ม.หอการค้าไทย เปิดตัว แคมเปญ Happy U ผลักดันมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่แห่งความสุข
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.หอการค้าไทย ล่าสุดได้ปรับมหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่แห่งความสุขสำหรับนักศึกษา โดยเปิดตัวแคมเปญ Happy U ซึ่งเป็นแนวคิด Happy Model เป็นของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยทางมหาวิทยาลัย ได้นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อนักศึกษามีความสุข ทำให้อยากมามหาวิทยาลัย อยากใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง เนื่องจากผลสำรวจ “โครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย” พบว่านิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย มีความเครียดสะสมเพิ่มมากขึ้น เกือบร้อยละ 40 มีความเครียดบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา และกว่าร้อยละ 4 ของนิสิตนักศึกษาทั้งหมด เคยคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งถึงตลอดเวลา
ดร.มานะ กล่าวว่า “ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มหาวิทยาลัย ต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนออนไลน์ มากกว่าเรียนในมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาไม่ได้มาทำกิจกรรม หรือมาใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงน้อยลง มหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอน และพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ ชอบใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ทางสภามหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีม.หอการค้าไทย จึงได้มีนโยบาย Happy U และให้โจทย์มาว่าต้องทำให้นักศึกษามีความสุข ทำให้นักศึกษาอยากมามหาวิทยาลัย อยากใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง รวมถึงได้ให้ลองนำแนวคิด Happy Model ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ จะประกอบด้วย 4 ด้าน คือ กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันสิ่งดีๆ สู่ “Happy U” ของมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องการให้นักศึกษามีความสุข สิ่งแรกที่ดำเนินการ คือ การสอบถามความคิดเห็น รับฟังสิ่งที่นักศึกษาต้องการ”
“เพื่อค้นหาคำตอบว่าจะทำอย่างไร ให้นักศึกษามีความสุขในมหาวิทยาลัย และเริ่มปรับเปลี่ยนบรรยากาศที่มีอยู่ให้ตอบโจทย์ การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ พบว่าหลายๆสิ่งที่นักศึกษาเขาอยากให้มหาวิทยาลัยมี อาทิ การติดกระจกเพื่อพวกเขาจะได้ใช้ซ้อมเต้น เพราะการจะไปซ้อมเต้นตามห้องซ้อมเต้นต่างๆ ต้องเสียเงินมาก เขาอยากให้มหาวิทยาลัย มีพื้นที่ซ้อมเต้นให้แก่เขา เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยลงทุนไม่มาก แต่สร้างความสุขให้แก่นักศึกษาได้มหาศาล ดังนั้น “ความสุขในมุมมองของผู้ใหญ่กับนักศึกษา อาจแตกต่างกันหลายๆอย่าง” สิ่งที่ผู้ใหญ่คิดว่าดี แล้วพยายามยัดเยียดมอบให้แก่นักศึกษา เพราะมองว่าพวกเขาน่าจะมีความสุข นักศึกษาควรจะได้รับสิ่งนั้นสิ่งนี้ รวมทั้งไปบังคับให้พวกเขาทำกิจกรรมต่างๆ แต่ในความเป็นจริงพวกเขาไม่อยากทำ”
“โลกเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน ผู้ใหญ่จึงต้องเปิดใจรับฟัง และทำความเข้าใจกับเด็กรุ่นใหม่ให้มากขึ้น หลายๆอย่างสะท้อนออกมาจากการสำรวจ จากการพูดคุยกับเด็กรุ่นใหม่ เราพบว่าจุดเล็กๆก็สามารถสร้างความสุขให้พวกเขาได้ แต่เรามักมองข้าม ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่ถนัดซ้าย เขาอยากได้โต๊ะเลคเชอร์ สำหรับคนถนัดซ้าย หรือนักศึกษา Oversize เขาก็อยากได้โต๊ะที่เหมาะกับพวกเขา พอเราถอดรหัสความต้องการ ของนักศึกษาแม้เป็นกลุ่มเล็กๆ เราก็รีบจัดเตรียมให้ทันที หรือแม้แต่นักศึกษากลุ่ม LGBTQ ที่เขาต้องการห้องน้ำที่ไม่ระบุเพศ มหาวิทยาลัยก็ได้มีการสร้างห้องน้ำ All Gender สำหรับพวกเขา”
นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยยังให้อิสระในการแต่งตัว ทำสีผม รวมทั้งให้นักศึกษาได้เสนอในสิ่งที่พวกเขาอยากทำ เพราะการคัดเลือกกิจกรรม จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่นักศึกษาเสนอแล้วอยากทำ เช่น ชมรมคนรักแมว Cat Society ชมรมโหราศาสตร์ ฯลฯ และอีกกลุ่มจะเป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยต้องการให้เด็กมีทักษะ แต่ทั้งนี้จะไม่เป็นการบังคับให้เข้าร่วม หากเปิดโครงการมาแล้วไม่มีเด็กสนใจจะปิด หรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมนั้นได้ทันที
กรรมการสภามหาวิทยาลัยเน้นย้ำ ให้นักศึกษาทุกคนที่จบออก จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต้องทำงานเป็น ดังนั้นนักศึกษาจะไม่ได้เพียงเก่งทฤษฎี แต่ต้องลงมือปฎิบัติ และไม่ใช่มีเพียง Hard Skills เท่านั้น แต่ต้องมี Soft Skills ติดตัวร่วมด้วย ซึ่งการเพิ่ม Soft Skills ถือเป็นการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานในยุคนี้จะเป็นการทำงาน ของคนหลากหลาย ไม่ว่าจะหลายวัย หลายเพศที่มีประสบการณ์ ความคิด ความเชื่อแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งที่จะทำให้คนที่มีความคิด ค่านิยมหลากหลายสามารถทำงานร่วมกันได้ ต้องมีทักษะด้านการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะเรื่อง Empathy หรือ “การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น”
“หลายครั้งที่ผู้ใหญ่มักจะมองว่า สิ่งที่ตนเองกำลังทำ ทำเพื่อความสุข ทำเพื่อการเจริญเติบโตที่ดีของเด็ก แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่ดีสำหรับเด็ก ต้องรับฟังในสิ่งที่เขากำลังสื่อสาร มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข ความสบายใจแก่พวกเขา เพราะในสังคมข้างนอกเต็มไปด้วยวิกฤต อบายมุขมากมาย ล้วนทำให้เด็กเกิดความเครียด ม.หอการค้าไทย ได้มีนักจิตวิทยา ได้อบรมทำความเข้าใจกับผู้บริหาร คณาจารย์ในการรับฟัง เข้าใจความคิด ความแตกต่างระหว่างเด็กรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า”
“เด็กรุ่นนี้ต้องการความเข้าใจ พวกเขาไม่ได้มองเรื่องถูกผิดแบบคนรุ่นเก่า มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัว ให้นักศึกษาได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ “ทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัยจะเป็นแหล่งเรียนรู้ ลองผิดลองถูก” เพื่อให้เขาผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในรายวิชาในห้องเรียน รวมถึงกิจกรรมนอกห้องเรียน เพราะถ้าพวกเขาจบออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย อาจจะไม่มีเบาะรองรับ ไม่มีผู้ใหญ่ ครูอาจารย์คอยให้คำแนะนำ ประสบการณ์ตลอด 4 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัยจะฝึกให้เขาแกร่ง เราอยากให้นักศึกษาฝึกฝน เรียนรู้ พัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่ ทำอย่างที่ตนเองต้องการ เดินตามความฝันและไปให้ถึงฝัน อย่าเลียนแบบคนอื่น ให้ทำในสิ่งที่จะช่วยพัฒนา เติมเต็มความสุขให้แก่ตนเอง”