สัปเหร่อ ว่าด้วยพิธีกรรม ความเชื่อ คติธรรม และการปล่อยวาง
สัปเหร่อ เป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 6 ในจักรวาลไทบ้าน เดอะซีรีส์ ที่มีจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ในเรื่องของการนำเสนอวิถีชีวิตของคนอีสานบ้านนา อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นภาคต่อ แต่การนำเสนอของภาคนี้จะเน้นรายละเอียดในเรื่องของความเชื่อพื้นถิ่น และพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาย ที่สัมพันธ์กับคติธรรมเรื่องของ ‘การปล่อยวาง’ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง ‘สัปเหร่อ’ มีความแปลกใหม่ไปจากภาคก่อน ๆ
ประเด็นที่น่าสนใจของภาพยนตร์สัปเหร่อ คือการนำเสนอเรื่องราวของปรัชญาชีวิตที่ไม่ลึกจนเกินไป (อยู่ในระดับที่คนทั่วไปจับต้องง่าย) สอดแทรกไว้ผ่านการตั้งคำถามของตัวละครที่ผูกโยงกับพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับ ‘คนตาย’ โดยที่การตั้งคำถามนั้น ไม่ได้เป็นการไปลดทอนมุมมองความเชื่อแบบใดแบบหนึ่ง แต่เป็นการตั้งขึ้นเพื่อถามแทนคนดูหลายคนที่เคยรู้สึกสงสัยแบบเดียวกัน
ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์สัปเหร่อก็ไม่ได้ต้องการเป็นหนังที่จะขุดลึกไปถึงพิธีกรรมโดยละเอียด หรือพูดในเชิงวิชาการจนกลายเป็นสารคดีเสีย คำอธิบายของความเชื่อต่าง ๆ ที่หนังต้องการสะท้อนจึงเป็นความรู้สึกของ “คนที่ยังอยู่” มีต่อ “คนตาย” โดยมี ‘สัปเหร่อ’ เป็นบุคคลสำคัญที่จะพาไปถึงคำตอบเชิง ‘คติธรรม’ ในการ ‘ปล่อยวาง’ ให้คนที่ยังอยู่ก้าวต่อไป
ดังนั้นแล้ว บทความนี้จะพูดถึงตัวตนของความเป็นสัปเหร่อในพื้นที่ชุมชนพื้นถิ่น ซึ่งมีเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชุมชนและความเชื่อ ถึงแม้ในยุคปัจจุบันความเชื่อหลายอย่างดูจะเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งข้อสงสัย เฉกเช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ไม่ได้ตั้งคามเพื่อลดทอนชุดความเชื่อใด ๆ เพียงแต่นำเสนอให้เห็นความหมายแฝงของพิธีกรรมที่กระทำขึ้นเพื่อเยียวยาบาดแผลในจิตใจของคนที่ยังมีชีวิตผ่านคติธรรมที่สอดแทรกมา ชวนให้เหล่าคนดูได้กลับมาย้อนมองชีวิตของตัวเองไม่ต่างกัน
“เอาคนตายเป็นครู คนอยู่เป็นนักเรียน”
ก่อนเลื่อนลงไปอ่าน โปรดทราบว่าเนื้อหาต่อไปนี้ มีการเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนจากภาพยนตร์
สัปเหร่อ ตัวตนที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านบทภาพยนตร์
ในภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ เราจะเห็นตัวละครอย่างศักดิ์ สัปเหร่อผู้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญจากการประกอบพิธีศพให้คนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ศักดิ์เป็นตัวละครที่สำคัญมากภายในเรื่อง เพราะเนื้อหาของจักรวาลไทบ้านในภาคนี้คือการพูดถึงเรื่องราวของความเชื่อ และการทำพิธีเกี่ยวกับศพตั้งแต่การจัดการศพไปจนถึงการณาปนกิจ
หากมองสัปเหร่อในมุมมองของคนเมือง อาจเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำหน้าที่จัดการศพ และดำเนินพิธีให้เกิดความราบรื่น แต่ภายในภาพยนตร์ กลับสร้างพื้นที่ให้สัปเหร่อในชุมชนพื้นถิ่นภาคอีสานมีตัวตนขึ้นมา บทบาทของสัปเหร่อในชุมชนพื้นถิ่นจึงมีความสำคัญในฐานะของผู้ที่ทำหน้าที่จัดการพิธีศพให้เรียบร้อย ให้ถูกต้องให้ตามประเพณีของท้องที่นั้น ๆ นั่นหมายความว่าสัปเหร่อในพื้นที่ชุมชนพื้นถิ่น จึงต้องเป็นผู้รู้และเชี่ยวชาญในพิธีกรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างดี ซึ่งในแต่ละพื้นที่เองก็มีพิธีในการจัดการศพที่แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์กลับสะท้อนอีกด้านหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า สัปเหร่อแม้จะทำหน้าที่เพื่อชุมชนและคนในท้องที่ แต่กลับไม่ได้เป็นหน้าที่ที่ใครก็อยากทำ แรกเริ่มเดิมที่เจิดซึ่งเป็นลูกชายของศักดิ์ไม่ได้ต้องการที่จะมาทำหน้าที่ในการเป็นสัปเหร่อแต่แรก เขาพยายามหาคนเข้ามาทำงานแทนที่ด้วยวิธีการต่าง ๆ นา ๆ ทั้งประกาศผ่านเสียงตามสายชุมชนก็ดี หรือจะเดินสายแล้วก็ดี ก็ไม่มีใครที่สนใจจะมาทำแทนพ่อของเขาเลย
เรื่องของการทำหน้าที่สัปเหร่อ ยังถูกพูดในบทภาพยนตร์อย่างชัดเจน ก่อนหน้าที่เจิดจะตบปากรับคำว่าจะเป็นสัปเหร่อแทนผู้เป็นพ่อนั้น เจิดเคยขอให้พ่อของเขาได้มีเวลาพักผ่อนบ้าง ศักดิ์ให้คำตอบกลับมาว่า หน้าที่การเป็นสัปเหร่อไม่ได้ทำแค่ในชุมชนใดชุมชนเดียว หรือหมู่บ้านใดหมู่บ้านเดียว แต่ขยายไปทั่วพื้นที่ในละแวกใกล้เคียงไปอีกในหลายหมู่บ้าน หรือบางทีอาจข้ามตำบล ในขณะเดียวกันหน้าที่สัปเหร่อกลับมีแค่ศักดิ์เท่านั้น สะท้อนให้เห็นภาพว่า หน้าที่สัปเหร่อมีจำนวนน้อย ขณะที่เงินก็ไม่แน่นอน แต่กลับมีภาระงานที่เยอะ สิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลที่เจิดจำต้องมารับหน้าที่เพื่อให้พ่อได้พักบ้าง
พิธีกรรม และความเชื่อ “เพื่อคนที่อยู่ หรือคนที่ตาย ?”
พิธีกรรมภายในภาพยนตร์ถูกถ่ายทอดในความหมายของประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาเพื่อให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ แสดงออกถึงคนที่จากไป มีความลื่นไหล และเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์และอัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิต ขึ้นอยู่กับว่าผู้จัดอยากแสดงความรักถึงคนที่จากไปอย่างไร
ช่วงหนึ่งหนังตั้งคำถามว่า หากศพที่ต้องนำไปประกอบพิธีมีหลายศาสนา จะมีวิธีการที่แตกต่างอย่างไรบ้าง แล้วถ้าเกิดศพนั้นเป็นคนเลวชนิดที่ยากจะให้อภัย ทำไมถึงยังต้องกล่าวถึงคุณงามความดีของเขาอีก แล้วถ้าศพนั้นคือหมาซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักหละ ทำไมถึงนำมาประกอบพิธีเหมือนกับคน แถมยังดูยิ่งใหญ่กว่าคนเสียอีกด้วยซ้ำ
งานศพของวัยรุ่นนักบิดมอเตอร์ไซค์ จัดขึ้นโดยมีเหล่าแก๊งบิดเครื่องยนต์ส่ง งานศพของคนคริสต์และอิสลามจัดขึ้นตามศาสนพิธีที่ต่างกัน งานศพของสุนัขจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ประดับประดาเพราะเจ้าของรักสุนัขตัวนี้ไม่ต่างจากที่เขามองมันเหมือนคน ๆ หนึ่ง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์อยากถ่ายทอดออกมาให้เห็นว่า ไม่ว่าจะคนศาสนาไหน เพศอะไร ทำดีชั่วมากแค่ไหน หรือเป็นสัตว์เลี้ยงของใคร สุดท้ายก็ล้วนต้องตายเหมือนกัน แตกต่างเพียงรูปแบบของพิธีกรรมที่จัดขึ้นโดยคนที่ยังอยู่ แสดงถึงความรักและสิ่งสุดท้ายของคนที่ยังอยู่จะมอบให้ได้
นอกจากนี้ หนังยังดำเนินเรื่องผ่าน ‘เซียง’ ซึ่งเป็นตัวละครที่ยึดติดกับ ‘ใบข้าว’ แฟนเก่าที่เสียชีวิตไปแล้ว ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นว่าเซียงนั้นพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้เขาได้พบเจอใบข้าวอีกครั้ง ไม่ว่าจะนำน้ำตาหมาดำมาหยอดตาบ้าง สวมชุดของคนตายบ้าง ก็ไม่พบกับใบข้าวอยู่ดี แต่นั้นกลับทำให้เซียงหมกมุ่นกับการเจอใบข้าวมากขึ้นกว่าเดิมแม้จะต้องพบเจอกับความเสี่ยงมากขึ้นก็ตาม หนึ่งในความเชื่อที่ภาพยนตร์เรื่องนี้หยิบมาใช้เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกของคนเป็นและคนตาย คือ ‘การถอดจิต’
ประเด็นเรื่องการถอดจิตของเรื่องสัปเหร่อ คือความพยายามที่จะสื่อสารกับโลกอีกฝั่งหนึ่ง โดยกำหนดเงื่อนไขที่เหมือนกฎที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งก็ได้ผลจริง เซียงได้พบเจอกับใบข้าวอีกครั้ง แต่นั่นแทนที่จะเป็นการพบเจอเพื่อบอกลา กลับกลายเป็นการเหนี่ยวรั้งตัวของเซียงเองที่ไม่สามารถปล่อยใบข้าวไปได้สักที
ภาพยนตร์ยังพูดถึง ‘พิธีกรรมตัดสายแนน’ และแบ่งเว้นคนเป็นคนตาย ซึ่งเป็นพิธีสำหรับการตัดสายสัมพันธ์ระหว่างคนที่ยังมีชีวิตอยู่กับคนตาย ซึ่งเซียงเองถึงแม้จะร่วมงานด้วย แต่ระหว่างประกอบพิธีก็ตัดไม่ขาดสักที หรือแม้แต่หลังจากขีดแส้นแบ่งกั้นระหว่างคนเป็นคนตาย โดยมีข้อห้ามไม่ให้หันหลังกลับไปมอง เซียงก็หันกลับไปอาลัยอาวรณ์โดยไม่สนว่าการละเมิดธรรมเนียมความเชื่อที่ปฏิบัติมาจะนำไปสู่สิ่งเลวร้ายใดก็ตาม
ในแง่หนึ่ง หากเรามองไปที่การถอดจิต กับพิธีตัดสายแนน จะเห็นว่าทั้งสองมีความแตกต่างกันในเรื่องของ ‘การยึดติด’ และ ‘การปล่อยวาง’ แม้จะถอดจิตไปเจอคนตายได้แต่หนังกลับตั้งถามต่อว่า การพบเจอในรูปแบบดังกล่าวเป็นสิ่งที่กระทำฝืนสัจธรรมของมนุษย์หรือไม่ เช่นเดียวกับฉากน้ำตกที่เซียงกับใบข้าวได้ไป กลับมาสายน้ำที่ไหลย้อนกลับซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น ขณะที่พิธีตัดสายแนน กลับเป็นเหมือนพิธีที่ทำเพื่ออำลาเป็นครั้งสุดท้านก่อนจะฌาปนกิจ เพื่อแยกคนอยู่กับคนตายออกจากกัน ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์สัปเหร่อต้องการนำเสนอด้วยการนำพิธีกรรมมาเป็นสิ่งที่เชื่อมให้คนที่มีชีวิตอยู่ได้เรียนรู้จากคนที่ตายไปแล้ว “เอาคนตายเป็นครู คนอยู่เป็นนักเรียน”
ภาพยนตร์สัปเหร่อกับมุมมองของชีวิตที่สะท้อนกลับมายังผู้ชม
“ทำไมเราถึงทำสิ่งต่าง ๆ ให้ตอนที่เขาตายไปแล้ว” นี่คือสิ่งที่สัปเหร่อสื่อสารออกมาตลอดการดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนาของตัวละคร โดยเฉพาะศักดิ์กับเจิด ซึ่งมีสถานการณ์ที่จำต้องพูดถึง เพราะเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของสัปเหร่อที่จะต้องเข้าใจสัจธรรมบางอย่างเกี่ยวกับความตาย
ศักดิ์เล่าให้ลูกชายฟังระหว่างที่พบเห็นการนำอาหารไปวางแล้วเคาะโลงเพื่อเรียกคนตายมากินในทำนองว่า เป็นอุบายการสอนอย่างหนึ่งให้รู้จักที่จะชวนครอบครัว ชวนเขามากินข้าวด้วยกัน อย่ารอจนตายแล้วค่อยเคาะโลงเรียกมากินข้าว เพราะยังไงเราก็ไม่รู้หรอกว่า เราเคาะโลงไปแล้วเขาจะได้กินไหม
อย่างไรก็ดี ช่วงท้ายเรื่อง การเคาะโลงก็ถูกนำมาใช้อีกครั้ง แต่กลับเป็นเจิดเองที่ต้องเคาะโลงเรียกพ่อของเขา พ่อของเจิดจากไปโดยที่เจิดไม่ทันได้บอกลาสักคำ นั่นคือสัจธรรมของชีวิตที่ทุก ๆ คน ล้วนแต่ต้องพบเจอ มิอาจฝืนจากความตายที่ย่างกลายเข้ามา พิธีกรรมก็เข้ามาทำหน้าที่ในระดับจิตใจเพื่อเยียวยาบาดแผลจากการจากลาของคนที่ยังมีชีวิต เพื่อเรียนรู้และรู้จักที่จะใส่ใจและให้ความสำคัญกับคนรอบข้างเราที่ยังอยู่
แม้ว้าเจิดจะไม่ทันได้บอกลาศักดิ์ แต่เจิดกลับได้อะไรมาจากศักดิ์เยอะแยะมากมาย และเช่นเดียวกัน ศักดิ์ได้เห็นการเติบโตของเจิดและความหวังดีที่ลูกอยากกระทำต่อพ่อ และบทเรียนสุดท้ายที่พ่อจะบอกกับลูกชายของเขาคือ “ความตายมันบ่แม่นจุดจบ” เพราะ “ความฮักมันบ่ได้ตายไปกับคนฮัก”
ความจริงหนึ่งข้อที่ปรากฎชัดที่สุดก็คือ คนที่ตายเขาจากเราไป แต่ความรักมันไม่ได้เลือนจากหายไป เพาะคนที่มียังมีชีวิตอยู่ต่างหากที่ยังคงเก็บไว้ หากใช้ความรักนี้ก่อเกิดจนเป็นการยึดติดหรือผูกไว้ ก็ไม่ใช่ผีหรอกที่ไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้เพราะมีคนเหนี่ยวรั้งไว้ แต่เป็นผีที่อยู่ในใจเราต่างหากที่ผูกไว้เพราะยังปล่อยเขาไปไม่ได้
“ความตายมันฆ่าเฮาได้แค่ครั้งเดียว แต่ความฮักมันฆ่าเฮาเรื่อย ๆ ๆ ๆ จนกว่าเฮาสิตายพุ้นเด้อ้าย”
การจากลาที่ดีที่สุด จึงเป็นการปฏิบัติกับคนรอบข้างให้ดีที่สุดตั้งแต่เขายังอยู่ เพราะเราไม่รู้ว่าวันหนึ่งเขาจะจากไปเมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยเราก็เรียนรู้ที่มอบความรักให้คนที่อยู่ และจำต้องปล่อยวางเมื่อวันหนึ่งต้องจากกัน
“บ่เป็นหยัง บ่จากมื้อนี้ มื้อหน่ากะจากกันคือเก่า”
ขอบคุณภาพ ไทบ้าน สตูดิโอ และ ต้องเต ธิติ
ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข