สจล.ใช้ AI วัดสัญญาณชีพทางไกล หนุนแพทย์ตรวจวัดผู้ติดเชื้อโควิดแบบไร้สัมผัส พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤตเรียลไทม์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รุดพัฒนานวัตกรรมช่วยแพทย์สู้โควิดต่อเนื่อง พร้อมโชว์ “เอไอวัดสัญญาณชีพทางไกล” (CROMAS) หนุนแพทย์ รพ. สนาม ตรวจวัดและติดตามอาการผู้ป่วยขั้นวิกฤตแบบใกล้ชิด-ไร้สัมผัส อาทิ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ค่าออกซิเจนในเลือด พร้อมแสดงผลแบบเรียลไทม์ไปยังมอนิเตอร์ส่วนกลาง เพื่อให้แพทย์ทำการวิเคราะห์ผลและแนวทางการรักษาได้ทันท่วงที ผ่านการสวมปลอกแขนให้ผู้ป่วยตั้งแต่ครั้งแรก
ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. รุดเดินหน้าต่อยอดองค์ความรู้พัฒนา “เทเลเฮลท์” (Telehealth) เทคโนโลยีและนวัตกรรมการรักษาทางไกล ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยล่าสุดได้พัฒนา “เอไอวัดสัญญาณชีพทางไกล” (COVID-19 Remote & Offsite Monitoring Application Systems หรือ CROMAS) ซึ่งพัฒนาโดยทีมคณาจารย์และนักศึกษา จากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และนำร่องใช้จริงแล้วที่โรงพยาบาลสนาม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ณ อาคารนิมิบุตร (สนามกีฬาแห่งชาติ) กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่สามารถรองรับได้ถึง 300 เตียง โดยมีทีมวิจัยนวัตกรรมดังกล่าว ได้เข้าไปสาธิตวิธีติดตั้งอุปกรณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติร่วมรับฟังการสาธิตการติดตั้งอุปกรณ์ ที่สามารถอำนวยความสะดวกและมีความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจผู้ติดเชื้อได้
ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “เอไอวัดสัญญาณชีพทางไกล” เป็นการขมวดองค์ความรู้ด้านการแพทย์และปัญญาประดิษฐ์ โดยมี 2 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ “อุปกรณ์ปลอกแขน” ทำหน้าที่ตรวจจับสัญญาณชีพค่าต่าง ๆ ของผู้ป่วย ทั้งคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ค่าออกซิเจนในเลือด (เปอร์เซ็นต์) อุณหภูมิ และค่าความดันโลหิต และ “เอไอ” ที่ช่วยแพทย์วิเคราะห์พร้อมแสดงข้อมูลสัญญาณชีพผู้ติดเชื้อขั้นวิกฤตแบบเรียลไทม์ไปยังมอนิเตอร์ส่วนกลาง ซึ่งช่วยให้แพทย์ทำการวิเคราะห์แนวทางการรักษาได้อย่างทันท่วงที ผ่านการสวมปลอกแขนให้ผู้ป่วยตั้งแต่ครั้งแรก โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 90,000-100,000 บาทต่อชุด และในอนาคต เตรียมพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ในงานในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ไทยต่อไป
ทั้งนี้ โรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขใดที่สนใจ ติดต่อ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. โทร. 0-2329-8321 และติดตามความเคลื่อนไหวของ สจล. เพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/kmitlofficial หรือเว็บไซต์ www.kmitl.ac.th