FEATURE

‘เมืองอัจฉริยะ’ คืออะไร ? – จะเป็นSmart City ต้องมีอะไรบ้าง ?

คำว่า “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “smart city” เป็นที่พูดถึงกันมากมาหลายปี  และเมื่อล่าสุดผู้ว่าฯ ชัชชาติให้ความสำคัญกับระบบดิจิตัลต่างๆ เช่น Traffy Fondue ( อ่านรายละเอียดได้ที่  www.thereporters.co/tech/250620222308 ) ก็ยิ่งทำให้คำนี้เป็นที่สนใจพูดถึงกันมากขึ้น

จากประวัติศาสตร์โลกและไทยที่ผ่านมา  ตัวเมืองขยายออกไปเรื่อยๆ  และผู้คนก็เข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยแล้วในปัจจุบัน มีผู้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ราว 55% ในขณะที่ 45% อาศัยอยู่นอกเขตเมือง

ส่วนในไทยเราปัจจุบันนั้น มีอัตราการอยู่อาศัยในเมืองใหญ่อยู่ที่ราวๆ 50 %  .. แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้าคาดว่าสัดส่วนผู้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่จะเพิ่มไปมากถึง 68% 

… ดังนั้นถ้า “เมืองไม่น่าอยู่” ก็อาจมีจำนวนสัดส่วนประชาชนที่ “ไม่มีความสุข” เพิ่มมากขึ้นไปตามกัน  การทำให้เมืองน่าอยู่

ต้องมี “8 อัจฉริยะ” นี้  ถึงจะเป็น smart city ทื่แท้จริง ?

ถ้ามองภาพกว้างๆแล้ว มีหลายๆองค์กรและผู้เชี่ยวชาญ ได้แบ่งองค์ประกอบของ ” เมืองอัจฉริยะ ” เป็น 7 ด้านต่อไปนี้

1. สาธารณูปโภคอัจฉริยะ ( Smart Infrastructure )

ระบบสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะต่างๆ เช่นไฟฟ้า ประปา ไฟส่องทาง สายสื่อสาร ฯลฯ มีความทั่วถึง ปลอดภัย มีเสถียรภาพ เช่นมีระบบอัตโนมัติในการตรวจสอบจุดชำรุดเพื่อให้มีการซ่อมแซมได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

2. ระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะ ( Smart Mobility )

การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพ  ถนน บาทวิถี  และระบบราง ฯลฯ มีความเชื่อมโยงกัน  มีระบบข้อมูล  และระบบต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ( Smart Environment )

ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ, ขยะของเสีย, สภาพอากาศ, ภัยพิบัติ, ฯลฯ

4. พลังงานอัจฉริยะ ( Smart Energy )

มีระบบจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเปล่าหรือสิ้นเปลือง  สร้างความมั่นคงทางพลังงาน  ลดการสร้างมลภาวะจากการผลิตไฟฟ้าไม่ว่าจากแหล่งใดก็ตาม

5. ภาครัฐอัจฉริยะ ( Smart Governance )

ระบบบริการภาครัฐ มีประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน, ข้อมูลข่าวสารของภาครัฐมีความโปร่งใสและเข้าถึงง่าย

6. เศรษฐกิจอัจฉริยะ ( Smart Economy )

ใช้เทคโนโลยีดิจิตัลส่งเสริมระบบเศรษฐกิจด้านต่างๆ เช่นการค้าขายรายย่อย, การท่องเที่ยว, ฯลฯ

7. ชุมขนอัจฉริยะ ( Smart Community )

มีระบบรับรู้ข้อมูลและปัญหาในท้องถิ่นร่วมกัน และมีระบบช่วยตัดสินใจร่วมกันในชุมชนนั้นๆเอง

8. พลเมืองอัจฉริยะ ( Smart People )

พัฒนาองค์ความรู้และทักษะให้ประชากรทุกช่วงวัย เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ  และเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของประชาชน

จะเป็น smart city “ของมันต้องมี” อะไรบ้าง ?

ไม่ว่าจะเป็น 8 ด้านที่ว่าไป  หรือระบบไหนๆก็ตามใน “เมืองอัจฉริยะ”  ก็มักหนีไม่พ้น ต้องมีอุปกรณ์พื้นฐานบางอย่างคล้ายๆกัน  เช่น …

– อุปกรณ์เซนเซอร์ และกล้องวงจรปิด

ไว้ตรวจวัดรับรู้สถานะและข้อมูลต่างๆ เช่นตรวจจับว่าน้ำตรงนั้นเริ่มท่วมหรือยัง? ถนนหนทางตรงนั้นมืดไปไหม ? และถ้าเป็นกล้องวงจรปิด ก็ใช้ได้ทั้งรายงานสภาพจราจร หรือเป็นหลักฐานบันทึกการเกิดเหตุต่างๆ เป็นต้น

– อุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติ

เพื่อตอบสนองต่อสภาพการณ์หรือปัญหาได้อย่างถูกต้องโดยอัตโนมัติ เช่นไฟถนนสว่างได้เองเมื่อฟ้าเริ่มมืด ฯลฯ โดยมีการเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตตลอดเวลาที่เรียกกันว่าใช้เทคโนโลยีแบบ Internet of Things (IoT) นั่นเอง

– ซอฟต์แวร์

ทำงานทั้งในอุปกรณ์ และที่ศูนย์กลาง ไว้รับส่งข้อมูล จัดเก็บข้อมูล  วิเคราะห์ประเมินสภาพ และสั่งการอัตโนมัติหรือให้คำแนะนำต่างๆ

– ศูนย์ข้อมูล

ไว้เก็บข้อมูล big data จำนวนมหาศาลที่เข้ามาตลอดเวลา ทั้งจากเซ็นเซอร์จำนวนมหาศาลทั่วเมือง, จากการแจ้งร้องเรียนของประชาชน, และจากการป้อนข้อมูลของเจ้าหน้าที่   โดยต้องมีทั้งศูนย์หลักและศูนย์สำรองเผื่อความเสียหาย  และยังต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวและป้องกันการป่วนการโจมตีต่างๆ

– ระบบแสดงผล

เช่น จอรายงานข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ใช้อย่างเหมาะสม เช่นมีจอใหญ่ครอบคลุมจุดแจ้งปัญหาทั่วเมือง แล้วมีเจ้าหน้าที่เฝ้า 24 ชั่วโมงเผื่อต้องออกไปแก้ไข เป็นต้น

– แอพหรือเว็บ

ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ตัวอย่างเช่น ดูการจราจรก่อนเลือกเส้นทางไปทำงาน หรือแจ้งปัญหาท่อแตกแถวบ้านให้เจ้าหน้าที่มาซ่อมด่วน ฯลฯ

– เครือข่ายสื่อสาร ทื่เชื่อมทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวไปไว้ด้วยกัน

… ฯลฯ

ตัวอย่างของเมืองอัจฉริยะ และบางระบบที่ใช้กันอยู่

ในเมื่อเทคโนโลยีดิจิตัลด้านต่างๆนั้นก้าวหน้าเร็วและต้นทุนถูกลงทุกวัน  หลายๆเมืองทั่วโลกจึงนำสารพันระบบและเครื่องมือไอทีมาช่วยทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น  และก็ได้ผลน่าพอใจไม่น้อย  ตัวอย่างเช่น …

อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ( ฮอลแลนด์ )

– เสาโคมไฟอัตโนมัติพลังแสงอาทิตย์  ( solar cells ) ป้ายรถประจำทางอัจฉริยะพลังแสงอาทิตย์  ฯลฯ

– รถขยะพลังงานไฟฟ้า ไม่สร้างมลพิษ พร้อมระบบเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลการเก็บขยะและเส้นทางวิ่งว่าทั่วถึงดีหรือไม่

– บ้านหลายพันหลังติดตั้งหลังคาพลังแสงอาทิตย์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน พร้อมระบบรายงานข้อมูลการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต

… ซึ่งทั้งหมดนี้ทางเมือง Amsterdam ได้ร่วมมือกับบริษัทไอทีหลายราย เช่น Cisco, IBM, Phillips ในการสร้างและติดตั้ง

สิงคโปร์

– แอพ “SingPass” ให้ชาวสิงคโปร์ใช้แทนบัตรประชาชน

– แอพฯ ‘HealthHub” ให้ประชาชนบันทึกข้อมูลสุขภาพ พร้อมระบบติดตามสุขภาพทางไกล ( tele-health ) ระบบช่วยเหลือเบื้องต้น ระบบเรียกรถพยาบาล และระบบความปลอดภัยผู้สูงอายุ

– แอพฯ “MyTransport.SG” บอกตารางเวลา เส้นทางการเดินรถ และข้อมูลจราจรอื่นๆ

– เทคโนโลยีสอดส่องป้องกันอาชญากรรม (smart video surveillance)

– ข้อมูล open data ทุกด้านอย่างโปร่งใส และส่งเสริมให้เอกชนมานำข้อมูลเหล่านี้ ไปพัฒนาต่อยอดเป็นแอพ เว็บ หรือบริการต่างๆ

โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

– ระบบไฟถนนอัจฉริยะ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์

– ระบบข้อมูลจราจร เช่นขนส่งสาธารณะ, แอพหาที่จอดรถในเมือง, จักรยานสาธารณะปลดล็อคด้วยแอพฯลฯ

– ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนลงให้เป็น 0 ภายในปี 2025

ซินเจียง ประเทศจีน

– สถานีรถประจำทางมีการติดตั้งจอดิจิตัล แสดงเวลามาถึงของรถคันต่อไป และสามารถเข้าไปดูผ่านแอพมือถือได้ด้วย

– มีกล้องติดตั้งอยู่ตามแยกต่างๆ  ประชาชนสามารถดูเพื่อตรวจสอบการจราจรได้ผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ตัวเองได้แบบ real time จะได้รู้ว่าแยกไหนติดหนักเผื่อกาทางเลี่ยงได้

– หลายๆบ้านที่มีผู้สูงวัย สามารถขอติดตั้งปุ่มฉุกเฉิน (panic buttons) ที่เมื่อกดแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ไปช่วยทันที

ฯลฯ

… จากแค่บางตัวอย่างที่ว่าไปนี้ ก็ยังเห็นได้ว่าองค์ประกอบของ “สมาร์ทซิตี้” นั้นกว้างขวางหลากหลาย  และยังมีด้านอื่นๆอีกมากมายดามที่กล่าวไปแล้ว

สรุป : จะ smart หรือไม่ ? ตัดสินได้ที่ความสุขประชาชนส่วนรวม 

นอกจากที่กล่าวไปแล้วนั้น  ความเป็นเมืองอัจฉริยะ smart city ยังมีด้านอื่นๆและประเด็นต่างๆอีกมากมาย  โดยสิ่งสำคัญนั้นไม่ได้สักแต่ว่าให้ทันสมัย “ไฮเทค”   …แต่ต้องทำให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืนได้จริงด้วย

ฉะนั้นเป้าหมายและการวัดผล  ก็ต้องสำรวจจากประชาชนผู้อยู่อาศัยจริงๆ  ไม่ใช่แค่วัดแค่จากจำนวนเครื่อง, จำนวนกล้อง, หรือปริมาณข้อมูลเท่านั้น

ข้อมูลและภาพประกอบจาก
depa.or.th/th/smart-city-plan
prd.go.th/th/content/category/detail/id/14/cid/35/iid/23205
thereporters.co/tech/three-pillars-of-the-city-of-the-future
engineeringtoday.net/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B0-smart-city-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3
thereporters.co/tech/300920212254
 project-sherpa.eu/how-data-are-used-in-smart-cities

Related Posts

Send this to a friend