นักวิจัยจุฬาฯ ออกแบบ GoCheck นวัตกรรมตรวจวัดสารพันธุกรรม โรคหนองในแท้ รู้ผลเร็วใน 15 นาที
ดร.อับดุลฮาดี ยะโก๊ะ และ ดร.สุดเขต ไชโย จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ และวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกัน ออกแบบนวัตกรรม “GoCheck” (โกเช็ค) หรือ ดีเอ็นเอชิพอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการตรวจวัดสารพันธุกรรม โรคหนองในแท้ แบบรู้ผลเร็วใน 15 นาที โดยนวัตกรรมดังกล่าว ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี พ.ศ. 2567
ดร.อับดุลฮาดี กล่าวว่า “โปรเจกต์นี้เริ่มมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีโควิด เราเคยได้มีโอกาส ได้ไปพูดคุยกับคุณหมอ ที่ดูแลศูนย์กามโรคที่บางรัก และพบปัญหาเรื่องการขาดแคลน เครื่องมือตรวจโรคเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วย ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เดิมเครื่องมือที่ใช้ตรวจ จะมีขนาดใหญ่ มีราคาสูง และใช้เวลานานในการตรวจ ค่อนข้างที่จะเข้าถึงได้ยาก จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมนี้ครับ”
ทั้งนี้ทีมวิจัยได้พัฒนา ในส่วนของวิธีการ ตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้า โดยเลือกใช้ตัวตรวจวัดชนิด DNA Bio-sensor สำหรับใช้ตรวจวัด สารพันธุกรรมชีวภาพโดยเฉพาะ หลักการคือใช้ดีเอ็นเอที่มีความสามารถในการตรวจจับ มาจับกับดีเอ็นเอของโรคหนองในแท้ ที่มีความจำเพาะกัน ร่วมกับวิธีการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ คือใช้ อิเล็กทรอนิกส์ชิพ ที่มีลักษณะเป็นแผ่นการ์ดขนาดเล็ก
นอกจากนี้ในส่วนของวิธีการตรวจวัด ทางทีมก็ได้พัฒนากระบวนการ ให้มีการขยายสัญญาณ การตรวจที่กว้างขึ้นด้วย และเมื่อขยายสัญญาณ ได้ดีในระดับหนึ่ง ก็ช่วยลดระยะเวลา การตรวจวัดลง จากเดิมหากเป็นวิธีมาตรฐานทั่วไป จะใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่ง แต่ด้วยวิธีการขยายสัญญาณของทีม จึงสามารถลดเวลามาได้เหลือเพียง 15 นาทีเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญ ของงานวิจัยชิ้นนี้
สำหรับวิธีการตรวจวัด จะใช้สารดีเอ็นเอ (ตัวอย่างปัสสาวะ) หยดลงไปบริเวณแผงอุปกรณ์ตรวจวัด แล้วเติมน้ำยาลงไปให้ทำปฏิกิริยา ภายใน 15 นาที ก่อนนำแผงตรวจไปเสียบ เข้ากับตัวดีเอ็นเอชิพ ทั้งนี้การทำงานก็จะคล้ายๆ กับ ชุดตรวจน้ำตาล และใช้สมาร์ทโฟนเป็นตัวติดตาม โดยใช้ลิงก์ NFC โดยการเปลี่ยนแปลงสัญญาณที่เกิดขึ้น หากพบหรือไม่พบดีเอ็นเอ ของโรคหนองในแท้ ก็จะสามารถทราบ และติดตามผลได้ทันทีจากสมาร์ทโฟน
“ส่วนตัวรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติ ที่ทาง วช. เห็นคุณค่าและความสำคัญ ของงานวิจัยที่เราทำอยู่ ปัจจุบัน GoCheck อยู่ในระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร และตัวชิ้นงานเองก็ยังต้อง มีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น รวมถึงขยาย know how ที่เรามีไปยังโรคอื่นๆ คือ ถ้าเราทราบลำดับที่แน่นอน ของสารพันธุกรรมของโรค เราก็สามารถออกแบบ DNA ที่จำเพาะกับสารพันธุกรรม ที่ต้องการจะตรวจวัดได้ อย่างเช่น ที่ตอนนี้เรากำลังโฟกัสอยู่ ก็คือโรคฝีดาษลิง ซึ่งกำลังระบาด และค่อนข้างน่าเป็นห่วง” ดร.อับดุลฮาดี กล่าว