3เอ็ม เผยคนไทยเชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้

3เอ็ม เผยคนไทยเชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์สามารถแก้ปัญหา และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้
3เอ็ม เปิดเผยผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ในไทย พบว่าผู้คนต้องการฟังความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น ต้องการเพิ่มความหลากหลาย ความเท่าเทียม การให้โอกาส และการโอบรับทุกคน (DE&I) ที่อยู่ในตลาดแรงงานฝีมือมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทต่าง ๆ ควรดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะมีบทบาทสำคัญต่อการก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน
3เอ็ม องค์กรวิทยาศาสตร์ระดับโลก เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ประจำปี 2566 (3M State of Science Index 2023 – SOSI 2023) ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้บริโภคเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และผลกระทบของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อโลกรอบ โดยข้อมูลที่ได้มา จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถคาดการณ์ถึงความท้าทายในอนาคต และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ผลสำรวจได้มีการแบ่งหัวข้อการศึกษาตามประเด็นที่ข้อเสนอแนะสำคัญดังต่อไปนี้
การสร้างความเท่าเทียมทางด้านสะเต็ม (STEM – วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์)
ข้อมูลจากผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ประจำปี 2566 ระบุว่า 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย เชื่อว่าวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มที่เปราะบางที่สุดของโลก และ 88% (เทียบกับ 84% ในระดับโลก) ต้องการทราบว่านักวิทยาศาสตร์มีมุมมองอย่างไรต่อปัญหาทางด้านสังคม
91% ของคนไทย (เทียบกับ 94% ในระดับโลก) เชื่อว่าผลลัพธ์เชิงบวกจะเกิดขึ้นได้หากนำวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหา ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาระบบสาธารณสุข และการเกษตรที่ยั่งยืน อีกทั้ง 89% เชื่อว่าโรงเรียนควรกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่สอนแก่นักเรียน
นอกจากนี้ 89% ของคนไทยเห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสะเต็มจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ เห็นว่ามีแรงงานสาขาสะเต็มที่มีศักยภาพที่ยังไม่ได้รับโอกาสซ่อนอยู่ถึง 87% (เทียบกับ 82% ในระดับโลก) และ 79% (เทียบกับ 86% ในระดับโลก) เห็นว่าผู้หญิงยังไม่ได้นำศักยภาพด้านสะเต็มของตนออกมาใช้อย่างเต็มที่ หากกลุ่มคนเหล่าได้รับโอกาส จะกลายเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศ อีกทั้ง 86% เห็นว่าต้องส่งเสริมให้นักเรียนกลุ่มด้อยโอกาสมีส่วนร่วมในการศึกษาสาขาสะเต็ม
3เอ็ม จึงส่งเสริมโครงการที่เกี่ยวกับการศึกษาในสาขาสะเต็มในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลายและเท่าเทียม โดยมอบทุนจำนวน 50,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,768,000 บาท) เพื่อสนับสนุนศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง 99.99% เป็นเด็กไร้สัญชาติ
แรงงานฝีมือที่มีทักษะเฉพาะทาง เป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วนในภาคอุตสาหกรรม
ผลสำรวจพบว่า 91% เชื่อว่าต้องมีการเพิ่ม DE&I ในกลุ่มแรงงานฝีมือ และ 90% (เทียบกับ 88% ในระดับโลก) เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเพิ่มเรื่อง DE&I ในสาขาการบริการด้านสุขภาพ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 90% (เทียบกับ 93% ในระดับโลก) เห็นว่าไทยต้องการแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน ซึ่ง 71% (เทียบกับ 56% ในระดับโลก) เชื่อว่าสังคมมีทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มแรงงานฝีมือ สอดคล้องกับ 68% ของผู้ตอบแบบสำรวจ (เทียบกับ 58% ในระดับโลก) ที่เห็นว่าผู้ปกครองมักไม่ส่งเสริมให้ลูกหลานเลือกศึกษาในวิชาชีพทางด้านงานฝีมือ
ผู้ตอบแบบสำรวจ 89% เห็นว่าหากไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนได้ จะเกิดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรวมจะแย่ลง เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคจะไม่ดำเนินการโดยมีแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางที่เหมาะสม
ภาคธุรกิจและประชาชนต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
องค์การสหประชาชาติออกมาเตือนว่าประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนมากที่สุด โดยคนไทย 73% มีความกังวลว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติจะทวีรุนแรงขึ้น ขณะที่ 70% กังวลเรื่องมลพิษทางอากาศ และ 69% กังวลเรื่องมลพิษพลาสติก สอดคล้องกับข้อมูลจากผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ ที่กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งวิธีที่จะบรรเทาผลกระทบเหล่านี้คือ การพึ่งพาวิทยาศาสตร์
รายงานของ WMO ชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ภายใน 5 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ความรับผิดชอบในการดำเนินการตกเป็นของภาคธุรกิจและประชาชน โดย 89% เห็นว่าบริษัทต่าง ๆ ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ 88% (เทียบกับ 90% ในระดับโลก) เห็นด้วยว่าควรนำวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน
รถยนต์ไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
คนไทยกว่า 95% (เทียบกับ 94% ในระดับโลก) เชื่อมั่นในนวัตกรรมการขนส่งว่ามีความปลอดภัย รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ส่วน 94% (เทียบกับ 88% ในระดับโลก) เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถปรับปรุงนิสัยการขับขี่ให้ดีขึ้น และ 94% (เทียบกับ 91% ในระดับโลก) เชื่อว่าระบบถนนสามารถสื่อสารกับรถยนต์ได้ อีกทั้ง 91% กล่าวว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถช่วยลดมลพิษ และเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นทั่วโลก โดย 88% (เทียบกับ 77% ในระดับโลก) เห็นว่าภายในปี 2575 ประเทศต่าง ๆ จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฮบริด
นางวิยะดา ศรีนาคนันทน์ ประธานบริหาร บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวสรุปว่า การเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้คนต่อวิทยาศาสตร์และผลกระทบของวิทยาศาสตร์ มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผลการสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์เป็นข้อพิสูจน์ว่าโลกอนาคตจะพึ่งพาการค้นพบทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น
3เอ็ม มุ่งมั่นที่จะใช้วิทยาศาสตร์เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกๆ ด้าน ทั้งการดำเนินธุรกิจ การสนับสนุน DE&I ในสาขาสะเต็ม การพัฒนาทักษะแรงงานฝีมือ และการมีส่วนร่วมกับชุมชน