KNOWLEDGE

“How to ช่วยชีวิตคนไทยจากอุบัติเหตุทางถนน”

โครงการแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน จัด BigTalk “How to ช่วยชีวิตคนไทยจากอุบัติเหตุทางถนน”

วันนี้ (13 ธ.ค.65) โครงการแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน จัดงาน BigTalk “How to ช่วยชีวิตคนไทยจากอุบัติเหตุทางถนน” ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน ถนนพระราม 9 กรุงเทพฯ

ไทยติดอันดับตายบนถนนมากสุด

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและวิกฤตบำบัดแห่งองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในไทย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก นอกจากจะก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการสูญเสียของกลุ่มเยาวชน และวัยแรงงานที่เป็นอนาคตของประเทศ จากข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน-ตุลาคม 2565 พบ ตัวเลขผู้เสียชีวิตบนถนนมากกว่าปี 2564 เฉลี่ยเดือนละ 10% คาดการณ์ว่ายอดรวมผู้เสียชีวิตปีนี้ จะมากถึง 18,000 ราย เพิ่มขึ้น 16,000 ราย จากปีก่อน

โดยช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ถือเป็นช่วงไฮซีชั่นการท่องเที่ยว มีงานบุญ และปีใหม่ มีการเดินทางมากขึ้น อุบัติเหตุทางท้องถนนมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ติด 10 อันดับแรกของโลก ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงสุด นอกนั้นอยู่ในแถบแอฟริกาเกือบทั้งหมด กลุ่มนี้เป็นประเทศที่รายได้ต่ำ ระบบสาธารณูปโภคไม่ดี การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้น

นพ.วิทยา ตั้งคำถามว่า ไทยไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่ทำไมคนไทยเรายังเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนกันมากเช่นนี้ แม้จะผ่านเหตุการณ์คุณหมอกระต่ายมาแล้ว 1 ปี แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

ลดคนตายบนถนน 10 ปีไม่เกินแสน

ดร.ภญ.ฐิติพร สุแก้ว นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวถึง แผนพัฒนาดัชนีภาวะโรคแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) รายงานข้อค้นพบเชิงวิชาการ “เพื่อลดการเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วและได้ผล” ระบุว่า หากไทยบรรลุเป้าหมาย ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงไปได้ 50% ให้เหลือ 12 รายต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 ได้สำเร็จ จะช่วยเพิ่มอายุคาดเฉลี่ย (LE) 0.9 ปี ในกลุ่มประชากรชาย และ 0.2 ปีในกลุ่มประชากรหญิง และเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดี (HALE) เท่ากับ 0.8 ปีในกลุ่มประชากรชาย และ 0.2 ปีในกลุ่มประชากรหญิง โดยสถานการณ์ปัจจุบัน ไทยพบการสูญเสียของประชากรชายมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่ผลกระทบที่เกิดจากประชากรหญิงมีแนวโน้มคงที่

สำหรับข้อเสนอแนะในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนน ได้แก่ การผลักดันใช้นโยบายสวมหมวกนิรภัย 100% บังคับใช้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับดื่มแล้วขับ และใช้ข้อมูลกำกับติดตามการใช้กฎหมายในพื้นที่เสี่ยง การบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์ การใช้แคมเปญปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้ถนน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนน

เศรษฐกิจเสียหายเฉียดล้านล้านบาท

แพทย์หญิงศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ความสูญเสียทางเศรษฐกิจปี 2566 กรณีเกิดผู้พิการรายใหม่จากอุบัติเหตุทางถนน จากข้อมูลช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 96,230 ราย เฉลี่ยปีละ 19,246 ราย เป็นชายมากกว่าหญิงในสัดส่วน 3.7 ต่อ 1 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 11.37 และ 20-24 ปี ร้อยละ 11.05 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 80 เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์

โดยข้อมูลจำนวนผู้ป่วยสะสม ปี 2561-2564 พบบาดเจ็บเล็กน้อย (OPD) 4,768,219 คน บาดเจ็บรุนแรง (IPD) 1,167,833 คน ผู้พิการ 49,644 คน โดยกลุ่มอายุ 15-19 ปี เป็นผู้บาดเจ็บสูงสุด ร้อยละ 17.15 ภาพรวมมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ปี 2560-2664 เฉียดล้านล้านบาท แบ่งตามระดับความรุนแรง ได้แก่ เสียชีวิต 511,515 ล้านบาท บาดเจ็บรุนแรง 158,669 ล้านบาท บาดเจ็บเล็กน้อย 144,957 ล้านบาท และพิการ 306,156 ล้านบาท

เอาจริงนโยบายตัดแต้ม

พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ปปง. เน้นย้ำการขับขี่ตามกฎจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุ พร้อมแจ้งเตือนมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้นโยบายตัดแต้มใบขับขี่ ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 อย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ผ่านมาโทษเกี่ยวกับการผิดกฎหมายจราจร จะมีแต่โทษปรับและบำเพ็ญประโยชน์ ทุกคนคิดว่าไม่รุนแรง และไม่เกรงกลัว เพราะแค่มีเงินจ่ายก็จบ แต่กฎหมายใหม่ภายใต้ระบบตัดคะแนน ไม่ว่ารวยหรือจนทุนคนมี 12 คะแนนต่อปีเท่ากัน คะแนนจะถูกตัดมากน้อย ขึ้นอยู่กับประเภทความผิดที่ผู้ขับขี่ละเมิด

มาตรการนี้จะทำให้ผู้ขับขี่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาเคารพกฎจราจรมากขึ้น อุบัติเหตุจะลดลงตามไปด้วย เพราะหากถูตัดแต้มจนหมด จะถูกพักใช้ใบชับขี่หรือห้ามขับรถเป็นเวลา 90 วัน หากทำผิดซ้ำ ๆ อาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตทุกประเภท ระหว่างนั้นหากฝ่าฝืนถูกจับได้ จะมีโทษถึงขั้นจำคุก 3 เดือน และหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการขอคืนคะแนนต้องเข้าอบรมใหม่ โดยกรมการขนส่งทางบก ซึ่งผู้ขับขี่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เพื่อให้ได้คะแนนกลับคืนมา

WHO-รัฐบาลไทย จับมือลดอุบัติเหตุ

นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กับองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติด้านความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 พ.ศ.2565-2570 ตระหนักว่า ทุกชีวิตมีความหมายและมีคุณค่ากับสังคม เนื่องจากแผนฉบับที่ 4 ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่เขียนไว้ ดังนั้น แผบฉบับที่ 5 ที่ตั้งเป้าลดผู้เสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง ให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากร จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายว่า จะสำเร็จหรือไม่ คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและภาคีเครือซ่าย โดยเฉพาะการเพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัย และคุมพฤติกรรมดื่มไม่ขับ ซึ่งจะลดการเสียชีวิตลงได้ 12,000 คน

ส่วนข้อเสนอต่อฝ่ายการเมือง ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายลดและป้องกันอุบัติเหตุ ทุกพรรคควรกำหนดการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ ระยะสั้นต้องเร่งขับเคลื่อนนโยบายหมวก เมา เร็ว เพื่อลดความสูญเสีย และควรสนับสนุนให้จัดตั้งสถาบันวิชาการความปลอดภัยทางถนน เพื่อสนับสนุนการวิจัยกำหนดนโยบายในด้านนี้ รวมถึงปรับหลักการใช้ Safe system approach เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางท้องถนนอย่างยั่งยืน

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat