KNOWLEDGE

กสศ. เปิดโครงการ “Mobile School” ยืดหยุ่น และตอบโจทย์ชีวิตในการเรียน

วันนี้ (6 ก.ค. 67) เวลา 13:00 น. ที่โดมลานกีฬา ชุมชนคลองเตย ล็อค 4-5-6 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ธนาคารโอกาส ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา และภาคีเครือข่าย จัดโครงการ “Mobile School การศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตเข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนเข้าหา“ เพื่อการเรียนรู้ และการพัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพแก่เด็กและเยาวชนให้สามารถออกแบบการเรียน และตอบโจทย์ชีวิตของผู้ร่วมโครงการ

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงโครงการ Mobile School ว่า โครงการ Mobile school แบ่งออกเป็น 2 นัยยะ โดยนัยยะแรก คือการเรียนรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ส่วนอีกนัยยะ คือ การศึกษาโดยเดินทางมาหาผู้ที่ต้องการเรียน โดยโครงการเชิงรุก “Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา” พาโอกาส “การเรียนรู้” และ “วุฒิการศึกษา” ไปให้เด็ก และเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและหลุดพ้นจากวงจรความยากจน

โครงการนี้เริ่มต้นนำร่อง ใน 25 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือของ กสศ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคมตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะ สถานประกอบการ ภาคเอกชน นักวิชาชีพสาขาต่างๆ และชุมชน

“เราจะทำงานเชิงรุก เน้นความยืดหยุ่นตอบสนองความหลากหลายของผู้เรียนเป็นรายคน เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ตามความถนัด ความสนใจ ที่สำคัญต้องเป็นการศึกษากินได้ การเรียนรู้เพื่อปากท้อง สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา และได้วุฒิการศึกษาอย่าง น้อย ม.6 เพื่อยกระดับรายได้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งพาตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ” นายพัฒนะพงษ์ กล่าว

นายพัฒนะพงษ์ กล่าวอีกว่า Mobile School เปิดรับสมัครเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาอายุระหว่าง 7-24 ปี ที่มีข้อจำกัดในชีวิตไม่สามารถเรียนในโรงเรียนหรือสถานศึกษารูปแบบอื่นได้ จัดการศึกษา ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีเครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคมทั่วประเทศ เป็นหน่วยผู้จัดการการศึกษา จัดการเรียนรู้ทั้งรูปแบบ Online และ Onsite มีครูพี่เลี้ยง ทำหน้าที่เป็น Learning Designer ช่วยแนะแนว ให้คำปรึกษา และร่วมออกแบบแผนการศึกษา เส้นทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความพร้อม ความถนัด ความสนใจที่แตกต่างกันเป็นรายคน โดยจะทำงานเชื่อมประสาน ร่วมกับผู้จัดการรายกรณีหรือ Case Manager ของเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งอยู่ในพื้นที่กับน้องๆ กลุ่มนี้

Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา ใช้ช่องทางการเรียนรู้ และเก็บตัวชี้วัดผ่านเครื่องมือที่หลากหลายที่หลากหลาย เชื่อมโยงวิชาการ ชีวิต อาชีพ สะสมผลงานผ่าน กิจกรรม สื่อภาพถ่าย ใบงานรายละเอียดการฝึกอาชีพ หลักฐานการผ่านงาน ใบประกาศนียบัตร วุฒิบัตร เกียรติบัตร

”ในเรื่องมิติของการศึกษา เราคาดหวังว่ามันไม่ได้เป็นหน้าที่ลำพังของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้คาดหวังแค่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แต่เรายังคาดหวังพ่อแม่ และชุมชนที่จะช่วยกันดูแลสอดส่องว่ามีลูกหลานในชุมชนที่ถึงวัยเรียน แต่ยังไม่ได้รับโอกาสนั้น ให้พาพวกเขาไปเข้าสู่ช่องทางในการศึกษา“ นายพัฒนะพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. สมพงษ์ จิตระดัง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวเปิดงานว่า ปี 2567 เป็นการก้าวย่างสำคัญของ กสศ. และพันธมิตร เป็นปีที่เด็กยากจนยากลำบาก เด็กด้อยโอกาส ได้กลายเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นนโยบายที่สำคัญของประเทศ

คีย์เวิร์ดที่สำคัญคือ การศึกษาที่ยืดหยุ่น ที่กำลังข้ามรั้วโรงเรียนเข้าไปอยู่ในใจของคุณครูจำนวนมาก คือการแข่งขัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ ก็จะทยอยออกจาการศึกษา แต่สิ่งที่เราค้นพบว่าเด็กที่ออกจากระบบการศึกษา ไม่ใช่ความยากจนเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากระบบครอบครัวอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร. สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ระบบ Mobile School จะช่วยให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งนึง เปิดโอกาสพูดคุยระหว่างครูผู้ออกแบบการเรียนกับเด็ก ถ้าเขาไว้วางใจครู เขาจะบอกเองว่าจินตนาการความคิดเกี่ยวกับการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับเขาคืออะไร และหากครูฟังด้วยหัวใจก็จะเข้าใจเด็ก ก็จะทราบได้ว่าจะช่วยเหลือเด็กที่เข้ามาได้อย่างไร

ทั้งนี้ ในงานได้เชิญเด็กเข้าร่วมโครงการ Mobile School ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การเติบโตและการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ที่ตอบโจทย์ชีวิต อาทิ เต้ ศุภวิชญ์ เครือแก้ว แม็ค ต้นตระกูล วงศ์ศามาลย์ คู่หูนักพากย์มังงะ ว่าที่นักเรียน Mobile School รวมถึง นนท์ นนทวัฒน์ โตมา เยาวชนจากสารคดี School Town King แร๊ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน และ เขม เขมรัตน์ ธนพรภูริชนักเรียนปัจจุบันของ Free Form School และ ลูกหมี เนตรนภา เรียมแสน ศิษย์เก่า Mobile School

จากนั้นเป็นเวที แนะนำ 7 หลักสูตรยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต กับ “Mobile School” ซึ่งหลักสูตรแรก เรียนรู้นอกกรอบ Free Form School โดยครูอ๋อมแอ๋ม ศิริพร พรมวงศ์ จากคลองเตยดีจัง ที่พูดถึงหลักสูตรว่า จุดเริ่มต้นของการเปิด Free Form School เนื่องจากกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ แต่พบว่า เด็กที่อยู่กับเราเริ่มหลุดออกจากระบบการศึกษา มีเพียง 1% ที่เรียนจบ ม.6 และครึ่งนึงที่เรียนไม่จบ ม.ต้น จึงนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ เกี่ยวกับโลกของการเรียนรู้ กับวุฒิการศึกษา จึงออกแบบโปรแกรมขึ้นมา เพื่อสร้างสรรค์การเรียน เพื่อให้เด็กมีพื้นที่ที่ปลอดภัยที่จะเข้ามาอยู่กับพวกเรา

การเรียนแบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร โดยหลักสูตรแรกเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต หลักสูตรต่อมา คือใบงานการเรียนรู้ และโครงงานวิชาเลือกอิสระที่จะช่วยพัฒนาทักษะของเด็ก และที่สำคัญคือการโอบอุ้มเด็ก และซับพอร์ตเด็กในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กได้เกิดการเรียนรู้

ขณะที่ ครูตูน พิมพ์ชนก จอมมงคล จากศูนย์การเรียนรู้ CYF ที่มาพูดถึงหลักสูตรว่า เรามีปรัชญาว่า เราจัดการศึกษานอกกรอบ เพื่อไม่ให้คนตกขอบการศึกษา สิ่งที่ CYF ทีเครื่องมืออำนวยให้เขาถอดการเรียนรู้ตามอัธยาศัย โดยมี 2 ขั้นตอน คือการเทียบโอนผลการเรียนเดิม และเทียบโอนประสบการณ์ชีวิต เพื่อเชื่อมโยงหลักสูตร และออกแบบเป็นบันได 4 ขั้น สู่ฝันเป็นจริง เพื่อให้ฝึกฝนการถ่ายทอดความคิด รวมถึงวิชาชีวิต ในการถอดบทเรียนผ่านภาพถ่ายวีดีโอ และการเรียนด้านวิชาการที่มี Work Book หรือระบบที่เรียนออนไลน์ที่นำมาใช้เทียบโอน และการเรียนกลุ่มอาชีพ และภูมิปัญญา ให้เด็กได้เรียนรู้สร้างตัว ที่ช่วยสร้างองค์ความรู้ให้เด็กไปเลือกเรียนตามความสนใจได้

ต่อมา ครูแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล มูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย กล่าวถึงโครงการว่า เราจะค้นหาเด็กที่หลุดออกจากระบบ ให้กลับสู่สังคม และได้โอกาสเทียบเท่ากับคนอื่นๆ โดยโครงการจะช่วยให้มีโอกาส มีศักยภาพ ซึ่งเชื่อว่า หากเขากลับเข้ามา จะสามารถตามหาฝันของเขา และให้โอกาสที่ขะเรียนและทำงานไปด้วย ที่นำไปสู่หลักสูตรทักษะอาชีพ และการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นเข้ามาเรียนรู้กับเราได้ สร้างโอกาสเพิ่มเติม เข้ามาทำงานกับเคเอฟซี เพื่อเป็นเคดิตที่เรียนจบได้ด้วยการทำงานกับเคเอฟซีในด้านความรู้ต่างๆ ที่สามารถเรียนจบได้เท่ากับ ม.ปลาย ปวช. และ ปวศ.

ด้าน น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย สำนักข่าว The Reporters กล่าวถึงการเรียนรู้ในสนามข่าว กับหลักสูตร The Reporters Junior ว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้ The Reporters เข้ามาร่วมเป็นส่วนนึงกับ Mobile School เรามีโครงการที่เรียกว่า The Reporters Junior จากการร่วมงานกับ กสศ. ทำให้เจอเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยส่วนตัวที่เป็นนักข่าวตลอด 24 ปี พบว่าเด็กฝึกงานที่ฝึกจบไปเป็นนักข่าวกว่า 100 คน ที่จบไปเป็นนักข่าว ช่างภาพ ที่ทำงานอยู่ในสนาม เราให้วิชาในการสอน ว่าพวกเราทำหน้าข่าวอย่างไร และพาไปลงสนามที่ทำงานแบบจริงจัง ทั้งการเขียนข่าว และออกไปทำภาคสนามจริง

น.ส.ฐปณีย์ กล่าวต่อว่า ความใฝ่ฝันในการทำ The Reporters คือการทำให้เป็นสถาบันข่าว รวมถึงการจัดอบรมแก่ชุมชนตามชายแดน ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทรัพยากรตามชายขอบ เพื่อสอนทักษะการทำข่าว ในการพูดเรื่องของสังคมให้เกิดประโยชน์ และการเปลี่ยนแปลง จะต้องอาศัยความเป็นวิชาชีพ และสามารถเขียนข่าวสะท้อนออกมา จึงสามารถมาเรียนรู้กับเราได้ในโครงการ The Reporters Juniors มาเรียนรู้กับเรา เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางในการทำงาน

“ในอนาคตก็หวังว่า The Reporters จะเป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นเครือข่ายกับ กสศ. ที่จะสอนคนที่อยากเป็นนักข่าว และช่างภาพ และมีใบที่จะสามารถต่ออาชีพของเขาได้จริง และหลังจากนี้หวังว่าจะได้ร่วมงานกัน และยินดีต้อนรับทุกคนมาเป็น The Reporters Juniors“ น.ส.ฐปณีย์ กล่าวทิ้งท้าย

อีกทั้ง ยังมีการขึ้นพูดถึงทัศนะของหลักสูตร Anywhere Anytime เรียนครบจบที่เรากับครูไอซ์ นายชวดล ชัยวรวัช ศูนย์การเรียนเซนต์ ยอห์นบอสโก อุปถัมภ์ รวมถึง หลักสูตร มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม กับ ฟู้ดแพชชั่น กับครูไอซ์ ตระกูล โอสถ รองผู้อำนวยการศูนย์การเรียน ฟู้ดแพชชั่น จำกัด และหลักสูตรห้องเรียนอาชีพยุคใหม่กับโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร

จากนั้น เป็นวงเสวนาในหัวข้อ “ทำไมการศึกษาและการเรียนรู้ ไม่ต้องอยู่ในโรงเรียนก็ได้” โดย ครูทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล, คุณป้อมปืน วรวัส สบายใจ และคุณอนรรม พิทักษ์ธานิน

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรม Open House “Mobile School ห้องเรียนยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต”

Related Posts

Send this to a friend