วัยเก๋า ไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน…อย่าลืมทำสิ่งเหล่านี้
แม้สูงวัยก็สามารถดูแลตัวเองได้ หากคนวัยเก๋ายุคโซเชียล มีความรอบรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ และลงมือทำจริง ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายไม่แย่ลงไปกว่าเดิม ยังทำให้โรคที่เป็นอยู่ไม่รุนแรงเช่นเดียวกัน ที่สำคัญยังทำให้อยู่กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน เพื่อน หรือ แม้แต่คนดูแลได้อย่างมีความสุข แม้ว่าการพึ่งตาตัวเองนั้น เป็นเรื่องพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนรู้ และปฏิบัติกันมาโดยตลอด แต่เมื่ออายุมากขึ้น หรือวัยเริ่มแตะหลัก 5หลัก 6 นั้น อาจช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง
ดังนั้นนอกจากการหันมาดูแลตัวเอง ของคนสูงวัยแล้ว ในส่วนของคนดูแล เช่น ลูกหลาน ก็จำเป็นต้องให้การสนับสนุนคนวัยนี้ ดูแลสุขภาพในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมการจัดสิ่งแวดล้อม ภายในบ้าน ให้เป็นระเบียบน่าอยู่ เพื่อป้องกันการหกล้ม หรือแม้แต่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ควรมีนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยให้คนวัยเกษียณใช้ชีวิตประจำวัน ได้อย่างสุขภาพดี เช่น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างบ้าน ที่ปลอดภัยและเหมาะกับคนสูงวัย เพื่อให้สามารถใช้งานได้ในระยะยาว ภายใต้ด้วยวิถีแห่งการพึ่งพาตนเอง ที่นอกจากส่งเสริมการเป็นวัยแอคทีฟเอจจิ้ง (Active Aging) แล้ว ยังต้องมีสุขอนามัยที่ดี จากการอยู่อาศัยภายใต้สิ่งแวดล้อม ที่เป็นมิตรเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ท้ายทาย แต่ทว่าหากทุกคนที่เกี่ยวกับช่วยกัน ก็จะทำให้สังคมผู้สูงวัย ขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์แบบ และน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ รองประธานกรรมการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ให้ข้อมูลกับ The Reporters ว่า “อันที่จริงแล้วผู้สูงอายุหรือแม้แต่คนทั่วไป ไม่ยากเป็นภาระของคนรอบข้าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนรู้กันดี เพราะการพึ่งพาตัวเองได้ นั่นจะทำให้เขาสามารถอยู่อย่างภาคภูมิใจ และมีศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้สูงอายุ สามารถกินข้าว อาบน้ำได้เอง ไปตลาดคนเดียวได้ หรือแม้แต่สามารถกดเอทีเอ็มได้เอง ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ชีวิตที่เป็นปกติของคนทั่วไป นอกจากนี้ภาพที่ติดอยู่ในหัวมานาน โดยเฉพาะทัศนะคติที่มองว่า เมื่ออายุมากแล้วต้อง แก่แล้วแก่เลย ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องลบภาพจำเก่า แต่ควรเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า ทำอย่างไรเราจึงเป็นคนสูงอายุที่ แอคทีฟเอจจิ้ง (Active Aging) หรือการที่ผู้สูงวัยสามารถขยับตัวได้ อย่างกระฉับกระเฉงและกระปรี้กระเปร่า เพื่อส่งเสริมพฤฒพลัง หรือพลังของผู้สูงวัยให้เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองได้ตลอดไป”
ศิริวรรณ บอกอีกว่า ปัญหาที่คุกคามคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ไม่เพียงแค่ความกลัวเรื่อง อายุมากขึ้นจะทำให้เคลื่อนไหวช้าลง และความคิดความอ่านยังช้าลงเช่นกัน ที่สำคัญหากเข้าวัย 50 ปีขึ้นไป บางคนมักจะมีปัญหาเรื่องโรคสโตรก หรือ Stroke ที่สำคัญเมื่อเป็นแล้ว มักจะกลับมาเป็นปกติได้ค่อนข้างน้อย หรือช่วยตัวเองได้น้อย หรือ บางคนที่ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ แต่ไม่เท่าเดิม ทำให้ยังต้องมีคนดูแล ซึ่งปัญหาดังกล่าวถือเป็นความกังวลของคนวัยนี้ เพราะไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ดังนั้นจึงต้องพยายามดูแลตัวเอง โดยเฉพาะการที่ผู้สูงวัย มีความรอบรู้เรื่องสุขภาพ และลงมือปฏิบัติจริง จะทำให้รู้เท่าทัน และสามารถดูแลสุขภาพให้ดีกว่าเดิม หรือโรคที่เป็นอยู่ไม่แย่มากไปกว่าเดิม
สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ต้องดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานได้ หมั่นติดตามข่าวสารสุขภาพ เพื่อเพิ่ม
ทักษะความรอบรู้ ป้องกันการเจ็บป่วย
“ถ้าพูดถึงเรื่องของเซฟแคร์ หรือ เฮลธ์แคร์ คือการดูแลตัวเองขั้นพื้นฐาน ที่ผู้สูงวัยจำเป็นต้องทำเองได้ ซึ่งถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้าน เช่น การกดชักโครงเอง อาบน้ำเอง กินข้าวเอง หรือแม้แต่การที่ป่วยมีโรคประจำตัว ก็จำเป็นต้องระมัดระวัง และหมั่นดูแลตัวเอง เช่น หากรู้สึกปวดเมื่อยร่างกาย ก็จำเป็นต้องหมั่นออกกำลังกาย เพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ทั้งนี้เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี แต่การที่ผู้สูงวัยจะทำเช่นนี้ได้ต้องมีความรู้ก่อน ทั้งเข้าหาหมอพบแพทย์สม่ำเสมอ เข้าชมรมสุขภาพ หรือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพเป็นประจำ เพื่อระมัดระวังตัว และลงมือปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ตัวเองทำกิจกรรม ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ หรือทำให้เจ็บป่วย” ศิริวรรณ กล่าว
เข้าสังคมอารมณ์แจ่มใส ได้ฝึกสมองและออกกำลังกาย ด้วยการทำกิจกรรมกลุ่ม
นอกจากนี้ผู้สูงวัยยังจำเป็นต้องมีเพื่อน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นหากไปร่วมกิจกรรมเป็นกลุ่ม หรือชมรม ไม่เพียงทำให้มีเพื่อน แต่ยังกระตุ้นให้ออกกำลังกาย เช่น ถ้ามีเพื่อนก็จะเดินไปคุยกันไป หรือ เล่าเรื่องลูกหลานสู่กันฟัง เพราะการได้เล่าก็เท่ากับได้คิดทวน ก่อนที่จะตอบคำถาม และขณะที่เดินไปเป็นกลุ่มคณะ สายตาก็ได้สัมผัสกับธรรมชาติรอบตัว ก็ทำให้จดจำรายละเอียดของต้นไม้ดอกไม้ข้างทาง ก็จะช่วยฝึกเรื่องของความทรงจำได้ดี ซึ่งเป็นการยืดการใช้งานสมองให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ ที่สำคัญการได้พูดคุยกับเพื่อนนั้น ก็จะทำให้อารมณ์ของผู้สูงวัยแจ่มใสอีกเช่นกัน
เก็บออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ลดการพึ่งพาลูกหลาน -ส่งเสริมคู่สมรสดูแลกันและกันโดยไม่เดือดร้อน
รองประธานกรรมการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า “การเก็บออมเงินเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนวัยเก๋า เช่น บางคนมีเบี้ยยังชีพจากเงินบำนาญ หรือแม้แต่การที่ลูกหลานให้เงิน หรือเบี้ยยังชีพจากประกันสังคม ก็จำเป็นต้องเก็บสตางค์เอาไว้ เพื่อใช้จ่ายยามที่เกษียณแล้ว เพราะอย่าลืมว่าวัยนี้จะมีกระแสเงินสดเข้ามาค่อนข้าง น้อยกว่าช่วงที่เรายังทำงานได้ ที่สำคัญเวลาอายุมากหลายคนต้องไปหาหมอ ไปรพ. ก็จะเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเล็กๆน้อย เช่น เติมน้ำมันรถ แม้ว่าจะมีสิทธิบัตรทองในการรักษาตัวก็ตาม”
ดังนั้นการที่ผู้สูงวัยจะไม่เป็นภาระของผู้อื่น ก็จะต้องมีทั้งสุขภาพที่ดี มีสังคมโดยการเข้ากลุ่มทำกิจกรรม เพื่อลดความเหงาและโรคซึมเศร้า ที่สำคัญต้องมีเศรษฐกิจที่ดี จากการเก็บออมเงิน ก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ เพื่อลดการพึ่งพาบุตรหลาน และส่งเสริมการใช้ชีวิตคู่ ที่ต่างต้องดูแลกันและกัน ด้วยเงินที่เก็บสะสม ไว้ใช้ยามบั้นปลายชีวิตร่วมกัน
จัดสิ่งแวดล้อมรอบบ้านให้เป็นระเบียบ ช่วยดูแลสุขภาพคนวัยเก๋าแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย แนะลูกหลานสื่อสารอย่างเข้าใจ
การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านและที่พักอาศัย เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะลูกหลานอาจจะมองว่าค่อนข้างรก แต่ผู้สูงวัยมักจะมองว่า ข้าวของเครื่องใช้ที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่ 40-50 ก่อนนั้นมีสตอรี่ หรือมีเรื่องราว เช่น รูปถ่ายภาพขาวดำ ที่วางกองไว้มุมใดมุมหนึ่งของบ้าน หรือ ครกตำข้าวโบราณ ที่ทำจากท่อนไม้ขนาดใหญ่ และสากที่ทำจากต้นตาล ที่คนสูงวัยเก็บสะสมไว้ให้ลูกหลานได้ดู หรือแม้แต่จักรเย็บ และป้ายสังกะสีเก่า ซึ่งปัจจุบันหลายคนอาจเคยเห็น ตั้งโชว์ไว้ที่ตลาดน้ำต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวประทับใจ เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา แต่เมื่อผู้สูงวัยเก็บไว้ภายในบ้าน ก็เสี่ยงที่จะสะดุดหกล้ม หรือเดินชนได้รับบาดเจ็บได้ง่าย และยังเป็นรวมเชื้อโรคที่สกปรก เสี่ยงต่อป่วยโรคเรื้อรังอีกด้วย
ศิริวรรณ อธิบายว่า “คนวัยนี้จะทิ้งสิ่งของที่เก็บสะสมเอาไว้ค่อนข้างยาก เพราะสิ่งของเหล่านี้มีประวัติร่วมกับพ่อแม่ของเรา ดังนั้นสิ่งที่ลูกหลานทำได้ คือการที่เก็บสิ่งของเหล่านี้ ให้เป็นระเบียบ เข้าที่เข้าทาง ไม่วางซ่อนอยู่ใต้เตียงนอนคุณพ่อคุณแม่ โดยบอกกับพ่อแม่ว่าเพื่อความปลอดภัย และป้องกันการสะดุดหกล้ม หรือหากเป็นสิ่งของ เช่น กระป๋อง หรือขวดต่างๆ หรือแม้แต่ลังพลาสติกเก่าสมัยโบราณ ก็สามารถใช้เหตุผลกับท่าน โดยบอกว่าสารพัดของใช้ที่เก็บไว้เหล่านี้ สามารถสร้างรายได้ให้กับท่านได้ เพื่อเอาไว้ใช้สำหรับไปหาหมอ หรือไปทำบุญ ที่สำคัญหากขายหรือจัดเก็บให้เป็นระเบียบ ก็จะป้องกันการสะดุดหกล้มได้ เพราะฝ่าเท้าของพ่อแม่นั้น มักจะมีไขมันน้อยลง ดังนั้นหากไปเหยียบหรือแตะสิ่งของเหล่านี้ ก็จะเป็นแผลหรือฟกช้ำได้ง่าย”
“แม้ว่าบางคนคุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกหงุดหงิด เพราะไม่อยากขาย หรือไม่อยากคลื่อนย้ายข้าวของเหล่านี้ ดังนั้นคนที่ดูแล หรือลูกหลาน จำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจ ในสิ่งที่พ่อแม่เป็น โดยเฉพาะในแง่ของการที่ท่าน มีประสบการณ์ร่วมกับสิ่งของชิ้นนั้นๆ เนื่องจากการดูแลเด็ก กับคนสูงวัยนั้นแตกต่างกัน เพราะผู้ใหญ่จะมีประสบการณ์ชีวิต ดังนั้นจึงมีต้นทุนทางความคิด ความเชื่อที่เป็นของตัวเอง”
ดังนั้นหากผู้สูงวัยคนไหน ที่ปรับตัวได้เร็วและคล้อยตาม ก็ถือว่าง่ายต่อการดูแล และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าท่านปรับตัวไม่ได้หรือปรับได้ช้า ลูกหลานต้องเข้าใจในสิ่งที่ท่านเป็น และยอมรับ เพราะท่านมีความเชื่ออย่างนั้น และต้องให้อภัยท่าน
หน่วยงานที่เกี่ยวกับผู้สูงวัย ออกนโยบายช่วยจัดสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย เพื่อยืดอายุการใช้งาน ส่งเสริมการใช้ชีวิตอยู่ดีมีสุข
นอกจากผู้สูงวัยมีบ้านอยู่อาศัยแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการทำอย่างไรเพื่อให้บ้านที่อยู่นั้น สามารถอยู่ต่อไป ได้อีกยาวนานกระทั่งถึงบั้นปลายชีวิต ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลผู้สูงวัย จำเป็นต้องเข้ามช่วยดูแล เช่น การช่วยเจรจากับ บริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างชื่อดังต่างๆ ให้ข้อมูลกับทีมพนักงาน ในการช่วยนำแนะผู้สูงอายุในการสร้างบ้าน ด้วยเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่มีทนทาน ไม่ว่าจะเป็นฝาชักโครกสำหรับผู้สูงวัย ที่จำเป็นต้องมีลักษณะกว้างขึ้น เพื่อที่จะไม่ต้องเปลี่ยนใหม่บ่อยๆ หรือแม้แต่การสอบถามลูกค้าสูงวัย ในการไปติดตั้งราวจับในห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะให้ที่บ้าน ซึ่งจะทำให้การใช้งานคงทน และป้องกันการหกล้มในห้องน้ำ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ มีความจำเป็นสำคัญผู้สูงวัย
ศิริวรรณ กล่าว “จากการลงพื้นที่ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ ทำให้ได้ทราบว่า บ้านของผู้สูงวัยหลายท่านนั้น ติดราวจับผิดหรือกลับด้าน เนื่องจากช่างได้ความรู้มาไม่ถูกต้อง เพราะหลักการติดที่ถูกต้องนั้น จำเป็นติดให้เป็นรูปตัวแอล (L) หรือราวที่มีลักษณะเป็นแนวตั้ง เพราะเวลาที่ผู้สูงวัยลุกขึ้น จากการทำธุระบนชักโครก ก็จะสามารถจับราว เพื่อพยุงตัวลุกขึ้นเองได้โดยไม่ล้ม หรือแม้แต่ รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าภาควิชา สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้จัดทำโครงการ UDC : Universal Design Center ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน โดยได้ออกแบบที่อยู่อาศัย เพื่อให้ทุกคนรวมถึงผู้สูงอายุอยู่ดี หรือการจัดบ้านให้อยู่ดีมีสุขเพื่อผู้สูงวัย”
“รวมถึงหน่วยงานอย่าง กรมทางหลวง กทม.หรือแม้แต่หน่วยงานท้องถิ่น ก็ควรมาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง เช่น การจัดสถานที่สำหรับจอดรถสำหรับผู้สูงอายุ กรณีที่ต้องไปจ่ายตลาดสด และควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงจนเกินไป รวมถึงการติดไฟส่องสว่าง บริเวณทางเดินในชุมชนหรือหมู่บ้าน ที่สำคัญก็จำเป็นต้องทาสีป้ายบอกทางที่มีสีซีด หรือตัวอักษรไม่ชัดเจน จากการที่ตั้งอยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ เพื่อทำให้มองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น เวลาที่ผู้สูงวัยขับขี่รถยนต์ ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด”
ศูนย์ Day Care ในหมู่บ้าน วิธีเติมความสุขกายสบายใจคนวัยเก๋า ด้วยการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ
“นอกจากนี้ทุกหมู่บ้านควรมี ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุช่วงกลางวัน หรือ Day Care เช่น “ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุกลางวัน บึงยี่โถ-Day Care & Day Service” ของหน่วยงานเทศบาลเมืองบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี ปทุมธานี ที่จะมีการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุ ทั้งในและนอกสถานที่ (เสียค่าบริการวันละ 300 บาท) เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี ทั้งกายและใจให้ผู้สูงวัย ที่ได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และผู้ดูแลที่มีความรู้ความสามารถ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สูงวัยไม่เหงา และได้มีเพื่อนเพิ่มมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องนั่ง หรือนอนรอลูกกลับจากที่ทำงาน แต่ในระหว่างวันก็สามารถมีความสุขได้ จากการเข้าร่วมกิจกรรม ศูนย์ดูแลสุขภาพ ที่ตั้งอยู่ในระแวกชุมชนเหล่านี้” ศิริวรรณ กล่าว
ภาคธุรกิจไม่ลืมเพิ่มบริการดูแลผู้สูงวัย รับสังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ
รองประธานกรรมการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เผยอีกว่า “ในส่วนของภาคธุรกิจ ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน เช่น การที่ร้านอาหาร ควรจัดให้มีพื้นที่สำหรับจอดวิลแชร์ให้กับผู้สูงวัย แทนการจัดวางเก้าอี้สำหรับเด็ก เนื่องจากปัจจุบันจำนวนของเด็กที่เกิดน้อยลงมาก รวมถึงทางเดินเข้าร้าน ควรจัดให้มีช่องทางสำหรับเข็นวิลแชร์เช่นเดียวกัน ที่สำคัญภายในร้านอาหาร ควรจัดแสงไฟให้สว่างให้เหมาะสม ระหว่างรับประทานอาหาร และมีราวจับบริเวณโต๊ะอาหาร เพื่อป้องกันการหกล้ม เวลาที่ลุกจากวิลแชร์ไปที่โต๊ะอาหาร”
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ให้กับกลุ่มลูกค้าวัยเก๋า และเพิ่มความสง่างามให้คนสูงวัย เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางผู้คน ด้วยการรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือกระชับความผูกพันในครอบครัว ร่วมกับลูกหลาน และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี ระหว่างเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน