KNOWLEDGE

แนะเทคนิค ดูอย่างไรข่าวโควิด19 ข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม

ผู้เชี่ยวชาญชี้ เฟคนิวส์ – คนเบื่อรับข่าวสารเรื่องโควิด19 ส่งผลกระทบหนัก ระดมสมองเชิญชวนสื่อและประชาชน สร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันข่าวปลอม

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสำนักข่าวเดอะรีพอร์ตเตอร์ จัดเสวนาออนไลน์ “ยุคโควิด19 ดูอย่างไร ข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม” โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คุณนารากร ติยายน สื่อมวลชน คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ไทยแลนด์ COFACT Thailand พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ รองโฆษก ศบค. คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ รายการชัวร์ก่อนแชร์ และคุณสันติภาพ  เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวปลอมในยุคโควิด

หมอเบิร์ท ห่วงสภาพจิตประชาชนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19

พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ รองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ในฐานะจิตแพทย์ อาจพูดได้เลยว่าสภาพจิตของประชาชนในช่วง 2 ปีนี้ก็ไม่ปกติเพราะโควิดจริงๆ คนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ อารมณ์ฉุนเฉียว มีความเครียดสะสม ซึ่งยังมีผลต่อวิจารณญาณของคน ที่อาจจะมีความไวกับข่าวมากขึ้น รู้สึกลบกับข่าวมากขึ้นและเร็วขึ้น และอาจจะแชร์ข่าวโดยคิดน้อยลงจริงๆ แต่ทั้งหมดนี้มีทางออก และสื่อจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะเลือกนำเสนอทั้งปัญหา และนำเสนอทางออกไปพร้อมๆ กันเพื่อช่วยสนับสนุนทางจิตใจให้กับประชาชนด้วยอีกทางหนึ่ง

ด้านการสื่อสาร พญ.อภิสมัย เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การสื่อสารที่ผิดพลาดที่สุดคือ “การไม่สื่อสาร” เพราะจะทำให้เกิดความสับสน และกังวลใจ เช่น การให้ความสำคัญกับทำประชาพิจารณ์กับประชาชน ก่อนตั้ง รพ.สนามในพื้นที่ชุมชน หรือข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มสาม ที่อาจจะยังไม่ได้สื่อสารกับประชาชนได้ทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่มีประชาชนส่วนหนึ่งหมดใจกับข่าวโควิด ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากฟัง ซึ่งอาจส่งผลร้ายได้เช่นเดียวกัน หากประชาชนไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ

แนะตั้ง 5 คำถามก่อนเชื่อ ก่อนแชร์

พีรพล อนุตรโสตถิ์ รายการชัวร์ก่อนแชร์ กล่วว่า สถานการณ์โควิด19 เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากทั้งสำหรับผู้สื่อสาร อย่าง ศบค. และหน่วยงานต่างๆ เพราะเป็นช่วงที่ใครก็สามารถสร้างเฟคนิวส์ขึ้นมาก็ได้ และใช้ข่าวปลอมเป็นอาวุธโจมตีคนอื่นได้ด้วย และสำหรับประชาชนในฐานะผู้รับสื่อ ที่จะต้องเจอกับการส่งข่าวบิดเบือนทุกวัน ต้องรับมือกับเรื่องแบบนี้แทบทุกวันก็เป็นเรื่องยาก และบางทีก็เกิดเป็นความชินชา

พีรพล จึงแนะนำเทคนิคในการแยกแยะข่าวปลอม คือเมื่อได้รับข่าวหรือข้อมูลใดมาให้ตั้งคำถาม 5 ข้อกับตัวเองก่อน คือ จริงไหม เก่าไหม เกี่ยวไหม ครบไหม และอคติไหม โดยข่าวปลอมมักสังเกตพบได้ง่ายว่าจะไม่สนใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ อ้างผู้เชี่ยวชาญปลอม มีเหตุผลประหลาดๆ (ตรรกะวิบัติ) เป็นเรื่องที่ดูเป็นไปไม่ได้ เลือกพูดถึงแค่บางประเด็น และเน้นการใช้ทฤษฎีสมคบคิด

“การตรวจสอบแต่ละข่าวก็มีความเฉพาะเจาะจงในการหาคำตอบ จึงอยากให้ประชาชนตระหนักว่าข่าวที่รับมาอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ก่อน และประชาชนเองควรคิดเสมอว่าตัวเองเป็นสื่อ และคำนึงถึงพลังของเราในการแชร์ข้อมูลว่าคนใกล้ตัวเราจะนำไปเผยแพร่ต่อได้และแก้ไขได้ยาก วันหนึ่งอาจจะมีคนเดือดร้อนจากการแชร์ข่าวของเราก็ได้” พีรพล กล่าว

หากไม่แน่ใจให้เช็คจากหน่วยงาน แนะ นอกจากไม่แชร์ข่าวปลอมแล้ว ยังต้องช่วยกันแก้ไข

สันติภาพ  เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่ามีเรื่องเข้ามาให้ตรวจสอบจำนวนมาก หากตรวจสอบแล้วมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าไม่เป็นความจริงก็สามารถสรุปและเผยแพร่ได้เลยว่าเป็นข่าวปลอม โดยเราประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ และพิสูจน์กันด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยจะลงวันที่ เวลากำกับข้อมูลไว้ เพราะข้อมูลสามารถเปลี่ยนแปลง หรือคืบหน้า หรือมีความรู้ใหม่ๆ ประกาศ หรือกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

“ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้ข่าวปลอมแพร่ไปไวขึ้น แต่การทำงานของพวกเรายังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เราก็อยากทำงานพัฒนาความรู้เรื่องการรับข่าวสารของคนในสังคมไปด้วย เพราะจะกลายเป็นภูมิต้านทานข่าวปลอมมากขึ้น และอยากให้คนมีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น” สันติภาพ กล่าว

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ไทยแลนด์ COFACT Thailand กล่าวว่า ข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด19 เป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องเผชิญ เรื่องโควิดเป็นเรื่องใหม่ สิ่งสำคัญคือเราต้องมีพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างและคุยกันด้วยเหตุผล ทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริง และทำให้สังคมเราเป็นสังคมที่ยอมรับความจริง

เรากำลังเข้าสู่ยุคโลกเสมือน ซึ่งบางทีเราก็ไม่รู้ว่าอะไรจริงอะไรปลอม เส้นแบ่งของความถูกผิดก็อาจจะเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ท้ายสุดเราจึงต้องดึงกลับมาหากเราต้องทำงานกับ AI มากขึ้น เราควรต้องมี critical thinking หรือมีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น อยากเสนอแนะเพิ่มว่า นอกจากไม่แชร์แล้ว เราต้องเป็น “ผู้แก้ไข” ด้วย แต่ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร มีความเป็นมนุษย์และคุยกันด้วยเหตุผล ซึ่งก็เป็นงานที่ COFACT กำลังทำอยู่ โดยข้อมูลเรื่องทางวิทยาศาสตร์และสุขภาพ เราต้องเชื่อจากข้อเท็จจริง และตักเตือนกันด้วยความปรารถนาดี

สื่อชี้รัฐควรทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ส่วนสื่อเองก็ควรนำเสนอข้อมูลให้รอบด้าน

นารากร ติยายน สื่อมวลชนและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ยอมรับว่า ปัจจุบัน ข่าวเกี่ยวกับโควิด19 มีมากมาย และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางครั้งการตัดคำ รวบคำ สรุปความมาพาดหัว อาจทำให้คนเกิดความเข้าใจผิดได้ โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญอย่างเรื่องเกี่ยวกับวัคซีน ที่ส่งผลไปถึงการแพร่ระบาด และชีวิตของประชาชนเอง อย่างเช่นการที่ประชาชนรับข่าวบิดเบือนมากไปปจนไม่อยากฉีดวัคซีน เพราะไม่แน่ใจในตัววัคซีน จนทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกันและติดเชื้อได้ในที่สุด หรือข่าวเกี่ยวกับคนแพ้วัคซีน ซึ่งอาจจะมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับคนที่ฉีดทั้งหมด และหายดีแล้ว แต่เมื่อสื่อนำไปเผยแพร่และไม่มีการเพิ่มเติมข้อมูลเมื่อหายดีแล้ว ก็ทำให้คนเข้าใจผิด หรือหวาดกลัวการฉีดวัคซีนได้

“ในฐานะที่เป็นสื่อ และเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เราควรแชร์ข่าวทั้งสองฝั่ง และให้น้ำหนักเท่าๆ กัน เพื่อให้คนรับสารพิจารณาข้อมูลเอง โดยเฉพาะเรื่องโควิดซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นความตายของคนสื่อต้องมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลให้เหมาะสม และสมดุล ซึ่งการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนต้องการทำอยู่แล้ว แต่อยากให้สื่อของรัฐทำงานเชิงรุกและเร็วมากขึ้น” นารากร กล่าว

เฟคนิวส์เรื่องโควิดยากจะจัดการกว่าเรื่องอื่น

ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า เฟคนิวส์เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องยากในการจัดการมากกว่าประเด็นอื่น เพราะมีองค์ประกอบที่น่าสนใจหลายประการ คือ เป็นเรื่องใหม่ ทั้งโรคและวัคซีน ดังนั้น ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนก็ยังไม่ 100% หากหยิบความไม่สมบูรณ์มาพูดก็จะมีเรื่องให้โจมตีได้ทุกวัน ความจริงในห้องทดลองก็เป็นสิ่งที่ถูกหักล้างได้ทุกวัน เรื่องที่วันนี้ใหม่ พรุ่งนี้อาจเปลี่ยนไป ผลกระทบของการระบาดรุนแรงมาก โดยเฉพาะการกระทบต่อปัญหาปากท้องของงคน ทำให้คนกดดันและเครียด โอกาสที่จะฟังอะไรครึ่งๆ กลางๆ และเกิดความไม่พอใจได้ง่าย โควิดกับการเมืองในประเทศไทยเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ออก ดังนั้น คนจะแหล่งเชื่อข้อมูลจากขั้วการเมืองเดียวกับตัวเองสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไว ทำให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารได้

“การรับมือ และการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารจึงมีความสำคัญอย่างมาก และเฟคนิวส์ในตอนนี้มักจะมาพร้อม Hate Speech ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนต้องระมัดระวังในการนำเสนอ เพราะการเร่งเสนอข่าวทำให้เกิดความผิดพลาดได้” ดร.ธนกร กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถรับชมการเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ย้อนหลังได้ที่

[LIVE]: เสวนาออนไลน์ “ยุคโควิด-19 ดูอย่างไร ข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม”

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat