‘สินิตย์’ หนุนสถาบันการศึกษา เร่งพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

‘สินิตย์’ หนุนสถาบันการศึกษา เร่งพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างเป็นประธานเปิดงานสัมมนาและประชุมทางวิชาการนานาชาติ ด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี หุ่นยนต์ อินฟอร์เมติกส์ และเทคโนโลยีการควบคุมอัจฉริยะ ครั้งที่ 9 จัดโดยสมาคมนานาชาติ RIITA (ริตต้า) ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน เทคโนโลยีและภาคเอกชนของไทยว่า การจัดกิจกรรมนานาชาติที่ประเทศไทยในปีนี้ เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษาระดับ บัณฑิตศึกษาชาวไทย ได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิจัย และบทความทางวิชาการสู่เวทีโลก ซึ่งจะได้รับการอภิปรายทางวิชาการจากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากำลังคนแห่งอนาคต และต่อยอดผลงานวิจัยจากภาคการศึกษาสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม New S-Curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะพลิกโฉมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในสายการผลิต และเชื่อมโยงการทางานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
“ภาครัฐได้มีจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่สาคัญของอาเซียน มุ่งเน้นการผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการแปรรูปอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย ให้สามารถยกระดับคุณภาพบนฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม” นายสินิตย์กล่าว
นายสินิตย์กล่าวว่า รายงานของ World Robotics Report 2022 ของสหพันธ์หุ่นยนต์ นานาชาติ (International Federation of Robotics) ระบุแนวโน้มความต้องการหุ่นยนต์ของไทยมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอุปสงค์ต่อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของไทย ในปี 2565 มีอยู่ที่กว่า 3,900 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากปีก่อนหน้า เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน สูงกว่าสิงคโปร์ และเป็นอันดับ 12 ของโลก
นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังมีศักยภาพในการใช้งานเพื่อยกระดับภาคบริการ อาทิ การแพทย์ ขนส่ง โลจิสติกส์ โดย “หุ่นยนต์บริการ (AI Service Robots)” มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในตลาดทั่วโลก ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศ โดยสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติคาดการณ์ว่าตลาดหุ่นยนต์บริการทั่วโลกจะมีมูลค่าเกิน 2.21 ล้านล้านบาท หรือ 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2024
ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาของไทย ต้องเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากเป็นต้นทางในการผลิตบุคลากร โดยต้องเร่งสร้างและพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ผ่านเครือข่ายความร่วมมือจากต่างประเทศ และเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พัฒนาโดยคนไทย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตจากการนำเข้าเทคโนโลยี รวมถึงการเชื่อมโยงกับภาครัฐ ในฐานะหน่วยงานสนับสนุน สู่การเป็นหุ้นส่วน 3 ฝ่าย ระหว่างภาคการศึกษา- เอกชน-รัฐ ด้านการจัดการการศึกษาของประเทศ
สำหรับกระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจสำคัญด้านการการขยายโอกาสทางการตลาดสินค้าและบริการของไทย การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมและการพาณิชย์ เป็น 1 ในอุตสาหกรรมส่งออกเป้าหมายของประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมสนับสนุนผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่าง ๆ โดยที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ให้การส่งเสริมการส่งออกหุ่นยนต์ “ดินสอ” เพื่อดูแลผู้สูงอายุในงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok และในปีนี้ ได้จัดโซนจัดแสดงผลิตภัณฑ์และสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ ภายในงานแสดงสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Bangkok E&E) เป็นต้น