FEATURE

ความรุนแรงในคู่สัมพันธ์ ปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย

ปัญหาการใช้ความรุนแรงในความสัมพันธ์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ผู้คนมักจะมองข้าม หรือไม่ให้ความสนใจ เพราะมายาคติในหลายเรื่องของสังคม ไม่ว่าจะเป็น การมองความรุนแรงในชีวิตรักเป็นเรื่องของคนสองคน วาทกรรมเรื่องการสอใส่เผือกเรื่องของชาวบ้านที่ไม่ควรเข้าไปยุ่ง หรือแม้แต่การมองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติในสังคม ซึ่งการปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้น มักจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงที่หนักยิ่งขึ้นจนถึงขั้นจบลงที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องของความรุนแรงมักจะปรากฎในความสัมพันธ์แบบครอบครัวก็ตาม แต่ความรุนแรงในหลายครั้งปรากฏออกมาตั้งแต่ความสัมพันธ์แบบคู่รัก โดยที่เราไม่รู้ตัว หรือสามารถแยกได้ว่า พฤติกรรมแบบใดคือสัญญาณของการใช้ความรุนแรงที่หากปล่อยไว้ อาจค่อย ๆ ก่อตัวไปสู่การใช้กำลังทำร้ายร่างกาย ซึ่งที่น่ากังวลคือ ในปัจจุบันการใช้ความรุนแรงระหว่างคู่รักที่ปรากฏตามหน้าสื่อ หรือเคสต่าง ๆ กลับทวีเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ ความรุนแรงส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากฝ่ายชายที่เป็นผู้กระทำ ขณะที่ผู้ถูกกระทำตกอยู่ในสถานะที่ยากต่อการออกมาจากความสัมพันธ์ เนื่องจากทัศนคติเรื่องชายเป็นใหญ่ เรื่องอำนาจที่เหนือกว่า หรือเรื่องความเป็นเจ้าของ ที่ยังคงฝังรากลึกลงอยู่ในสังคมไทย

อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ว่า ทัศนคติระบบคิดชายเป็นใหญ่ที่ยังแข็งแรง ประกอบกับความคิดเรื่อวครอบครัวเองที่ต้องสมบูรณ์ (พ่อ-แม่-ลูก) เรื่องเหล่านี้เป็นมายาคติที่ถูกปลูกฝัง ยิ่งทำให้เวลาเกิดปัญหาความรุนแรง ไม่ค่อยผู้หญิงคนไหนลุกออกมาจากความสัมพันธ์ในครั้งแรก ๆ สุดท้ายผู้หญิงเองก็กลับไปให้โอกาส เมื่อให้โอกาสก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม กลายเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นวงจรซ้ำ ๆ

ดังนั้นแล้ว การแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรง แน่นอนว่าปัญหามักเกิดจากตัวของบุคคลผู้กระทำ แต่ต้องไม่ลืมว่า สังคมไทยยังคงเปิดพื้นที่ให้การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นแบบวนเวียนจนยากที่จะแก้เพียงตัวบุคคล โครงสร้างทางสังคมที่ผลิตซ้ำทัศนคติหลากหลายปัจจัยหล่อหลอมชุดความคิดของผู้คนซึมซับการกระทำที่รุนแรงโดยไม่รู้ตัว

การแก้ปัญหาจึงต้องทำหลากหลายส่วน แม้แต่การแก้ไขกฎหมายที่บางอย่างยังเปิดช่องให้ผู้กระทำยังคงทำซ้ำไปมาก็ดี รวมถึงการตีความวัตถุประสงค์ของกฎหมายเสียใหม่ว่า ‘การไกล่เกลี่ย’ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาสำหรับทุกคู่ แต่ต้องฟังเสียงของผู้ถูกกระทำด้วยว่า เขาต้องการเดินต่อไปแบบไหน อย่างน้อยที่สุด ให้เขาได้มีอำนาจที่จะกล้าลุกขึ้นมาตัดสินใจมากขึ้น เพื่อให้เขาได้กำหนดหนทางชีวิตด้วยตัวเองต่อไป

การใช้อำนาจในคู่ความสัมพันธ์ กับการผลิตซ้ำวงจรความรุนแรงในสังคมไทย

หลายคนมักเข้าใจว่าความรุนแรง เป็นเรื่องของการใช้กำลัง หรือการทำร้ายร่างกาย แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรุนแรงเท่านั้น ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ระบุไว้ว่า ความรุนแรงในครอบครัว หมายถึง การกระทําใด ๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทําโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ ของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทําการ ไม่กระทําการ หรือยอมรับการกระทําอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ

หากตีความตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว นั่นหมายความว่า การใช้ความรุนแรง เป็นการกระทำในทางที่ก่อให้เกิดอันตรายทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ดังนั้น การข่มขู่ หรือการบังคับให้อีกฝ่ายกลัวแล้วยอมทำ หรือการใช้วาจาทำร้ายจิตใจ ถือเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราจะเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไปเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจครอบงำอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีหลายคนที่มองว่าการใช้ความรุนแรงเพียงเล็กน้อย เป็นเรื่องที่มองข้ามกันได้ แต่ปัญหาเหล่านี้ยิ่งสะสมไปนานวันเข้า หรือฝั่งผู้ที่ใช้ความรุนแรงซ้ำ ๆ มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาเหล่านี้จะมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเข้าใจว่า ‘เป็นเรื่องปกติ’ หรือมองว่า “ฉันทำได้ ก็เคยทำมาแล้วไม่เห็นจะเป็นอะไร” ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้พบได้ในความสัมพันธ์คู่รักทุกรูปแบบ ไม่จำกัดเฉพาะคู่รักที่เป็นสามี-ภรรยากันแล้วเท่านั้น

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ทางสังคมประจำปี 2567 โดยสำนักงานปลักกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทั้งหมด 2,312 คน ส่วนใหญ่ คือ เพศหญิง 1,928 คน ถึงแม้ว่าจะลดลงจากรายงานปี 2566 ซึ่งมีผู้ถูกกระทำทั้งหมด 2,347 คน แต่ตัวเลขดังกล่าวมีความแตกต่างที่ใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยกลางคน (36-59 ปี) 874 คน รองลงมาคือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (19-35 ปี) อยู่ที่ 740 คน เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวเลขดังกล่าว สะท้อนถึงช่วงวัยทำงานที่ผู้หญิงต้องเริ่มมีภาระดูแลความสัมพันธ์ในครอบครัว ยากต่อการออกจากความวงจรความสัมพันธ์ได้แม้จะถูกใช้ความรุนแรงก็ตาม

ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเก็บรวบรวมผ่านข่าว และเคสที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลให้การช่วยเหลือ สะท้อนให้เห็นว่าสถิติการใช้ความรุนแรงทำร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งปรากฎการณ์ความรุนแรงในคู่รักมีเพิ่มมากขึ้น ที่ไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์แบบสามี-ภรรยา เพียงอย่างเดียว

อังคณา กล่าวว่า เรื่องของความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องอำนาจที่ยังมีอยู่ในครอบครัว โดยที่ผู้ชายคือผู้ที่กระทำเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งทัศนคติเรื่อง ‘ชายเป็นใหญ่’ เรื่อง ‘อำนาจที่เหนือกว่า’ หรือเรื่อง ‘ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ’ ยังคงแข็งแรงอยู่ในสังคมไทย ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญอันดับแรก ๆ ของความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะว่าผู้ชายบางคนไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้เสพสารเสพติด แต่ก็ยังใช้ความรุนแรงกับครอบครัว หรือกับคู่รักเหมือนกัน

“แม้ว่าผู้หญิงจะมีสถานะทางสังคมที่มากขึ้นก็ตาม แต่ว่าเวลาที่ผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรง ผู้หญิงเองก็ยังมีภาวะในเรื่องของความกลัว ความอาย ความวิตกกังวล ที่จะไปสื่อสารในเรื่องเหล่านี้ ประกอบกับครอบครัวเองก็ยังรู้สึกว่าจำเป็นจะต้องครอบครัวที่สมบูรณ์ ผู้หญิงหลายคนก็ยังรู้สึกว่าถ้าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ต้องมีพ่อแม่ลูก เรื่องเหล่านี้ที่เป็นทัศนคติ เป็นมายาคติที่ถูกปลูกฝังในผู้หญิง และผู้ชายที่ยังต่างกัน” อังคณา กล่าว

อังคณา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากชุดความคิดเหล่านี้ที่ฝังรากลึกอยุ่ในสังคมไทย ส่งผลให้ผู้ที่ตกอยู่สถานการณืของความรุนแรง โดยเฉพาะผู้หญิง ทำให้ไม่ค่อยมีผู้หญิงคนไหนลุกออกมาจากความสัมพันธ์ในครั้งแรก ๆ สุดท้ายผู้หญิงก็กลับไปให้โอกาส เมื่อให้โอกาสก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม สุดท้ายกลายเป็นวงจรเรื่องของความรุนแรงที่เป็นวงจรกระทำซ้ำ ซึ่งวงจรความรุนแรงที่ปรากฎ เริ่มต้นจาก

วงจรที่ 1 ความรุนแรงครุกรุ่น ซึ่งมี 9 สัญญาณที่นำไปสู่ปัญหาที่ค่อย ๆ กเพิ่มความรุนแรงไปสู่วงจรต่อไป โดย 9 สัญญาณ ประกอบด้วย การเพิกเฉย, แบล็กเมล์, ทำให้อับอายขายหน้า, พยายามปั่นหัว, หึงหวง, ควบคุม, รุกราน, ตัดขาด และข่มขู่

วงจรที่ 2 การทำร้ายกัน เช่น การด่ากัน ตีกัน หรือใช้ความรุนแรงต่อกัน

วงจรที่ 3 การตามง้อขอคืนดี และการให้โอกาส

“ผู้หญิงหลาย ๆ คน อยู่ภายใต้วงจรนี้ซ้ำไปซ้ำมากับการให้โอกาส ส่วนหนึ่งผู้หญิงเองก็คิดว่า ถ้าเราให้โอกาส ถ้าเราเป็นผู้หญิงที่ดี เราเสียสละ เราอดทน ผู้ชายจะเปลี่ยนได้ ซึ่งทัศนคติ และความเชื่อแบบนี้ก็ยังมีอยู่ในตัวผู้หญิง ประกอบกับความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ เลยทำให้ผู้หญิงต้องอดทนกับเรื่องเหล่านั้น ผู้ชายเองก็มีทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ ก็เลยยิ่งทำให้สถานการณ์มันรุนแรงมากขึ้น” หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าว

ครอบครัวที่ดีจำเป็นต้องสมบูรณ์จริงหรือ?

เมื่อพูดถึงความหมายของคำว่าครอบครัว ย้อนกลับไปสมัยที่ผมยังเป็นนักเรียน จำความได้ว่าแบบเรียนมักนำเสนอภาพของครอบครัวว่าต้องมี พ่อแม่ลูก อยู่กันพร้อมหน้า ขณะที่เพื่อในห้องผมที่เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว มักถูกเพื่อนในชั้นบูลลี่ หรือล้อในทุก ๆ วัน การที่พ่อแม่หย่ากัน เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนสำหรับเด็กมาก ซึ่งพ่อแม่ของผมเองก็เช่นกัน

เท่าที่ผมจำความได้ พ่อของผมหายออกจากบ้านไปตั้งแต่ผมอายุ 9 ขวบ ทิ้งแม่ของผมให้เลี้ยงดูผม กับน้องสาวอายุ 7 ขวบ อยู่กัน 3 คน ในบ้านเช่าหลังหนึ่ง โดยที่ผมไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าพ่อหายตัวไปไหน รู้ตัวอีกทีก็ตอนที่พ่อกลับมาเมื่อผมอายุ 11 ขวบ สุดท้ายพ่อและแม่ผมก็แยกทางกัน

ความโชคดีของผมคือผมสนิทกับญาติฝั่งพ่อ ทำให้ผมขอย้ายมาอยู่กับญาติฝั่งพ่อ และได้รับการเลี้ยงดูในแบบที่ไม่รู้สึกถึงการขาดความอบอุ่นแต่อย่างใด ผมใช้ชีวิตวัยรุ่นมัธยมโดยการนอนบ้านญาติ และบ้านแม่ แบบไป ๆ มา ๆ ตามอารมณ์ของตัวเองในแต่ละวัน แม้พ่อจะแยกทางกับแม่ แต่พ่อก็ยังส่งเสียเลี้ยงดูผมกับน้องจนสามารถเรียบจบปริญญาตรัได้ ผมไม่ได้โกรธอะไรพ่อเลย และคงนึกภาพตัวเองไม่ออกเหมือนกันว่า ถ้าไม่แยกทางกันในวันนั้น ผมจะเติบโตเป็นอย่างไร หรือบางทีภาพที่พ่อทะเลาะกับแม่ที่ผมเคยแอบเห็นอาจจะกลายเป็นภาพในความทรงจำที่ชัดเจนกว่านี้ก็ได้

ดังนั้น ครอบครัวที่สมบูรณ์ อาจไม่จำเป็นต้องอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันครบทั้งพ่อแม่ลูกก็ได้ ถ้าเราตีความนิยามความหมายของคำว่าครอบครัวที่สมบูรณ์เสียใหม่ อาจมองว่าเห็น ครอบครัวที่ดีจริง ๆ ควรเป็นครอบครัวที่พร้อมเป็นบ้านให้สมาชิกในครอบครัวได้พักผ่อนจากการเหนื่อยล้าในแต่ละวัน และที่สำคัญ ต้องเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การเติบโตของเด็กมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ถ้าครอบครัวที่เป็นอยู่ เต็มไปด้วยความรุนแรงในทุก ๆ วัน เด็กที่อยู่ในสถาบันนี้ต้องซึมซับกับความรุนแรงตั้งแต่เด็ก จนติดเป็นพฤติกรรมเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว และเมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็เป้นไปได้ว่า พวกเขาจะเผลอแสดงพฤติกรรมเหล่านี้กับคู่ความสัมพันธ์โดยที่ไม่รู้ตัว

นอกจากนี้ การที่เราตีความไปว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ต้องมีพ่อแม่ลูกพร้อมหน้าพร้อมตา บางครั้งเมื่อเกิดความรุนแรงจนไปถึงชั้นที่ดำเนินการตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะพยายามเน้นวิธีการไกล่เกลี่ยก่อน เพื่อรักษาไว้ถึงสถาบันครอบครัว โดยที่บางครั้งเมื่อไกล่เกลี่ยแล้ว วงจรของความรุนแรงไม่ได้จบไป การฟังเสียงของของผู้ถูกกระทำจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ “ผู้หญิงบางคนไม่ต้องการให้โอกาส อยากเลิก กฎหมายจึงต้องปรับโดยยึดตัวของผู้ที่ถูกกระทำเป็นสูญกลาง”

อังคณา กล่าวว่า การยุติความสัมพันธ์ ก็เพื่อให้เราปลอดภัย และลูกเราไม่ได้เห็นความรุนแรง นำไปสู่การเติบโตมาเป็นพลเมืองที่ซึมซับกับเรื่องนี้ มากกว่าที่ต้องมาทนอยู่กับสังคมที่ต้องมีพ่อแม่ลูก แต่เต็มไปด้วยความรุนแรง ผู้ใหญ่หลายคนทำไม่ได้เพราะต้องอยู่ภายใต้สังคมที่กดดัน และคาดหวังในความหมายของครอบครัวอีกแบบ แต่อย่างน้อยการมีเงื่อนไขบางอย่างที่จะทำให้เขาไม่กลับไปในความสัมพันธ์แบบเดิม เป็นสิ่งที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพยายามทำ

ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องของปัจเจก สังคมต้องพร้อมร่วมกันแก้ไข

ปัญหาความรุนแรง ไม่สามารถมองเพียงเรื่องของการกระทำที่รายบุคคลเพียงอย่างเดียวในการแก้ไข เราเข้าใจว่าปัญหาเกิดจากวาทกรรม และมายาคติ ต่าง ๆ ที่ฝังอยู่ในโครงสร้างทางสังคมไทย จนยากที่จะคลี่ปมด้วยเพียงแกะเงื่อนเดียวให้คลายออก การใช้ความรุนแรงก็เป็นผลมาจากปัจจัยทั้งสารเสพติด แอลกอฮอล์ที่เป็นตัวกระตุ้น ขณะที่ชุดความคิดเรื่องอำนาจ และชายเป็นใหญ่ ทำให้ผู้หญิงมักตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หรือแม้แต่พฤติกรรมเลียนแบบที่เกิดจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

อังคณา กล่าวว่า การแก้ปัญหาต้องแก้หลายส่วนไปพร้อม ๆ หนึ่งในงานที่มูลนิธิฯ ทำคือการ ‘Empowering Women’ ทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นมา และตั้งคำถามไปที่ผู้กระทำ หรือส่งเสียงไปถึงสังคม ไปถึงผู้กระทำว่า เป็นเรื่องของสิทธิ เป็นเรื่องเนื้อตัวร่างกาย ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับชุมชนเป็นฐาน เพื่อให้เวลาเกิดเหตุต่าง ๆ ผู้หญิงไม่ต้องวิ่งหอบลูกหนีออกมาจากบ้านในยามวิกาล แต่ชุมชนพร้อมทำหน้าที่จัดการ หรือช่วยเหลือเคสได้เร็วขึ้น

ด้านการแก้กฎหมาย ต้องเริ่มจากการให้คำนิยามว่า ผู้ที่กระทำความรุนแรงในครอบครัวต้องรวมไปถึงความสัมพันธ์แบบคู่รักด้วย เพื่อให้ผู้หญิงที่อยู่ในวัยที่เป็นคู่รักแบบแฟนมีช่องทางการขอคำแนะนำ ขอคำปรึกษา และใช้กฎหมายปรับพฤติกรรมผู้กระทำ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งถ้าไม่อยากให้โอกาสแล้ว ก็เลิกกัน แต่ผู้ชายบางคนยังตามรุกราน กฎหมายก็ต้องทำให้ผู้ชายห้ามเข้าใกล้ ห้ามเข้ามาข่มขู่คุกคาม กฎหมายจะเป็นตัวช่วยปกป้องผู้ที่ถูกใช้ความรุนแรงในอีกระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ การแก้ไขยังต้องมองไปถึงการแก้โครงสร้างทางความคิดในระยะยาว ระบบการศึกษาจึงจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนต่อการสร้างความเข้าใจในเรื่องของความรุนแรงเสียใหม่ ให้เข้าใจว่าเรื่องของความรุนแรงเป็นเรื่องที่อำนาจไม่เท่ากัน และไม่ใช่เพียงเรื่องของชาวบ้านที่ปล่อยให้จบอยู่ที่ชั้นไกล่เกลี่ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากทำให้ผู้หญิงมีพลังที่จะส่งเสียง และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในกระบวนการพร้อมรับฟัง อาจนำไปสู่การหลุดออกจากวงจรที่ผู้ถูกกระทำต้องเผชิญได้

“สังคมไทยไม่ได้บอกว่าเวลาที่เราจะต้องออกมาจากความสัมพันธ์นั้น เราจะต้องจัดการตัวเองยังไง หนังสือในแบบเรียนก็ไม่มี เว้นแต่เราจะต้องไปแสวงหาเอง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้หญิงบางคนไม่มีทักษะ หรือไม่มีโอกาสในการไปแสวงหาความรู้เรื่องเหล่านี้ได้” หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าว

หากเรายอมรับ หรือเปิดพื้นที่ให้ความรุนแรงถูกใช้ในบางความสัมพันธ์ ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่ต่างจากการบอกว่า เรากำลังยอมในการใช้กำลังต่อกัน ผมเล่าจากประสบการณ์ที่พบเจอ คอนโดที่ผมพักอาศัยจะมีคู่หญิง-ชาย ทะเลาะกันอยู่ลานจอดรถ อย่างน้อย ๆ ก็เดือนละครั้งที่พบเจอ พวกเขาทะเลาะกันเสียงดังสนั่นแม้ผมจะอยู่ชั้น 4 ก็ได้ยินชัด มีการตะโกน การด่า ทั้งจากฝ่ายชาย และหญิง รายละเอียกถ้อยคำผมไม่ขอเล่า

ครั้งหนึ่งผมเดินผ่านขณะที่พวกเขาทะเลาะกันช่วงสาย ๆ ของวันทำงาน ผมเหลือบเห็นเด็กหญิงตัวน้อยวัยอนุบาล สวมชุดนักเรียน ยืนดูชาย-หญิงทะเลาะกัน ผมรู้ได้ทันทีว่าเด็กน้อยเป็นลูกของพวกเขาจากบทสนทนาผสมถ้อยคำหยาบคายที่ผมได้ยิน เวลานี้เด็กน้อยควรต้องอยู่โรงเรียนได้วิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ ด้วยซ้ำ แต่กลับต้องมาซึบซับสิ่งเหล่านี้ ด้วยวัยเพียงเท่านี้ ผมเคยติดต่อนิติบุคคลเวลาที่พวกเขาทะเลาะกัน พลันได้คำตอบกลับมาเพียงว่า เคยโทรเรียกตำรวจแล้ว สุดท้ายตำรวจได้แค่เตือนและกลับไป เอาผิดอะไรไม่ได้ แล้วสุดท้ายวงจรความรุนแรงนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่เปลี่ยนแปลง

สุดท้ายนี้ เชื่อว่าเรื่องของความรุนแรงในคู่ความสัมพันธ์ยังคงยากที่จะได้แก้ไขได้เร็ววัน จะแก้ที่ต้นเหตุก็ต้องต้องใช้เวลา และความร่วมมือหลายภาคส่วน เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ฝากรากลึกในหลายส่วน จะแก้ที่ตัวบุคคลก็ยาก เพราะบุคคลที่เติบโตมาด้วยการซึบซับความรุนแรง ยากที่จะปรับได้ด้วยเวลาไม่กี่วัน หรือจะแก้ที่ปลายเหตุก็ยังลำบาก เพราะเวลาเกิดเหตุ ผู้บังคับใช้กฎหมายยังไม่สามารถเข้าไปจัดการได้อย่างครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานต่าง ๆ ก็เป็นยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงทำให้เคสต่าง ๆ ในสังคมลดลง อย่างน้อย ๆ เพื่อเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มีต่อความรุนแรงในความสัมพันธ์ใหม่ รวมถึงเปลี่ยนนิยามความหมายของครอบครัวให้เข้ากับบริบทปัจจุบันมากขึ้น ให้ได้เห็นว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ อาจหมายถึงการสร้างสภาพล้อมที่ไม่เป็นพิษให้คนในครอบครัว ให้เด็กได้เติบโตได้โดยไม่ต้องเผชิญกับความรุนแรง ให้บ้านได้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เป็นที่พักพิงทางจิตใจของคนในครอบครัวทุกคน

ภาพกิจกรรมแถลงข่าวโครงการ Abuse is Not Love ปีที่ 3 ที่ YSL Beauty แบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำภายใต้ ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดขึ้นก่อนลงพื้นที่ให้ความรู้กับนักศึกษา มหาวิทยาลัยตลอดปี 2568

อ่านเพิ่มเติม โครงการ Abuse is not love

ผู้เขียน ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat