KNOWLEDGE

ม.มหิดล เดินหน้านำ 5 คณะสายสังคมศาสตร์ ผลิตบัณฑิตยุค 5.0 สร้างโลกยั่งยืน

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) จัดงาน Sustainable Symposium: The Societal Impacts ภายใต้แนวคิด Let’s Change Our Society for A Better Future (เปลี่ยนสังคมของเราเพื่ออนาคตที่ดีกว่า) ตอกย้ำสถาบันการศึกษาด้านการจัดการ ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการวิจัยและนวัตกรรม การศึกษา และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

พร้อมการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยการใช้ความโดดเด่น “5 คณะวิชาสายสังคมศาสตร์” สร้างบัณฑิตยุคโลก 5.0 นำโดยทีมอาจารย์และนักศึกษา วิทยาลัยการจัดการ, วิทยาลัยศาสนศึกษา, คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, คณะศิลปศาสตร์ และสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย พร้อมกันนี้เผยไฮไลต์พิเศษ การรายงานข้อมูลความยั่งยืนเชิงลึก ประจำปี 2023

รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการมุ่งมั่น ที่จะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกำหนดนโยบายและการดำเนินการ เพื่อมุ่งหวังให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการใช้ทรัพยากร และการพัฒนาสังคม ขณะเดียวกันการสร้างความตระหนักรู้ ด้านความยั่งยืนต่อนักศึกษาและบุคลากร ให้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม และทำประโยชน์ต่อสังคม ได้อย่างมีคุณภาพในยุค 5.0 ก็เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ของมหาวิทยาลัยด้านการศึกษาด้วย

จึงนำสู่การบรรจุแนวคิด เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกๆ หลักสูตรการเรียน ซึ่งความน่าสนใจที่ค้นพบคือ คณะวิชาสายสังคมศาสตร์ มีบทบาทในการขับเคลื่อน การพัฒนาความยั่งยืนในประเทศไทยอย่างมาก ด้วยเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนความร่วมมือทางเครือข่าย จากสถาบันชั้นนำและคณาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ต่างให้ความสำคัญต่อการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อความยั่งยืน

สำหรับคณะวิชาสายสังคมศาสตร์ ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกด้านความยั่งยืน ในซีเอ็มเอ็มยู และคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล โดดเด่นด้วย 5 คณะวิชา ได้แก่

1.วิทยาลัยการจัดการ มีหลักสูตรในการพัฒนาผู้นำ และบริหารธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

2.วิทยาลัยศาสนศึกษา เปิดให้เรียนรู้หลากหลายศาสนา รวมทั้งจริยธรรมจากอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งแก่นแท้ของการเรียนรู้นั้น เพื่อให้รู้และเข้าใจว่าคนมีความหลากหลาย และแตกต่างกันด้วยสาเหตุและปัจจัย จึงทำให้ผู้คนเคารพซึ่งกันและกัน และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข

3.คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มีการเรียนรู้เกี่ยวกับเวชระเบียนที่ไม่เหมือนที่อื่น การสร้างรหัสทางการแพทย์ที่หลากหลาย รวมถึงอัปเดตโรคใหม่ๆ ตลอดจนเสริมด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต

4.คณะศิลปศาสตร์ เน้นการเรียนการสอนแบบบูรณาการ และสามารถประยุกต์ใช้ในการทำงาน กับหลายอุตสาหกรรมได้จริง ซึ่งจะมีรายวิชาเช่น MUGE (มูเก้) ได้เรียนร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ รวมถึงมีทุนส่งเสริมศักยภาพนักศึกษา ที่เปิดให้ผู้เรียนไปทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนต่างประเทศ เช่น เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำงาน ของสหประชาชาติ ฝึกงานตามสถานทูต เป็นต้น

5.สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มีแก่นสำคัญของภาษาและวัฒนธรรม เป็นหัวใจของการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมมีการส่งเสริมงานวิจัย เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย จากทั้งหมดนี้จึงถือเป็นกลไกสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงบทบาท ของสายสังคมศาสตร์ในสถาบันการศึกษา ที่สามารถสร้างบ่มเพาะความรู้ และทัศนคติด้านความยั่งยืนสู่ผู้เรียน และส่งต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ ได้อย่างกว้างขวางต่อไปในอนาคต

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การส่งเสริมความยั่งยืน ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้จริงในระยะยาวนั้น นอกจากสถาบันการศึกษา จะมีบทบาทสำคัญ ในการร่วมพัฒนานักศึกษา และบุคลากรให้เข้าใจด้านความยั่งยืน เพื่อขยายความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ในการช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญทั้งความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน ตลอดจนสันติสุขแล้ว หากต้องการเร่งการส่งเสริมความยั่งยืน ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในสังคมไทย ได้อย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐเป็นสำคัญ

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมทำการวิจัยกระทั่งผลิตเป็นรายงาน ด้านความยั่งยืนประจำปี 2023 ซึ่งมีข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนา ความยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้ ด้วยรูปแบบ 5Ps ดังนี้

1.People (ประชาชน) กับการพัฒนาแก้ปัญหายุติ ความยากจนและความหิวโหยในทุกรูปแบบ พร้อมเสริมความมั่นใจให้มนุษย์ทุกคน สามารถบรรลุศักยภาพของตนเองในด้านศักดิ์ศรี ความเสมอภาคในสภาพแวดล้อมที่ดี ตามที่ SDGs ได้ประกาศไว้

2.Prosperity (ความเจริญรุ่งเรือง) ความไม่เท่าเทียมกันเป็นหนึ่งในปัญหา ที่ยังขาดการส่งเสริมทั่วถึง ซึ่งต้องส่งเสริมให้ทุกคนสามารถมีชีวิต ที่เจริญรุ่งเรืองและสมบูรณ์ ตลอดจนเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี

3.Planet (โลก) ตามที่ SDGs ตั้งเป้าหมายในการปกป้องโลกจากความเสื่อมโทรม รวมถึงการบริโภคและการผลิตให้ยั่งยืน จึงต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการ ในปัจจุบันและอนาคตได้

4.Peace (สันติภาพ) การพัฒนาที่ยั่งยืน ย่อมทำไม่สำเร็จหากปราศจากสันติภาพ จึงต้องส่งเสริมสังคมให้สงบสุข มีความยุติธรรม และปราศจากความกลัวและความรุนแรง

5.Partnership (การร่วมมือ) ปัญหาที่ข้ามภาคส่วน หรือสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่าง รวมไปถึงศาสตร์ในสาขาที่ต่างกัน เป็นสิ่งที่ต้องการความร่วมมือ ในการแก้ปัญหาร่วมกัน ตามที่ SDGs เรียกร้องให้มีจิตวิญญาณ แห่งความสามัคคีระดับโลกที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่ความต้องการของผู้ที่ยากจนที่สุดและผู้เปราะบาง ตลอดจนประชาชนทุกคน

นอกจากนี้ภายในงานมีการเสวนา 3 หัวข้อน่าสนใจ ได้แก่ 1.เสวนาหัวข้อ “Sustainable Deans’ Talk” พูดคุยถึงทิศทาง มุมมองของการขับเคลื่อน และอนาคตในประเด็นความยั่งยืน และพัฒนาการในกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ 2.เสวนาหัวข้อ “Students’ Views on Social Sciences and Sustainability” การนำเสนอผลงาน รวมถึงมุมมองด้านความยั่งยืนของนักศึกษา และ 3.เสวนาหัวข้อ “Opportunities Forum” พูดคุยถึงประเด็นชีวิตและโอกาสในชีวิต ที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในวิถีแห่งอาชีพ สุขภาพ การเมือง และครอบครัว

Related Posts

Send this to a friend