FEATURE

Sandwich Generation กับภาระที่ทับถมจากสภาวะเศรษฐกิจ และสังคมสูงวัย

‘แซนด์วิช เจเนอเรชั่น’ (Sandwich Generation) เป็นคำใช้เรียกกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลางที่ต้องรับผิดชอบดูแลทั้งพ่อแม่สูงอายุและลูกของตนเอง ทั้งทางการเงิน ร่างกาย และทรัพยากรด้านอื่น ๆ จากผลการศึกษากลุ่ม Sandwich Generation ในสหรัฐอเมริกาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) พบว่ามีประชากรเกือบ 1 ใน 4 ของประเทศที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และเด็กที่มีอายุต่ากว่า 18 ปีในเวลาเดียวกัน มีปัญหาทางการเงินเพิ่มเป็นสองเท่าของประชากรทั่วไป รวมถึงมีแนวโน้มเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต

ในบริบทของครอบครัวในสังคมไทย พบว่าในกลุ่มครอบครัวขยายจะมีลักษณะใกล้เคียงกับครัวเรือน Sandwich ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบลักษณะที่น่าสนใจดังนี้

1. ครัวเรือนไทยที่มีลักษณะเป็น Sandwich มีทั้งสิ้น 3.4 ล้านครัวเรือนในปี 2566 คิดเป็นร้อยละ 14.0 ของครัวเรือนทั้งหมด

ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนอาศัยอยู่กับลูกและหลาน โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 75.4 ของครัวเรือน Sandwich ทั้งหมด รองลงมาเป็นครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนต้องดูแลพ่อแม่และลูกของตนเอง มีสัดส่วนร้อยละ 20.1 ทั้งนี้ ครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนอาศัยอยู่กับลูกและหลานกว่าร้อยละ 63.3 มีหัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้สูงอายุ

2. ครัวเรือน Sandwich แม้สมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นวัยแรงงาน แต่มีอัตราการพึ่งพิงสูง

ปี 2566 วัยแรงงานมีสัดส่วนร้อยละ 53.8 ขณะที่วัยสูงอายุมีสัดส่วนร้อยละ 21.8 และเด็กมีสัดส่วนร้อยละ 24.3 ทั้งนี้ วัยสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่วัยแรงงาน มีสัดส่วนลดลง ส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงของครัวเรือน Sandwich มีสัดส่วนสูงขึ้น

3. สมาชิกในครัวเรือน Sandwich ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ

ทำให้ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ขาดหลักประกันรายได้ที่มั่นคงในยามเกษียณ ขณะเดียวกัน ครัวเรือน Sandwich ยังเป็นกลุ่มที่มีทรัพย์สินทางการเงินเพื่อการออมน้อย โดยร้อยละ 41.8 ของครัวเรือน Sandwich มีเงินออมมูลค่าน้อยกว่า 20,000 บาทต่อครัวเรือน ทำให้เมื่อสูงวัยจะต้องพึ่งพาสวัสดิการจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ

4. ครัวเรือน Sandwich มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงกว่าคนกลุ่มอื่น

โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 31,452 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ขณะที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 39,414 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ทั้งนี้ การที่แรงงานในครัวเรือน Sandwich มีรายได้ไม่สูงนัก ส่วนหนึ่งมาจากการมีระดับการศึกษาต่ำ โดยร้อยละ 57.7 ของสมาชิกในครัวเรือน Sandwich จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า และมีเพียงร้อยละ 12.7 ที่จบการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป

ปัญหาของคนที่ต้องเป็นคนแก้ปัญหา

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์สังคมสูงวัยและวัยแรงงานที่ลดลง ส่งผลให้ Sandwich Generation มีภาระและเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งปัญหาสุขภาพ และปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ปัญหาและภาระที่คน Sandwich Generation ต้องเผชิญค่อนข้างหนักเมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่น นอกจากจะส่งผลต่อตนเองแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อสังคมภาพรวม จึงต้องมีแนวทางในการลดภาระที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือน Sandwich โดยเฉพาะ

1. ความเปราะบางทางการเงิน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ต้องดูแลวัยสูงอายุและวัยเด็ก ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น นำไปสู่การมีภาระหนี้สิน และจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการเงินในระยะยาว

2. ผลกระทบต่อสุขภาพ วัยแรงงานในครัวเรือน Sandwich มีภาวะเครียด/นอนไม่หลับ ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับวัยแรงงานทั้งประเทศที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.6 ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้คน Sandwich Generation มีปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการต้องจัดสรรเวลาในการทำงานและดูแลสมาชิกในครัวเรือนไปพร้อมกัน นอกจากนี้ คน Sandwich Generation จะต้องใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 13 ชั่วโมงต่อวัน ในการทำงาน รวมถึงดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดความเครียด และเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง และ NCDs

สภาพัฒน์ได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับการลดปัญหาให้กับกลุ่ม Sandwich Generation ไว้ดังนี้

1. ส่งเสริมทักษะทางการเงิน ตั้งแต่ก่อนวัยเกษียณ ทั้งทักษะความรู้และการบริหารจัดการทางการเงิน รวมถึงการป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ซึ่งอาจจูงใจให้เข้าร่วมกองทุนการออมแห่งชาติ ส่วนแรงงานในระบบควรมีรูปแบบการออมเพิ่มเติมนอกเหนือจากภาคบังคับ เพื่อลดปัญหาทางการเงินจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งต้องส่งเสริมทักษะ การบริหารจัดการเมื่อมีหนี้สิน เพื่อให้สามารถปลดหนี้ได้เร็วหรือไม่ติดกับดักหนี้

2. ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ ผ่านการฝึกอบรมทักษะแรงงานผู้สูงอายุพร้อมกับการจับคู่งานเชิงรุก เพื่อให้ตรงกับความต้องการของนายจ้าง รวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนหรือสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ ด้านนายจ้าง ภาครัฐอาจให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นให้นายจ้างเข้าร่วมมาตรการจูงใจทางภาษี

3. การใช้บริการผู้ช่วยดูแล (Care Assistant) และเทคโนโลยีในการดูแลสมาชิกในครัวเรือน ในครัวเรือนที่ไม่มีปัญหาทางการเงิน

4. สนับสนุนศูนย์ดูแลเด็กและผู้สูงอายุ โดยเน้นปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กและศูนย์บริการผู้สูงอายุของภาครัฐหรือการสนับสนุนภาคธุรกิจสำหรับการดำเนินกิจการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ

จากข้อมูลทั้งหมด หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังก้าวสู่การเป็น Sandwich Generation จึงควรเตรียมตัว และเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat