แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ตัวช่วยแก้ปัญหา เมือง ให้ “กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”
“กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ถือเป็นเป้าหมายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การจะทำให้เมืองน่าอยู่ได้ต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยที่สะสมมาอย่างยาวนาน ผู้ว่าฯ กทม. จึงหยิบยกแพลตฟอร์ม Traffy Fondue มาเป็นหนึ่งในตัวช่วยแก้ปัญหาเมืองให้ชาวกรุงเทพฯ
The Reporters พามาทำความรู้จักกับ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของกรุงเทพมหานคร ถึงจุดเริ่มต้น แนวคิด และอนาคตของ Traffy Fondue
“มีไม่กี่ครั้งในช่วงชีวิตที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งทำให้เมืองน่าอยู่ และทำสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับคนหมู่มาก”
ดร.วสันต์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็น Traffy Fondue ว่า เมื่อ 6 ปีก่อน NECTEC ได้รับงบประมาณให้พัฒนาระบบบริหารจัดเก็บขยะในโครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ โดยติดเซ็นเซอร์ไว้ที่รถเก็บขยะ แต่พบปัญหาขยะเกลื่อนกลาด ขยะนอกถัง ที่เซ็นเซอร์ไม่สามารถตรวจจับได้ ดังนั้นเซ็นเซอร์ที่รู้ปัญหาดีที่สุดคือ ประชาชนในพื้นที่ (Human Sensor) ที่สามารถรายงานปัญหาได้ทันที จึงเกิดแนวคิดพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อแก้ปัญหาเมือง โดยนำเทคโนโลยี Crowdsourcing มาใช้ ซึ่งเป็นการกระจาย (sourcing) ปัญหาไปยังกลุ่มคน (crowd) เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา
ที่มาของชื่อ Traffy Fondue มาจากทีมงานช่วยกันคิด “Fondue” มาจากคำว่า “ฟ้องดู” ซึ่งอาจเป็นคำที่ทำให้หน่วยงานที่นำแพลตฟอร์มไปใช้รู้สึกผิด หรือรู้สึกเหมือนถูกฟ้อง จึงปรับเป็น “ฟองดูว์” ให้เหมือนภาษาอังกฤษ
เริ่มแรก Traffy Foundue เป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน แต่ผู้สูงอายุไม่สามารถโหลดแอปพลิเคชันได้ จึงขยายให้บริการผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ที่ผู้แจ้งสามารถส่งรายละเอียด ภาพถ่าย พิกัดตำแหน่ง และตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาได้ด้วย ปัจจุบัน Traffy Fondue มีผู้ใช้งาน 3 ประเภท ได้แก่ ผู้แจ้ง เจ้าหน้าที่-หน่วยงานที่แก้ปัญหา และผู้บริหาร มีเรื่องร้องเรียนแล้ว 58,980 เรื่อง แก้ปัญหาเสร็จสิ้นแล้ว 21,772 เรื่อง
กระบวนการรับแจ้งเหตุของ Traffy Fondue หลังระบบได้รายละเอียด ตำแหน่ง และภาพ AI จะเริ่มประมวลผลเพื่อจำแนกประเภทปัญหา และจำแนกพื้นที่เขต หากเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ทันที สำนักงานเขตจะส่งต่อปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเป็นปัญหาที่ต้องรอการแก้ไข จะส่งเรื่องไปยังหน่วยงานอื่นให้ดำเนินการต่อ โดยอนาคตจะพัฒนาระบบ AI ให้รองรับขั้นตอนการส่งต่อปัญหาด้วย
ดร.วสันต์ ระบุว่า มีทีมงานดูแลแพลตฟอร์มประมาณ 10 คน แบ่งเป็น ระบบหลังบ้าน แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เว็บไซต์ ไลน์ ดาต้าเบส และแดชบอร์ด ปัจจุบัน Traffy Fondue ถูกนำไปใช้ในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 700 แห่ง จากทั้งหมด 7,800 แห่ง ในจำนวนนี้เป็น Active User เพียง 100 แห่ง เพราะประชาชนและหน่วยงานยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม
Traffy Fondue เริ่มโด่งดัง เมื่อนายชัชชาติ โพสต์ข้อความเชิญชวนชาวกรุงเทพฯ มาแจ้งปัญหา เมื่อคืนวันที่ 29 พ.ค.65 ทำให้มีผู้แจ้งปัญหาเข้ามาราว 4,000 เรื่องต่อวัน เฉลี่ยนาทีละ 2-3 เรื่อง ระยะแรกระบบไม่สบายบ้าง แต่ภายใน 1 เดือนได้เพิ่มพลังระบบคลาวด์ CPU และหน่วยความจำขึ้น 5-10 เท่า ทั้งยังพัฒนาระบบทุกวัน เพื่อให้เพียงพอต่อผู้ใช้งานหลักแสนคน ล่าสุดมีหลายหน่วยงานติดต่อขอใช้แพลตฟอร์มแล้ว อาทิ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ราชการ และบริษัท ท่าอากาศยานไทย
ดร.วสันต์ กล่าวถึงอนาคตของ Traffy Fondue ว่า จะพัฒนาระบบให้เก่งขึ้น ขยายให้สามารถส่งวิดิโอ ส่งรูปได้หลายรูป พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามความคืบหน้าของปัญหา และดูประวัติการแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ทันที หากเป็นไปได้อยากใช้ Traffy Fondue เป็นแพลตฟอร์มสำหรับจัดการงบประมาณ ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่การเสนอของบประมาณ การอนุมัติ การจัดสรร การจัดซื้อจัดจ้าง และติดตามการใช้งบประมาณของแต่ละหน่วยงาน ลดความซ้ำซ้อนและไม่โปร่งใสในระบบ
“ภูมิใจมาก แม้ทีมงานจะนอนเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ตีสองมาเดือนหนึ่งแล้ว เพราะเร่งพัฒนาระบบให้อยู่ดีมีสุข พัฒนาฟีเจอร์ที่ประชาชน หน่วยงาน และผู้บริหารต้องการ”
เรื่อง: ณัฐพร สร้อยจำปา
ภาพ: ศุภสัณห์ กันณรงค์