กสศ. เปิดเวทีถกประเด็นเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา
ระบุ สาเหตุหลักคือความยากจน และปัญหาครอบครัว ด้านนักวิชาการหวังรัฐบาลใหม่แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
วันนี้ (13 มิ.ย.66) ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไทยพีบีเอส และ เดอะรีพอร์ตเตอร์ ได้จัดเวที รายงานผลการศึกษาเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา ปี 2566 ข้อค้นพบและทางออก โดยมีผู้ร่วมเวที ได้แก่ ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. นายสุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.สมพงษ์ ระบุว่า มีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากกว่า 100,000 คน โดยมีสาเหตุหลักจากครอบครัวและความยากจน ซึ่งความยากจนและมรดกความยากจนทับซ้อน อันหมายถึงความจนที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ทำให้เด็ก ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา แม้จะมีนโยบายที่ช่วยพยุงภาระค่าใช้จ่ายแต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ผู้ปกครองผู้มีรายได้น้อยต้องรับผิดชอบ อาทิ ค่าเครื่องแบบ อุปกรณ์การเรียนและการเดินทาง ซึ่งการที่ผู้ปกครองไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ทำให้เด็กต้องออกจากการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และมัธยม
หากรัฐมีมาตรการ อาทิ คอยหางาน และหาทุนให้พ่อแม่เด็กที่มีรายได้น้อย ก็จะช่วยให้ลูกของพวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องออกจากระบบการศึกษาเหมือนพ่อแม่ พร้อมฝากถึงรัฐบาลใหม่ว่ากระทรวงศึกษาเป็นกระทรวงที่ปฏิรูปยากถ้าไม่รีบทำงานก็จะถูกข้าราชการกลืน อยากให้คนที่จะเข้าไปมีความพร้อม
ด้าน ดร. สุรศักดิ์ ระบุว่าเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา จากการลงพื้นที่ของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชน พบว่าในกรุงเทพ ราชบุรี ขอนแก่น ยะลา และพิษณุโลก เด็กประถมมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษามากที่สุด ซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางและด้านการดูแลสุขภาพ เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเสี่ยงดังกล่าวที่ทำให้ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยไม่สามารถส่งลูกเรียนได้ ผนวกกับปัญหาครอบครัวเช่นมีพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและ การถูกทอดทิ้งจากผู้ปกครองผนวกกับความยากจนทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้
แม้ทางศูนย์ฯ จะให้ความช่วยเหลือได้แต่ก็เป็นความช่วยเหลือเบื้องต้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามพบว่าการส่งเสริมอาชีพให้ผู้ปกครองเป็นวิธีการที่ดีในการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้เพราะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลการศึกษาจากโครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมิน ความพร้อมของเด็กและเยาวชน ในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยระบุว่า โครงสร้างของตลาดโลกได้เปลี่ยนไปในขณะที่การแนะแนวอาชีพของการศึกษาไทยนั้นไม่ได้พัฒนา
จากการศึกษายังพบว่าเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากการศึกษานั้น ขาดความสามารถในการเผชิญปัญหาและขาดทักษะในการสื่อสารพื้นฐาน อีกทั้งยังไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ และความฉลาดทางอารมณ์ต่ำกว่าเกณฑ์ และไม่มีความคิดสร้างสรรค์
จากการวิจัยยังพบว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจแก้ไขได้ด้วยการทำวิธีการแนะแนวที่ทันสมัยมากขึ้นในรูปแบบ Career Coach และอาศัย Big Data ในการประเมินความสามารถของเด็กแต่ละคน เพื่อเส้นทางสาขาวิชาชีพที่เหมาะต่อตัวเด็กเอง
นอกเหนือจากการนำเสนองานวิจัยแล้ว ยังมีการเปิดวงคุยสะท้อนความเห็นจากผลการศึกษาโดยมี ศิริพร พรมวงศ์ (ครูอ๋อมแอ๋ม) ผู้ริเริ่ม Free From School เครือข่ายคลองเตยดีจัง นายสภนพัฒน์ หวังไพสิน ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว รวมถึงว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล และตัวแทนสภาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พรรคเพื่อไทย เข้าร่วมเสวนาด้วย โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการศึกษาทางเลือกที่อยู่นอกเหนือจากการศึกษาในระบบ อาทิ มีการอบรมอาชีพและทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานให้กับเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา