มหิดล ร่วมกับ GISTDA และ JAXA วิจัยภาวะกระดูกพรุนในอวกาศ ต่อยอดเยียวยากลุ่มผู้ป่วยติดเตียง

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA – Japanese Aerospace Exploration Agency) ลงนามความร่วมมือวิจัยความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนของผู้อยู่ในสภาพไร้น้ำหนักของห้วงอวกาศเป็นเวลานาน ต่อเนื่องไปจนถึงข้อสงสัยที่มีต่อแรงกระทำที่เชื่อมโยงสู่อวัยวะในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
JAXA และ GISTDA สนับสนุนให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก (COCAB – Center of Calcium and Bone Research) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาเนื้อเยื่อของหนูทดลองที่เลี้ยงบนสถานีอวกาศนานาชาติ
ศ.ดร.นพ.นรัตถพล กล่าวว่า ร่างกายมนุษย์ต้องมีการเคลื่อนไหวที่เหมาะสม อยู่ในที่ที่แรงโน้มถ่วงพอเหมาะ ร่างกายจึงจะมีโครงสร้างที่แข็งแรง โดยเฉพาะในส่วนของกระดูก มีงานวิจัยจากหลายประเทศที่ค้นพบความผิดปกติของกระดูกที่ต้องเผชิญสภาพไร้น้ำหนักของห้วงอวกาศอย่างน้อย 2 สัปดาห์เป็นต้นไป เนื่องจากการเคลื่อนไหวภายใต้สภาพไร้แรงโน้มถ่วทำให้ขาด ‘สัญญาณเชิงกล’ หรือแรงกระทำที่จะทำให้เซลล์ต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ส่งผลให้กระดูกสูญเสียมวลแคลเซียมอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ศ.ดร.นพ.นรัตถพล ยังมองว่า การประยุกต์ผลจากการวิจัยดังกล่าว จะช่วยสร้างความเข้าใจต่อกลไกที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในกลุ่ม ‘ผู้ป่วยติดเตียง’ ซึ่งขาดการเคลื่อนไหวและออกกำลังกายจนทำให้มีมวลกระดูกน้อยลงคล้ายกับนักบินอวกาศ และอาจนำไปสู่หนทางแก้ไข และขยายผลสู่ระดับนโยบายที่จะส่งผลในเชิงบวกเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต