แนะแนวปฏิบัติ เมื่อสงสัยถูกพิษ ‘ไซยาไนด์’ ส่งโรงพยาบาลเท่านั้น!
จากข่าวที่มีการใช้สารพิษ “วางยา” ในอาหาร โดยผู้ต้องหา แอม เท้าแชร์ ทำให้เกิดหลากหลายคำถามในสังคม โดยเฉพาะแนวทางการปฏิบัติหากได้รับสารพิษนั้น หรือสงสัยว่าได้รับสารพิษ เพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้
The Reporters ได้สอบถามไปยัง “ดร.ผาสุข แก้วเจริญตา” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.อุตรดิดถ์ และนักวิชาการด้านสุขภาพประจำชุมชน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษ โปแตสเซียม ไซยาไนด์ รวมถึงวิธีสังเกตอาการของผู้ได้รับสารเบื้องต้น
ดร.ผาสุข ให้ข้อมูลว่า “ไซยาไนด์เป็นสารที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส ที่สำคัญองค์ประกอบของไซยาไนด์ เป็นเคมีวัตถุที่เป็นสารควบคุม ดังนั้นจึงไม่สามารถหาซื้อได้เองตามท้องตลาดทั่วไป เนื่องจากผิดกฎหมาย นอกจากนี้สารไซยาไนด์ยังสามารถพบได้ตามธรรมชาติ ทั้งในเมล็ดและใบพืชบางชนิด โดยบางชนิด หากนำไปดื่มพร้อมกับแอลกอฮอล์จะเป็นอันตรายอย่างมาก”
“สำหรับอันตรายของสารไซยาไนด์นั้น มีตั้งแต่วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ไม่รู้สึกตัว น้ำลายฟูมปาก จนถึงเสียชีวิตได้ เนื่องจากเมื่อบริโภคไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกาย สารไซยาไนด์จะไปจับตัวกับเม็ดเลือดแดง ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายไม่ได้ เมื่อร่างกายขาดออกซิเจน ก็จะดึงคาร์บอนไดออกไซต์มาใช้ ทำให้ร่างกายมีความเป็นกรดสูง อีกทั้งเมื่อร่างกายขาดออกซิเจน ก็จะทำให้เซลล์ของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ซึ่งหมายถึงส่วนต่างๆ ของร่างกายใช้การไม่ได้ นั่นจึงเป็นที่มาของอาการหัวล้มเหลว และหัวใจวายเฉียบพลัน จนกระทั่งเสียชีวิตนั่นเอง”
สำหรับการสังเกตอาหารที่ปนเปื้อนไซยาไนด์ ดร.ผาสุข กล่าวว่า การสังเกตค่อนข้างยาก เนื่องจากไซยาไนด์ไม่มีสีไม่มีกลิ่น และไม่มีรส การป้องกันตัวเองไม่ให้ได้รับอันตรายจากไซยาไนด์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยต้องระมัดระวังในการรับประทานอาหารจากจานที่วางทิ้งไว้ หรือดื่มกินน้ำจากแก้วหรือขวดที่ไม่ได้เปิดใหม่ด้วยตนเอง หรือวางไว้บนโต๊ะที่ไม่มีคนอยู่ นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ต้องใช้ยาเบื่อหนู หรือยากำจัดวัชพืช ให้สวมอุปกรณ์ป้องกัน อย่าสัมผัสโดยตรง ให้ล้างมือด้วยสบู่ และล้างผ่านน้ำให้มากกว่าปกติ ส่วนวิธีกำจัดให้ทิ้งลงในถังขยะสารเคมีปนเปื้อนเท่านั้น เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำลำคลอง
“หากพบผู้ต้องสงสัยได้รับสารไซยาไนด์ ไม่ควรรอทำการปฐมพยาบาล แต่ให้นำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาด้วยการล้างพิษ ที่สำคัญต้องบอกประวัติ อาการให้ละเอียดชัดเจน รวมถึงไปที่ไหนมาบ้าง ก่อนที่คาดว่าจะได้รับสารพิษดังกล่าว เพื่อนำมาสู่การรักษาที่ตรงเป้าหมาย เพราะการได้รับสารพิษดังกล่าว สามารถเสียชีวิตได้ ภายในระยะเวลา 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง จึงจำเป็นต้องส่งโรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด”