เสวนากฎบัตรปารีสจริยธรรมสื่อในยุค AI ถอดบทเรียนการนำเสนอข่าวเหตุไฟไหม้รถบัสนักเรียน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และ COFACT จัดเสวนา Media Forum หัวข้อ กฎบัตรปารีสเรื่องจริยธรรมสื่อในยุค AI และบริบทของไทย ณ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ อาคาร SM Tower
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์ระบบสุขภาพทางปัญญา สสส. กล่าวต้อนรับด้วยการเชิญผู้ร่วมเสวนายืนสงบนิ่งไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี จากนั้นนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชน กล่าวเปิดงาน
Arthur Grimonpont ผู้แทน Reporters without Borders กล่าวถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมิเดียในปัจจุบันที่ดึงดูดความสนใจจากผู้ใช้กลายเป็นรายได้จากโฆษณา เช่น YouTube มีสถิติการดูวิดีโอเป็นเวลา 120,000 ปีต่อวัน และ 3 ใน 4 ของเนื้อหามาจากการแนะนำของอัลกอริทึม ดังนั้นแพลตฟอร์มเหล่านี้จึงกลายเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ สำหรับนักข่าวตั้งแต่ปลายปี 2022 หลัง Meta ปรับลดการเข้าถึงข่าวของสำนักข่าวในเฟซบุ๊กลงครึ่งหนึ่ง
AI กลายเป็นกำลังหลักในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทั่วโลก และมีบทบาทในการผลิตข้อมูลข่าวสาร แต่มาพร้อมกับภัยคุกคามที่มีข้อมูลบิดเบือน ภัยคุกคามที่ชัดเจนที่สุดคือ AI แบบสร้างสรรค์ทำให้ยากต่อการแยกระหว่างเนื้อหาจริงและเนื้อหาที่สร้างขึ้นมาใหม่ การวาดภาพที่ดูเหมือนฝีมือเด็ก การสร้างวิดีโอ HD เป็นเรื่องยากที่จะแยกออกจากวิดีโอจริง
ความท้าทายของสื่อคือ การรักษาระดับผู้ชม อีกทั้งแชทบอทยังกลายเป็นช่องทางการเข้าถึงข้อมูล
และอาจเข้ามาแทนที่การค้นหาบนเว็บไซต์และโซเชียลมิเดีย นอกจากนี้ยังมีความท้าทายทางเศรษฐกิจสำหรับสื่อและงานข่าว เพราะไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าโซเชียลมิเดียและสื่อจะสามารถสร้างรายได้มากเพียงพอที่จะชดเชยการสูญเสีย โดยในสภาพยุโรปมีการบังคับใช้กฎหมาย AI เป็นกรอบบังคับระดับนานาชาติของระบบ AI ฉบับแรก กำหนด 8 หัวข้อที่มีความเสี่ยงสูงในระบบ AI
ที่ผ่านมาสื่อมวลชนจะถูกกำกับด้วยบรรทัดฐานทางจริยธรรมและมาตรฐานทางวิชาชีพที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลกันเอง จึงเป็นเหตุให้มีกฎบัตรปารีสว่าด้วย AI ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และด้านการข่าวสื่อมวลชน 32 คน พร้อมกับรวบรวมองค์กรพันธมิตรระหว่างประเทศ 20 องค์กร องค์กรปกป้องสิทธิ์สื่อมวลชน กลุ่มพันธมิตรงานสืบสวน และองค์กรพัฒนาสื่อ
เป้าหมายของกฎบัตรปารีสคือ การเสริมจริยธรรมด้านงานข่าวและสื่อมวลชนที่มีหลักการอยู่ 10 ข้อ หลักการข้อแรกสุดคือ จริยธรรมต้องเป็นตัวควบคุมการตัดสินใจการใช้เทคโนโลยีสื่อ เตือนสำนักข่าวไม่ให้ใช้ AI เพื่อประหยัดต้นทุนและพัฒนาขั้นตอนการทำงาน โดยแลกกับคุณภาพของงานและสื่อมวลชน
หลักการที่สองคือ ต้องมั่นใจว่าจะไม่มีความสับสนระหว่างเนื้อหาจริงกับเนื้อหา AI การติดป้ายระบุว่าเนื้อหาสร้างโดย AI คงไม่เพียงพอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการนำ AI แบบสร้างสรรค์มาใช้แทนที่เห็นเหตุการณ์จริง
จากนั้นเป็นการเสวนากฎบัตรปารีสเรื่องจริยธรรมสื่อในยุค AI และบริบทของไทย โดย ผศ.ดร.เอกพล เธียรถาวร คณะวารสารศาสตร์สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่ากฎบัตรปารีสเป็นกฎเกณฑ์ที่ออกมาครอบคลุมการใช้ AI ในการสื่อสารมวลชน โดยสื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จริยธรรมเบื้องต้นของวิชาชีพ ดังนั้นการใช้ภาพ AI กับเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์หรือโศกนาฏกรรม จึงต้องสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุด
นางสาวชุตินธรา วัฒนกุล บรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ ไทยพีบีเอส กล่าวว่าทุกประเทศตื่นตัวกันมาของ AI แม้จะอยู่ในช่วงทดลองใช้ เช่นเดียวกับบริษัทผู้ผลิต AI ที่กำลังลองผิดลองถูกในลักษณะ ”ไม่เก่งแต่ดันทุรัง“ เราจึงต้องรู้เท่าทัน ส่วนตัวเห็นด้วยกับกฎบัตรปารีสในการรวมตัวของสื่อนานาประเทศเพื่อพูดคุยกับผู้ผลิต AI ให้ตระหนักเรื่องจริยธรรมสื่อมวลชน อย่างเหตุรถบัสไฟไหม้ เราเห็นการใช้ภาพผสมแอนิเมชั่นของสำนักข่าวและอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งต้องการสื่อถึงความเศร้าโศก แต่คนในโซเชียลมิเดียอาจไม่เข้าใจสารที่ต้องการสื่อ
นางชนิดา จันทเลิศลักษณ์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เห็นด้วยกับการให้อำนาจมนุษย์อยู่เหนือ AI ตามกฎบัตรปารีส พร้อมกับเน้นย้ำว่า First Source of Data สำคัญมากในงานข่าว ทำให้เราแยกเนื้อหาจริงกับ Ai ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องออกจากกันได้ เราจึงยินดีที่จะใช้ AI ในงานข่าวอย่างถูกต้องโปร่งใส
นางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่าในกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์พูดคุยกันเรื่องการใช้ AI กันบ้างแล้ว มีความเป็นห่วงเรื่องแนวปฏิบัติทางจริยธรรมระหว่างโซเชียลมิเดียกับครีเอเตอร์
รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามว่าจะใช้กฎบัตรปารีสเป็นตัวตั้งหรือไม่ AI เปรียบเหมือนเด็กรุ่นใหม่ที่มีความกล้าและท้าทาย กล้าทำบางอย่างที่ไม่มีข้อมูลชัดเจน สื่อไทยยังไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้ สำคัญคือ ยังไม่มีบิ๊กดาต้าที่ป้อนให้ AI ใช้ และ AI ยังมีความผิดเยอะ หากผู้ใช้เชื่อทั้งที่ไม่รู้ว่าข้อมูลผิดหรือถูก ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นเยอะมาก