KNOWLEDGE

ปภ.กทม.และ วิศวกร ร่วมถอดบทเรียนแผ่นดินไหวตุรกี พบลักษณะใกล้เคียง กทม.

ปภ.กทม.และ วิศวกร ร่วมถอดบทเรียนแผ่นดินไหวตุรกี พบลักษณะใกล้เคียง กทม.ต้องเตรียมรับมือเหตุแผ่นดินไหว ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากแผ่นดินไหวรุนแรงแบบเดียวกัน

ภารกิจ Thailand for Turkey ที่ทีมกู้ภัย USAR Thailand เดินทางมาร่วมค้นหาและกู้ภัย เหตุแผ่นดินไหวตุรกี ที่เมือง Antakya จ.Hatay ยุติลงแล้ว นอกจากเป็นภารกิจแรกในต่างประเทศของทีม USAR Thailand ครั้งแรกแล้ว ยังถือเป็นการถอดบทเรียนครั้งสำคัญ เพราะเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในรอบ 84 ปีของตุรกี สร้างความเสียหายต่อชีวิตและบ้านเรือนของประชาชนอย่างหนัก

ในจำนวนทีมกู้ภัย USAR Thailand จำนวน 42 คน มีทีมกู้ภัยจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย กรุงเทพมหานคร จำนวน 10 นำโดย นายภุชชงค์ สัญญโชติ หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดยาว กองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย 3 เปิดเผยว่า ภารกิจของทีม ปภ.กทม. จะดูแลการค้นหาและกู้ภัย นำอุปกรณ์เรดาร์ค้นหา และให้ สุนัข K9 ตรวจสอบซ้ำ ทำให้สามารถยืนยันและเพิ่มน้ำหนักในการค้นหาให้แม่นยำขึ้น และทางวิศวกร จะประเมินสภาพอาคาร ก่อนพิจารณาใช้เครื่องมือในการตัดเจาะ ในการค้นหาและกู้ภัย

นายภุชชงค์ เปิดเผยว่า ในการมาร่วมภารกิจครั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส่งข้อความมายังผู้บริหารของทีม ปภ.กทม. ให้ทีมของเรา ตรวจสอบด้วยว่า เหตุแผ่นดินไหวใกล้เคียงและมีความเป็นไปได้ ที่ กทม.จะเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงคล้ายของตุรกี เพราะสภาพบ้านเรือน กทม.สูง 3-5 ชั้น อาคารตึกแถวมีมาก

“ในตุรกี อาคารแบบนี้เสียหายรุนแรง จนถึงขั้นอาคารวิบัติ ท่านผู้ว่าได้ประชุมเร่งด่วน ให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประชุมเร่งด่วน มีการคุมเข้มเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เช่นอาคารที่สร้างหลังพ.ศ.2564 ต้องออกแบบให้รับแผ่นดินไหว อาคารเก่าก็ต้องเสริมแรงเพื่อให้ปลอดภัย เช่นอาคารขนาดใหญ่ อาคารใหม่สูงเกิน 23 เมตร ในตุรกี ก็เสียหายด้วย และสำนัก ปภ.กทม. จะทำงานร่วมกับ ปภ. ให้มากขึ้น การเข้าถึงพื้นที่อย่างรวดเร็วสำคัญมาก อย่างเช่นในตุรกี ทีม First responder สำคัญ หลักๆ เลย กทม.เพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถบริหารจัดการอย่างตุรกีได้ การสร้างเครือขาายภาคีสากล ระดับประเทศ ก็สำคัญให้ผ่านวิกฤตได้ เพราะเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ก็จะทำให้รอดชีวิตช้าไปเท่านั้น จึงต้องจัดเตรียม Dream team ของไทยให้พร้อม”

นายภุชชงค์ กล่าวด้วยว่า กทม.ต้องเน้นบังคับใช้กฎหมาย อย่างตุรกี ก็มีการสร้างอาคารโดยไม่ได้มาตรฐานหลายที่ ความแข็งแรงของอาคารในทางวิศวกรรมสถาน ส่วนต่อที่เป็นคานกับเสาไม่ได้เสริมเหล็ก ทำให้เสาไม่สามารถต้านการสั่นไหวได้ เราก็พยายามคำนึงถึง การออกแบบอาคารให้ปลอดภัย ท่านผู้ว่าฯ กทม.มอบให้สำนักการโยธาตรวจสอบ เราเทียบเคียง กรณีของ เม็กซิโก และตุรกี แม้รอยเลื่อนไม่ได้อยู่ใน กทม. แต่การเป็นชั้นดินอ่อน ทำให้ กทม.กระทบได้ ก็ต้องฝึกฝนคน เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมในการรับมือ ต้องบูรณาการร่วมกันในหลายๆ มิติ

“ภาวนาอย่าให้เกิดเหตุแผ่นดินไหวแบบนี้ใน กทม.เราต้องทำทุกชีวิตให้ปลอดภัย ก็ได้ฝึกทบทวน เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมทุกปี” นายภุชชงค์ กล่าวย้ำ

ผศ.ดร.ฟองจันทร์ จิราสิต วิศวกรโครงสร้าง ทีม USAR Thailand วิศวกรรมสถานฯ เห็นด้วยว่า อาคารที่ก่อสร้างภายหลัง แม้ไม่เสียหาย แต่ก็ไม่สามารถอยู่ได้ เพราะอาคารข้างๆ พังหมด มีความเสียหายหนักมาก ในภารกิจที่ไปตรวจสอบเป็นจุดที่คาดว่าจะมีผู้รอดชีวิต หรือครอบครัวอยากให้ชี้จุด เพราะมีผู้สูญหายที่แน่นอน แต่ยังหาไม่เจอ เราสามารถไปชี้จุดได้ แต่บางอาคารเข้าไปอันตราย ไม่อยากให้ทีมเข้าไป อาจจะใช้เครื่องมือช่วย

“แน่นอนว่าเราต้องถอดบทเรียน จากนี้คงต้องจะมีการอบรม วิศวกรอาสา เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติ วิศวกรอาสา ของวิศวกรรมสถาน จะไปช่วยเพื่อให้มีทักษะวิเคราะห์อาคารที่เสียหายไปแล้ว ในต่างประเทศมี disaster engineering อาจทำงานร่วมกับ ปภ.เพื่อเตรียมการ เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องทำตำรา สำหรับภัยพิบัติในไทย หรือการเดินทางไปต่างประเทศ”

ผศ.ดร.ฟองจันทร์ เห็นว่า อย่างพื้นที่เชียงราย เชียงใหม่ ก็มีการศึกษา เนื่องจากมีรอยเลื่อน และงานวิจัยหลายชิ้นก็เห็นว่า กทม. ก็ต้องเตรียมรับมือแผ่นดินไหวขนาดใหญ่

นายยศกร ชลรัตน วิศวกร ทีม USAR Thailand จากวิศวกรรมสถานฯ แสดงความเสียใจกับชาวตุรกี ที่สูญเสียครั้งสำคัญ ทั้งประชาชนและอาคารบ้านเรือน ที่รู้สึกหดหู่ใจ การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังได้เห็นสภาพตัวอาคารที่วิบัติ พังถล่ม นอกจากเราได้เข้าช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น การกู้ภัย และให้กำลังใจแล้ว เราได้เห็นลักษณะความเสียหายของตัวอาคารจากแรงเฉือนด้านข้างของฐานอาคาร

“กรณีอาคารสร้างใหม่ ความเหนียวของจุดข้อต่อของอาคาร ทำให้ตัวอาคารวิบัติเฉพาะตัวฐานรากที่เกิดแรงเฉือนที่ฐาน ในตัวอาคารเก่าที่มีจุดอ่อน ซึ่งกรณีเกิดแรงเฉือนที่ฐาน เมื่อได้รับแรงจากด้านข้าง ทำให้ตัวอาคารวิบัติเฉียบพลัน เหมือนแพนเค้ก เราควรเอาสิ่งนี้ไปพูดคุยในเชิงการป้องกัน ออกแบบอาคาร รองรับแผ่นดินไหว ควรจำเป็นต้องดำเนินการต่อในอาคาร 9 ประเภท ที่กำหนดในกฎกระทรวงปี 64 ต้องยืนยันในส่วนนี้”

นายยศกร ย้ำด้วยว่า สำหรับตัวอาคารเก่า ก็อยากให้มีวิธีคิดหรือช่วยกันนำแนวทางนี้ มาเสริมกำลังในการต้านแรงแผ่นดินไหว เพราะที่เห็นในพื้นที่ตุรกี ลักษณะภูมศาสตร์ เมืองนี้คล้าย กทม. ที่เป็นดินเหนียว ชั้นดินอ่อน อยู่ริมแม่น้ำ ถ้านำตรงนี้ไปถอดบทเรียน หาวิธีป้องกัน ก็เป็นเรื่องดีเพราะไม่รู้ว่าภัยพิบัติจะมาเมื่อไหร่ ถ้าป้องกันได้ ก็ควรถอดบทเรียน ให้นักวิจัยที่เชี่ยวชาญในระดับสูง เพื่อให้ประเทศไทยเราปลอดภัย ถ้าเกิดภัยพิบัติ

“กทม. basin bangkok ชั้นดินเหนียวอ่อนทั้งหมด จากที่มี 10 โซน กทม.อยู่ใน โซน 5 เป็นจุดที่ต้องป้องกันเหตุแผ่นดินไหว เพราะในชั้นดินอ่อน จะอ่อนไหวกว่าชั้นดินแข็ง ในมุมของตัวอาคารบ้านเรือน ต้องมีการทำการป้องกัน เพราะนอกจากอาคารที่สร้างรองรับแล้ว บางอาคารที่ไม่รองรับ ก็อาจเป็นอันตรายได้” นายยศกร กล่าวย้ำ

ผศ.ดร.ฟองจันทร์ กล่าวด้วยว่าเมือง Antakya มีลักษณะเหมือน กทม.ประชากรหนาแน่นมาก จึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ อย่างที่เชียงใหม่ ก็ยังมีแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรง แต่ทุกรอยเลื่อนในไทย ก็จะกระทบ กทม. เพราะด้วยความหนาแน่นของประชากร จำนวนอาคารสุง และถ้ากิดตอนตี 4 อย่างเช่นที่เกิดในตุรกี ไม่มีใครเฝ้าระวังได้ ก็อันตราย

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat