KNOWLEDGE

สวรส.ชูวิจัย ‘Work-Life Balance’ แก้วิกฤต ‘Burnout’

สร้างสุขภาวะในสถานประกอบการ เพื่อสุขภาพคนทำงานเพิ่มผลิตผลของสังคม

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สร้างงานวิจัย ภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล” ซึ่งแต่ละองค์กรมีบุคลากรหลากหลายช่วงวัย โดยปัจจุบัน “กลุ่มคนรุ่นใหม่” เป็นกลุ่มหนึ่งในองค์กร ที่มีความสำคัญในการทำงานและควรได้รับการใช้ชีวิตในแบบ “Work-Life Balance” หรือการสร้างสมดุลชีวิตระหว่างงานและความเป็นส่วนตัว ที่ผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคลควรต้องทำความเข้าใจ

จากปัญหาสุขภาพของแรงงาน ในยุคปัจจุบันเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีกว่า 58 ล้านคน พบว่าจำนวน 38 ล้านคน เป็นแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการหรือที่ทำงานซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สร้างรายได้และผลผลิตให้กับสังคม รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่กลับกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความพิการ บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ออฟฟิศซินโดรม ไปจนถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตต่างๆ ที่ล้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีหลายองค์กรนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น หากแต่ทรัพยากรมนุษย์ก็ยังเป็นส่วนที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงาน แต่ทว่าแรงงานมนุษย์กลับต้องเผชิญปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม ความเครียดจากการทำงาน หรืออาการออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น

“โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เขามีมุมมองแตกต่างจากคนรุ่นก่อน ให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องจัดการระบบหรือสิ่งแวดล้อมในการทำงานเพื่อให้เกิดความสมดุล เพราะต้องไม่ลืมว่าเราใช้เวลากับที่ทำงานมากกว่าที่บ้าน สิ่งสำคัญจึงเป็นสภาพแวดล้อมและสังคมที่ทำให้เขามีความสุขกับการทำงาน เพราะสุดท้ายแล้วผลงานก็จะถูกสะท้อนออกมาจากคุณภาพชีวิตของคนทำงานนั่นเอง” นพ.นพพร ระบุ

ทั้งนี้ ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ ปี 64 ฉบับล่าสุด ในประเด็นด้านสาธารณสุข ได้มีการกำหนดกิจกรรมหลักอย่างหนึ่งคือการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ “การสร้างเสริมสุขภาพ” ความรอบรู้ด้านสุขภาพ การป้องกันและดูแลรักษา NCDs สำหรับประชาชนและผู้ป่วย พร้อมกำหนดเป้าหมายให้มี “นโยบายสุขภาพในที่ทำงาน (Workplace Health Policy)” โดยสถานประกอบการไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ต่างเป็นสถานที่ทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ช่วยลดความเจ็บป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนทำงาน ซึ่งนอกจากจะทำให้ผลผลิตขององค์กรเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศได้อีกด้วย

เพื่อให้สอดรับกับเรื่องนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้มีการสนับสนุนโครงการวิจัยที่ชื่อว่า “การศึกษาบทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคไม่ติดต่อ ในสถานประกอบการของผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคล” เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ

จากข้อมูลและผลวิจัยสามารถสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้น โดยจัดทำเป็นข้อเสนอมาตรการต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ดังนี้

  • มาตรการตัวเงิน ภาครัฐอาจต้องมีการสนับสนุนงบประมาณสำหรับสถานประกอบการ อาทิ ให้งบสนับสนุนการทำกิจกรรม หรือลดหย่อนภาษีสำหรับองค์กรที่มีกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้กับสถานประกอบการที่ดูแลสุขภาพของพนักงานได้ดี มีสวัสดิการการตรวจสุขภาพอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจสุขภาพตา เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพ กรณีผู้ประกันตนไม่เจ็บป่วย
  • มาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงิน ควรจัดทำแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานให้ชัดเจน มีการให้ความรู้/คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมหรือดำเนินกิจกรรมร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน เป็นต้น

ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและสุขภาวะของคนทำงาน ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่ผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคลให้ความสนใจมากขึ้น และพนักงานเองก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น และเป็นสุขภาพที่ต้องครอบคลุม 4 มิติ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางปัญญา และสุขภาพทางสังคม ซึ่งเปรียบเสมือน Soft Power เพื่อนำไปสู่การป้องกันโรคไม่ติดต่อของคนทำงานที่เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศต่อไป

Related Posts

Send this to a friend