ทำความรู้จัก ‘ฉนวนกาซา’ ปูมหลังดินแดนข้อพิพาทระหว่าง ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี แบบรวบรัด

จากเหตุการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธ ‘ฮามาส’ (Hamas) ยิงจรวดข้ามชายแดนทางตอนใต้ของอิสราเอล (Israel) ก่อนจะเกิดการแทรกซึมของกองกำลังกลุ่มดังกล่าวเข้าไปยังอิสราเอลในหลายพื้นที่ใกล้ ‘ฉนวนกาซา’ (Gaza Strip) ทำให้เกิดความสูญเสียต่าง ๆ มากมาย โดยล่าสุด (7 ต.ค. 66) เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ออกมาประกาศว่า “เข้าสู่ภาวะสงครามแล้ว” ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการประกาศภาวะสงครามมาตลอดช่วงความขัดแย้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปฏิบัติการของกลุ่มฮามาสเองก็มีความพยายามยึกพื้นที่ดินแดนมาจากอิสราเอล ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจถึงข้อพิพาทดังกล่าวว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งในดินแดนที่เกิดขึ้นเนิ่นนานนับศตวรรษ
ก่อนที่จะมาเป็นประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน พื้นที่ในอดีตของประเทศนี้ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของคนหลายชนชาติ รวมทั้งชาวยิว ก่อนจะกระจัดกระจายไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อันเนื่องจากการยึดอำนาจในยุคจักรวรรดิ์นิยม อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ชาวยิวกระจายไปอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ พื้นที่แห่งนี้ได้เปลี่ยนแปลงในหลายยุคหลายสมัยจนช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 พื้นที่โดยรอบได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) และได้ตั้งชื่อพื้นที่ว่า ‘ปาเลสไตน์’(Palestine) ซึ่งมีชาวอาหรับเข้ามาอยู่ในปาเลสไตน์ก่อนที่เวลาต่อมาจะเรียกแทนอัตลักษณ์ว่าเป็นชาวปาเลสไตน์
จนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษได้มีคำประกาศบัลโฟร์ (Balfour Declaration) สัญญากับชาวยิวว่าหากร่วมรบและชนะสงครามจะประกาศรับรองการก่อตั้งรัฐของชาวยิวในปาเลสไตน์อันเป็นถิ่นที่อยู่เดิมของพวกเขา และได้ทำตามคำพูดหลังชนะสงคราม นำมาซึ่งความไม่พอใจของชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมานานเช่นเดียวกัน ประกอบกับความแตกต่างด้านศาสนา และวัฒนธรรม จึงเกิดการใช้ความรุนแรงในการขับไล่ชาวยิว และเกิดการตอบโต้กลับอย่างรุนแรงเช่นกัน เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในพื้นที่ดังกล่าว
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทำให้ชาวยิวหนีตายอพยพกลับมาอยู่ในปาเลสไตน์มากขึ้น นำมาซึ่งความรุนแรงระหว่างชาวยิวและชาวอาหรับ ต่างฝ่ายต่างก็ยึดมั่นใน “สิทธิอันชอบธรรม” ของตน
ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี ค.ศ.1947 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ตกลงที่จะแบ่งปาเลสไตน์ออกเป็นสองส่วนให้แก่ชาวยิวและชาวอาหรับ โดยให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองกลางหรือเมืองนานาชาติ ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองครองทั้งชาวยิวและชาวอาหรับ ซึ่งชาวอาหรับไม่เห็นด้วย ขณะที่ชาวยิวตอบรับกับแนวทางดังกล่าว และสถาปนาประเทศอิสราเอลขึ้น สร้างความไม่พอใจให้กับชาวปาเลสไตน์ที่รู้สึกถูกช่วงชิงพื้นที่ไป กลายเป็นชนวนเหตุของการเกิดสงครามขึ้นอีกครั้ง เพื่อแย่งชิงพื้นที่ระหว่างชาวอิสราเอล และชาวอาหรับที่ไม่ได้มีแค่ชาวปาเลสไตน์ แต่มีประเทศอาหรับโดยรอบทั้งอียิปต์ และจอร์แดน เข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม จากสงครามที่เกิดขึ้น ปาเลสไตน์เป็นฝ่ายที่ต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปให้กับอิสราเอล
ฉนวนกาซา เขตเวสต์แบงก์ และ ‘สงคราม 6 วัน’
ภายหลังสงครามที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เขตเวสต์แบงก์ เป็นพื้นที่ที่จอร์แดนเข้ามาควบคุม ในชณะที่ฉนวนกาซา เป็นพื้นที่ที่ถูกควบคุมโดยอียิปต์ อย่างไรก็ดี ทั้งสองพื้นที่นี้ไม่ได้มีใครเป็นผู้ครอบครองโดยชัดเจนเสียทีเดียว แต่เป็นเหมือนการตั้งขึ้นเพื่อเป็นเขตแดนที่มีไว้กันระหว่างจอร์แดนกับอิสราเอล และอียิปต์กับอิสราเอล
ช่วงปี ค.ศ.1967 เหตุการณ์ความไม่ลงรอยระหว่างอิสราเอลกับประเทศอาหรับรอบด้านยังมีมาต่อเนื่อง จนกระทั่งอิสราเอลเริ่มเปิดฉากโจมตีทางอากาศใส่ประเทศอียิปต์เพื่อทำลายศักยภาพทางอากาศ ชิงความได้เปรียบเหนือน่านฟ้าไว้ เกิดเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลและประเทศอาหรับรอบด้าน ก่อนจะลงนามยุติการยิงต่อสู้กัน กินเวลาทั้งสิ้น 6 วัน เป็นที่มาของสงครามอาหรับ–อิสราเอลครั้งที่สามที่รู้จักในนามว่า ‘สงครามหกวัน (Six-Day War)’
ผลจากสงครามหกวัน อิสราเอลเข้ายึดฉนวนกาซาและคาบสมุทรไซนายจากอียิปต์ ยึดเวสต์แบงก์ และเยรูซาเล็มตะวันออกจากจอร์แดน และที่ราบสูงโกลันจากซีเรีย อย่างไรก็ตาม ชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ตามพื้นที่ทั้งฉนวนกาซา เวสต์แบงก์ ต้องถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ดังกล่าวไป ส่วนประเทศอาหรับรอบด้านจำต้องยอมรับการแบ่งดินแดนให้อิสราเอลตามมติของ UN ที่กำหนดไว้ เพื่อคงเหลือพื้นที่ให้ชาวปาเลสไตน์ได้อยู่อาศัย
กลุ่มฮามาส และการปกครองในฉนวนกาซา
แม้ว่าผลจากสงครามหกวัน อิสราเอลจะช่วงชิงพื้นที่บางส่วนมาได้ จนประเทศอาหรับเริ่มมีท่าทีลดความแข็งข้อลง แต่สถานการณ์ความขัดแย้งยังคงมีมาเรื่อย ๆ จนชาวปาเลสไตน์บางส่วนได้ก่อตั้ง ‘กลุ่มฮามัส’ ขึ้น ถึงตรงนี้เราจะเห็นว่าชาวปาเลสไตน์ได้กระจัดกระจายเป็นหลายกลุ่มในแต่ละพื้นที่ ขณะที่กลุ่มฮามัสยังมีความพยายามที่จะต่อสู้ด้วยวิธีที่แข็งข้อ โดยเน้นไปที่กองกำลังติดอาวุธเพื่อแย่งชิงพื้นที่กลับมา
สถานการณ์ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง จนนำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกับชาวปาเลสไตน์ เพื่อแบ่งเวสต์แบงต์ออกเป็นเขต ๆ และให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองบางส่วน แต่ทีท่าของกลุ่มฮามาสกลับไม่ได้ลดท่าทีลง และยังคงกินระยะเวลาลากยาวมาต่อเนื่อง
ช่วงปี ค.ศ.2005 อิสราเอลนำชาวยิวและกองทัพออกมาจาก ‘ฉนวนกาซา’ ก่อนที่ชาวปาเลสไตน์จะขัดแย้งกันเองในหลายกลุ่ม จนกระทั่ง ปี ค.ศ.2006 กลุ่มฮามาสชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้ฉนวนกาซากลายเป็นเขตอิทธิพลของรัฐบาลฮามาสจนถึงปัจจุบัน ขณะที่เขตแดนเวสแบงก์อยู่ภายใต้การนำของ ‘คณะปกครองปาเลสไตน์’ (Palestinian Authority)
อย่างไรก็ดี อิสราเอลยังไม่มีท่าทีที่จะผ่อนปรนต่อกลุ่มฮามาส ช่วงปี ค.ศ.2007 อิสราเอลใช้มาตรการปิดล้อมกาซา จำกัดการนำเข้าอาหาร ยารักษาโรค และสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในฉนวนกาซาถูกควบคุมไว้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้ถูก International Committee of The Red Cross ประณามว่า เป็น ‘การลงโทษแบบเหมารวม’ เนื่องจากผู้คนในปาเลสไตน์ต่างล้มป่วยและเสียชีวิตจากการขาดสารอาหารเป็นจำนวนมาก
สำหรับด้านของเขตแดนเวสแบงก์ ก็ถูกชาวอิสราเอลเข้ามาลุกล้ำกินพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงการปิดล้อมด้วย ‘กำแพงความมั่นคง’ ที่สร้างโดยอิสราเอล ซึ่งตามมติที่มีต่อสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ อิสราเอลจะต้องถอนตัวออกไปจากดินแดนเวสต์แบงก์และกาซา
ท่าทีของนานาชาติท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน
ตัดกลับมาที่สถานการณ์ความขัดแย้งปัจจุบัน กลุ่มฮามาสยิงจรวดจากฉนวนกาซาเข้ามายังพื้นที่อิสราเอลตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา พร้อมส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าไปในหลายพื้นที่ของอิสราเอลจนเกิดการสูญเสียเป็นจำนวนมาก
ทันทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีอิสราเอลได้ออกมาประกาศเข้าสู่ภาวะสงคราม พร้อมตอบโต้เอาคืนกลับไปยังกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา โดยเฉพาะการส่งปฏิบัติการทางอากาศโจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
สำหรับท่าทีของนานาชาติ โดยเฉพาะอเมริกาได้ออกมาประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอล พร้อมประกาศสนับสนุนสิทธิ์ในการป้องกันตนเองของอิสราเอล เช่นเดียวกับแคนาดาที่ออกมาระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวที่เป็นเหตุก่อการร้าย และเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ นอกจากนี้ประเทศในฟากยุโรปอย่างอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส ต่างออกมาสนับสนุนอิสราเอลเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ด้านของกลุ่มฮามาสเอง ออกมาแสดงจุดยืนต่อปฏิบัติการดังกล่าวว่าเป็นการตอบโต้ที่ชาวปาเลสไตน์ถูกอิสราเอลกระทำมาตลอดช่วงหลายทษวรรษที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้ชาติอาหรับ รวมถึงชาวปาเลสไตน์ออกมาต่อสู้ร่วมกัน โดยที่อิหร่านเองก็ออกมาประกาศสนับสนุนการโจมตีของกลุ่มฮามาส และสนับสนุนชาวปาเลสไตน์
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังจับตาดูท่าที พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทั้ง อิสราเอลและปาเลสไตน์ ใช้ความอดทนอดกลั้นระหว่างกัน รวมถึงการเจราจาเพื่อฟื้นฟูกระบวนการสันติภาพท่ามกลางท่าทีของอิสราเอลที่พร้อมจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
รายงาน: ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข