ทวงคืนน้ำพริกปลาทู ทวงคืนความมั่นคงทางอาหารทะเลไทย
จิตติมา ผลเสวก-เรื่อง
ข้อมูล,ภาพ -สมาคมรักษ์ทะเลไทย
ถ้าจะถามว่าสำรับอาหารไทยที่แท้จริงคืออะไร อาจจะมีคนตอบว่าผัดไทบ้างล่ะ หรือมัสมั่น ต้มยำกุ้งบ้างล่ะ หรือว่าแกงเขียวหวาน ตามความนิยมของชาวต่างชาติและตามการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานการท่องเที่ยวไทย
แต่สำหรับอีกหลายคนอาจจะนึกอยู่เงียบๆว่า “น้ำพริกปลาทู” ต่างหากเล่าที่น่าจะจัดเป็นอาหารไทยอย่างแท้จริง เหตุผลสนับสนุนมีหลายประการ เท่าที่พอนึกออกนะ จำพวกแกงมัสมั่น แกงเขียวหวานนั้นน่าจะรับอิทธิพลจากอินเดียหรือพม่าที่นิยมอาหารใส่เครื่องเทศ
ส่วนผัดไทน่าจะคลี่คลายมาจากอาหารจีนจำพวกเส้นและผัดต่างๆ ด้วยว่าเท่าที่อ่านมาจากผู้รู้หลายๆคนบอกตรงกันว่า ชาวไทยแต่เดิมมักจะกินอาหารจำพวกปิ้งย่าง ผัก น้ำพริกต่างๆ และต้มปลาต้มไก่ ส่วนอาหารที่มีสัตว์ใหญ่เช่น หมู วัว ควายเป็นส่วนประกอบหลัก มักจะทำเมื่อมีงานบุญประเพณี
อาหารประจำปากของผู้คนที่ใด ก็มักจะมีที่มาจากทรัพยากรหรือแหล่งเติบโตทางอาหารของที่นั่น ประเทศไทยแห่งนี้มีทรัพย์ในดินน้ำเหลือเฟือ ด้วยพื้นที่อันหลายหลายไปด้วยภูเขา ที่ราบ แม่น้ำ และทะเล เรียกว่ามากันครบถ้วน
ก่อนที่จะเกิดวิชาการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง คนไทยหาอยู่หากินกับผืนป่าแม่น้ำและทะเลอย่างสบายใจ ไม่คาดคิดมาก่อนว่าวันหนึ่งความอุดมสมบูรณ์จะหดหายไปอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะทะเลไทยที่กว้างใหญ่ไพศาลเพียงพอที่จะเลี้ยงดูผู้คนได้ทั้งโลก ที่กำลังวิกฤติขาดแคลนสัตว์ทะเลที่เป็นอาหารสำคัญ
สัตว์ทะเลบางสายพันธ์เหลือแต่ชื่อ ปลาหลายชนิดทิ้งไว้แต่รสชาติในตำนานให้คนเคยกินถวิลหา และปลาอีกหลายชนิดกำลังรอวันกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าขาน ที่เห็นได้ชัดเพราะเป็นอาหารคู่ปากคนไทยมานานก็คือปลาทู
สมัยก่อนคนจนกินน้ำพริกปลาทู ด้วยว่าปลาทูราคาถูกหาซื้อกินง่ายอร่อยมีประโยชน์ คนมีสตางค์ซื้อหูฉลาม ซื้อปลาเก๋าปลาเต๋าเต้ยกินก็มักจะเมินปลาทู แต่มาถึงตอนนี้ปลาทูไม่ใช่อาหารของคนจนอีกต่อไปเพราะราคาพุ่งสูงจนค่าจ้างรายวันขั้นต่ำแทบไม่พอซื้อกิน
ปลาทูแพงเพราะจำนวนปลาทูในทะเลลดน้อยลงจนใจหาย มีข้อมูลจากการวิจัยของกรมประมงเป็นหลักฐานว่า “ปลาทูเต็มวัย” ที่เคยจับได้ตั้งแต่ปีก่อนๆจนถึง ปี พ.ศ.2557 จำนวนราว 128,835 ตัน จากนั้นปริมาณปลาทูลดลงอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งในปี 2558 ลดลงเหลือ 48,522 ตัน ในปี 2561 จับได้ 11,290 ตัน ปี 2562 จับได้ 24,374 และจับได้เหลือเพียง 18,436 ตัน เท่านั้น ในปี 2563
ในทางกลับกันกลับพบ “ตัวอ่อนปลาทู” รวมถึง “ตัวอ่อนของอาหารทะเลอื่นๆ” วางขายในห้างและตลาดต่างๆเกลื่อนกลาด
สาเหตุของการลดลงไม่ใช่เพราะประชากรมนุษย์มากขึ้นบริโภคมากขึ้น ทว่าจำนวนปลาทูลดลงเพราะความละโมบของคนทำประมงขนาดใหญ่ ที่ใช้เครื่องมือกวาดกว้านเอาสัคว์ทะเลวัยอ่อนขึ้นมาด้วย ครั้นไม่มีตัวอ่อนให้เติบโตสืบพันธุ์ต่อไป กุ้งหอยปูปลาต่างๆก็ต้องลดจำนวนลงเป็นหลักทางธรรมชาติ
ด้วยเหตุนี้ทางเครือข่ายประมงพื้นบ้านทั่วประเทศและสมาคมรักษ์ทะเลไทย จึงวางแผนล่องเรือเพื่อบอกเล่าสถานการณ์อันน่าวิตกของทะเลไทยให้ตระหนักโดยถ้วนทั่วกัน โดยเริ่มต้นการล่องเรือจากหาดปานาเระ ปัตตานี แวะพักตามจุดต่างๆ ที่มีพี่น้องเครือข่ายประมงพื้นบ้านทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อแลกเปลี่ยนและฟังเสียงชาวประมง
โดยทางทะเลฝั่งตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด ก็จะเดินทางมาสมทบด้วย โดยนัดหมายเทียบท่าที่เจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของกรุงเทพมหานคร ด้วยว่ากรุงเทพฯเป็นแหล่งบริโภคอาหารทะเลขนาดใหญ่เป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐที่กุมนโยบายและการบังคับใช้กฎหมาย
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวถึงจุดประสงค์ในการล่องเรือครั้งนี้ว่า “ต้องการใช้เวลาเพื่อที่จะสื่อสารกับผู้คนในสังคม 4 กลุ่ม คือกลุ่มผู้จับหรือชาวประมง เพื่อให้มีความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบจากการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนขึ้นมาใช้มากเกินไป
กลุ่มผู้ซื้อผู้ขายหรือตลาด ทั้งในท้องถิ่นและซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยที่มีงานวิจัยการสำรวจรูปแบบการจัดจำหน่ายสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตไม่ได้ขนาดในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (A Survey of Juveniles in Thailand for Sustainable Development) โดย ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (CSO Coalition) ระบุว่า
ตลาดที่มีการจำหน่ายสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนมากที่สุดในช่วงการศึกษาวิจัย คือ ตลาดโมเดิร์นเทรด(Modern Trade) และพบว่ามีการจำหน่ายมากที่สุดในภาคกลางและกรุงเทพ ฯ นอกจากนั้นยังพบว่ายังไม่มีนโยบายของตลาดที่ร่วมปกป้องการซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยตัวผู้ขายเอง จึงต้องการสื่อสารให้ตลาดหรือผู้ซื้อผู้ขายเข้าใจถึงความเสียหายของทรัพยากร และความเสียหายต่อเศรษฐกิจ
กลุ่มผู้บริโภค ให้ได้รับรู้ข้อมูล เกี่ยวกับวิกฤตอาหารทะเลและต้นเหตุของอาหารทะเลที่มีราคาแพงมากขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการบริโภค หรือรสนิยมของผู้บริโภคเอง ที่ยังมีความนิยมบริโภคสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน โดยอาจไม่มีความรู้เพียงพอ
และที่สำคัญคือภาครัฐ ซึงเป็นเป้าหมายที่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้นำปกป้องสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ด้วยการเร่งออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามอำนาจรัฐมนตรี (มาตรา 57 ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558) ซึ่งตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายการประมงฉบับนี้ รัฐมนตรีว่าการประทรวงเกษตร ฯ ยังไม่ได้ประกาศกระทรวงเพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ตามที่กฎมหายได้กำหนดไว้
มาตรา 57 เป็นมาตราหนึ่งใน พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่ระบุให้มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจในทะเลไทย โดยมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ออกประกาศกำหนด ขนาดและชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามทำการประมง (มาตรา 57 “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง”)
ทั้งนี้หลังจากไม่มีการประกาศกำหนด ทำให้มีการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนจำนวนมาก โดยที่เจ้าพนักงานตามกฎหมายไม่สามารถห้ามปรามหรือบังคับมิให้กระทำการดังกล่าวได้ มาตรา 57 ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 จะมีผลทางปฏิบัติได้ก็ต่อเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ ชื่อและขนาดของพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจแต่ละชนิด”
ตามกำหนดการขบวนเรือทวงคืนน้ำพริกปลาทูจะเทียบท่าขึ้นฝั่งเจ้าพระยาในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ และจะมีกิจกรรมรณรงค์ต่างๆในวันที่ 7 ซึ่งน่าติดตามเพราะเกี่ยวข้องกับปากท้องของเราทุกคน