมกับทีมวิจัยและหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ของประชาชน และเกิดผลดีต่อประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม”
“สำหรับเป้าหมายต่อไปของ สวรส.คือการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมนี้ ให้ได้รับการประเมินความคุ้มค่า และเข้าไปสู่ชุดสิทธิประโยชน์ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญให้ประชาชน สามารถเข้าถึงนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ได้ ผ่านการบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และจะทำงานคู่ขนานไปกับหน่วยงานเครือข่าย อาทิ หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อการสนับสนุนสู่การผลิตนวัตกรรม ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริง และเสริมศักยภาพในแง่ของอุตสาหกรรมของประเทศ เนื่องจากนวัตกรรมลักษณะนี้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์สุขภาวะคนกลุ่มอื่นๆได้อีกด้วย”