FEATURE

ความหวังกับความจริง… อาชีพเก็บผลไม้ป่าฟินแลนด์-สวีเดน ได้เงินหลักแสนจริงหรือไม่?

“เก็บเบอร์รี่ ได้เงินแสน” เป็นอาชีพที่คนไทยหลายคนใฝ่ฝัน แต่ทว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยกลับไปไม่ถึงฝั่งฝัน ตัดสินใจไปแล้วไม่ได้รายได้ตามต้องการ กลับบ้านมือเปล่า บางรายมีหนี้สินติดตัวกลับมา  บางรายโชคดีได้ผลตอบแทนติดตัวหลักแสนบาท

อาชีพเก็บผลไม้ป่าคืออะไร มีรายได้เท่าไหร่

ประเทศฟินแลนด์ และสวีเดน เป็นสองประเทศที่คนไทยนิยมไปเก็บผลไม้ป่ามากที่สุด โดยสวีเดนจะมีระบบการจ้างงานตามฤดูกาล (Seasonal Workers) มีสหภาพแรงงานควบคุมนายจ้าง และมีการประกันรายได้ขั้นต่ำตามที่สหภาพแรงงานส่วนท้องถิ่นแห่งสวีเดนกำหนด ส่วนฟินแลนด์แม้จะยังไม่มีระบบการจ้างงานดังกล่าว แต่กระทรวงแรงงานไทย กำหนดให้บริษัทผู้ประสานงานวางเงินประกันรายได้ไว้ กรณีที่คนงานได้รับรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 30,240 บาท สามารถมาร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้นำเงินประกันมาจ่ายชดเชยได้

จากข้อมูลรับแจ้งคนงานไปทำงานเก็บผลไม้ป่าประเทศฟินแลนด์ ฤดูกาลปี 2022 ของกรมจัดหางาน พบว่ามีคนงานเก็บผลไม้ป่าประเทศฟินแลนด์ฤดูกาล ปี 2022 ทั้งสิ้น 3,622 คน  เป็นคนงานเก่า 2,301 คน มีรายได้ต่ำกว่า 30,240 บาท จำนวน 40 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.74 และเป็นคนงานใหม่ 1,361 คน มีรายได้ต่ำกว่า 30,240 บาท จำนวน 176 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.93 นอกจากนี้กรมการจัดหางานยังมีการสำรวจรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายพบว่า มีแรงงานที่รับรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 100,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 10.38 รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 50,001 – 99,999 บาท ร้อยละ 40.56 รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 30,000 – 50,000 บาท ร้อยละ 45.81 และรับรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 30,000 บาท ร้อยละ 3.25

รายได้ที่คาดหวัง กับรายได้ที่แท้จริงจากประสบการณ์แรงงานที่หนีกลับมาจากฟินแลนด์

นางสาวศิริบูรณ์ ชื่นชม คนงานเก็บเบอร์รี่ในฟินแลนด์  ให้ข้อมูลว่า เธอตัดสินใจไปทำงานเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ เพราะมีเพื่อนชักชวนบอกว่า ทำงานเพียง 3 เดือน ได้รับผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท แต่เมื่อไปทำงานจริง เธอทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 14 ชั่วโมง ถูกกักบริเวณ ความเป็นอยู่และอาหารไร้สุขลักษณะ และมีรายได้กลับไทยเพียง 289.37 ยูโร หรือประมาณ 10,755.77 บาท เท่านั้น

นางสาวศิริบูรณ์ เป็นหนึ่งในคนงานไทยที่พาเพื่อนคนงานกว่า 10 คน หนีจากแคมป์ไปแจ้งความกับตำรวจฟินแลนด์ หลังไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ระบุในสัญญา เธอบอกว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 13 ปี หากเธอไม่ลุกขึ้นสู้ ปัญหานี้คงจะไม่ได้ถูกเปิดเผย ซึ่งเธอและเพื่อนแรงงานได้รับความช่วยเหลือให้เดินทางกลับไทยจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ สาธารณรัฐฟินแลนด์

“บางคนหมดเนื้อหมดตัว กลับบ้านมือเปล่า บางคนเป็นหนี้สิน เพราะรายได้ติดลบ คนที่รายได้หลักแสนก็มี แต่ส่วนใหญ่เป็นคนเก่า เป็นเมียฝรั่งทำเป็นอาชีพเสริม บ้างก็แอบนำเหล้า บุหรี่จากไทยไปขายคนงานด้วยกันเอง”

คดีดังกล่าวเป็นคดีดังในฟินแลนด์ นำไปสู่การจับกุมนายจุกกา คริสโต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โพลาริกาออย จำกัด และนางสาวกัลยากร พงษ์พิศ  บริษัทผู้ประสานงานแรงงานไทย ในฐานค้ามนุษย์ ซึ่งตำรวจฟินแลนด์อยู่ระหว่างการสืบสวนและขยายผลหาผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความผิดหวังจากการเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในต่างประเทศ

ผู้มีประสบการณ์ และประสบความสำเร็จจากการเก็บผลไม้ป่า จนมาเป็นผู้ประกอบการ

นายรัฐธรรมนูญ มีระหันนอก ตัวแทนบริษัท เฟรนด์เบอร์รี่ จำกัด บริษัทผู้ประสานงานในสวีเดน เปิดเผยว่า เขาเติบโตมาจากคนเก็บผลไม้ป่า ก่อนจะมาเป็นผู้ประกอบการ ปัญหาคือ บริษัทประสานงานไม่เข้าใจวิธีการเก็บผลไม้ป่า จัดกลุ่มคนงานหาผลไม้โดยไม่คละคนงานเก่าและคนงานใหม่ บางพื้นที่ก็ไม่มีผลผลิต

นายรัฐธรรมนูญ แนะนำวิธีหาผลไม้ป่าในฐานะผู้มีประสบการณ์ว่า “ต้องทำอย่างโปร่งใส” หัวหน้าแคมป์และหัวหน้าคันรถต้องจดจำนวนผลไม้ที่คนงานหาได้เป็นหลักกิโลกรัม ก่อนส่งต่อไปยังบริษัทรับซื้อผลไม้ ทั้งนี้ต้องโชว์จำนวนผลไม้ ราคา ค่าใช้จ่าย อัตราแลกเปลี่ยนให้คนงานดู ก่อนโอนผลตอบแทนเข้าบัญชีของคนงานด้วย

กระทรวงแรงงานร่วมผลักดัน หาทางออกเพื่อสร้างโอกาสในอาชีพเก็บผลไม้ป่า

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงปัญหาคนงานเก็บเบอร์รี่ในฟินแลนด์ว่า เมื่อเดือนกันยายน 2565 กระทรวงแรงงานไทย บินตรงไปยังสาธารณรัฐฟินแลนด์ เพื่อขอหารือประเด็นการผลักดันให้คนงานไทยที่เก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์มีสัญญาจ้างงานได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการตามกฎหมายเช่นเดียวกับสวีเดน ซึ่งการหารือยังไม่เป็นผล และเมื่อเกิดเหตุการณ์คนงานไทยหนีจากแคมป์คนงานในฟินแลนด์กลับประเทศและร้องขอความช่วยเหลือ จึงได้มอบหมายให้นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนเจรจาร่วมกับกลุ่มตัวแทนบริษัทนายจ้างและผู้ประสานงานในประเทศไทย จากการพูดคุยพบว่า คนงานที่มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเกณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหน้าใหม่ที่ไม่เคยไปทำงานเก็บผลไม้ป่ามาก่อน และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการสื่อสารระหว่างบริษัทนายจ้าง /ผู้ประสาน และคนงาน

ผมเข้าใจทั้งผู้ประสานและคนหางานที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศเพื่อหารายได้ ผมได้สั่งการกรมการจัดหางาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ตรวจสอบสัญญาจ้างให้มีการดูแลคนหางานอย่างครอบคลุม เพราะถึงแม้คนงานจะเป็นคนงานหน้าใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ต้องการไปลองผิดลองถูกแต่ก็ไม่ควรไปทำงานแล้วเกิดหนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

หาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนการตัดสินใจ และไปผ่านช่องทางที่ถูกต้อง

จากข้อมูลทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า อาชีพเก็บผลไม้ป่าในต่างประเทศ เป็นอาชีพที่สามารถทำรายได้ (จากข้อมูลแรงงานในฤดูกาล 2022 พบว่ามีผู้ได้รับรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมากกว่า 1 แสนบาท อยู่ถึง 10.38% และ 5 หมื่น – 9.9 หมื่นถึง 40.56%) แต่ยังต้องอยู่ภายใต้การมีประสบการณ์ การเลือกหน่วยงานหรือบริษัทที่ไว้ใจได้ และการหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน ศึกษารายละเอียดต่างๆ ก่อนการตัดสินใจ รวมถึงเผื่อใจไว้สำหรับการหาประสบการณ์ เพราะยังมีผู้ที่ได้รับรายได้ 3-5 หมื่นบาท ถึง 45.81% และต่ำกว่า 3 หมื่นบาทอยู่ 3.25%

Related Posts

Send this to a friend