KNOWLEDGE

นักศึกษา ICT มหิดล พัฒนา ‘โฮโลเลนส์’ ย่อโลกแพทย์ทางไกล ‘ไทย-เยอรมัน’ เตรียมต่อยอดใช้จริงในอนาคต

มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมต่อยอดงานจากโครงการ “กายวิภาคศาสตร์เสมือนโฮโลเลนส์: การเรียนกายวิภาคศาสตร์ในสภาพแวดล้อมร่วมผสม” ซึ่งเป็นผลงานโปรเจคก่อนจบของ นายเมธาสิทธิ์ เกตุรักษ์ นักศึกษาไทยจาก คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ย่อโลกแพทย์ทางไกล ‘ไทย-เยอรมัน’ ผ่านแว่นตาสร้างภาพโฮโลแกรม ด้วยเทคโนโลยี “โฮโลเลนส์” (Hololens) คว้ารางวัลระดับประเทศ จากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 25 (The 25th National Software Contests: NSC 2023) ซึ่งจัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โครงการดังกล่าว เป็นผลงานภายใต้ Mahidol Bremen Medical Informatics Research Unit (MIRU) โดยใช้เวลานาน 1 ปี พัฒนาภายใต้คำแนะนำของ Prof. Dr.Peter Haddawy จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล Prof. Dr.Gabriel Zachmann มหาวิทยาลัยเบรเมน และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปพน สง่าสูงส่ง จากภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาสู่การใช้จริง ร่วมกับมหาวิทยาลัยโอลเดนเบิร์ก ภายใต้ทุนสนับสนุน DAAD – The Deutscher Akademischer Austauschdienst แห่งรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

นายเมธาสิทธิ์ กล่าวว่า โฮโลเลนส์ เป็นการสร้างภาพเสมือนจริง 3 มิติผ่านแว่น MR ที่สามารถใช้มือทดลองทำหัตถการ เบื้องต้นใช้ในการประชุมแพทย์ทางไกล เพื่อใช้สอนนักศึกษาแพทย์เกี่ยวกับพยาธิวิทยาของหัวไหล่ภายในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และยังเชื่อมต่อไปยังมหาวิทยาลัยเบรเมน และมหาวิทยาลัยโอลเดนเบิร์ก

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะเป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนา และขยายศักยภาพสู่การประยุกต์ใช้ศึกษาองค์ประกอบทั้งหมดของร่างกายมนุษย์ (Whole Human Body) ต่อไปในอนาคต

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat