FEATURE

รู้จักโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ “Hoarding Disorder” แนะคนใกล้ชิดช่วยปรับพฤติกรรม

จิตแพทย์ แนะโรคนี้รักษาได้ รักษาได้ ครอบครัวคือตัวช่วยปรับพฤติกรรม หมั่นแสดงความรักความห่วงใย ทดแทนความผูกพันกับสิ่งของ ชี้ชวนปรับพฤติกรรมผู้ป่วย ด้วยการเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียจากการเก็บของ

หลายๆ บ้านต้องประสบกับปัญหาผู้สูงอายุในบ้านชอบเก็บสะสมของ ซึ่งหลายๆ ครั้งเราอาจมองว่าเป็นของไร้สาระ แต่ก็ไม่สามารถนำไปทิ้งได้ เพราะคนที่เก็บจะโมโหทุกครั้ง และมองว่าสิ่งของเหล่านั้นยังมีประโยชน์อยู่ หรือบางครั้งก็เป็นการเก็บของเก่าที่ผุผัง ใช้การไม่ได้แล้วไว้ โดยไม่สามารถทิ้งได้

จากข้อมูลพบว่า คนที่ชอบเก็บสะสมของส่วนหนึ่งกำลังป่วยด้วยโรคชอบเก็บสะสมของ (Hoarding Disorder)  โดยสัญญาณเตือนโรคนี้ เริ่มต้นตั้งแต่วัยหนุ่มสาว และจะไปทวีความรุนแรงขึ้น ในช่วงวัยกลางคนเป็นต้นไป สังเกตง่ายๆ ว่าตอนสมัยวัยรุ่น ผู้ป่วยโรคนี้มักจะเก็บข้าวของต่างๆ ทีละเล็กที่ละน้อย จนกระทั่งมีสมบัติจำนวนมาก กองอยู่มุมต่างๆ ของห้อง แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนกระทั้งเข้าสู่วัยสูงอายุ สิ่งของดังกล่าวก็จะมากขึ้นทบเท่าทวีคูณ จนไม่สามารถเดินไปเดินมาในห้องได้อย่างสะดวก หรือสิ่งของที่เก็บสะสมดังกล่าว กระทบทั้งต่อคนในครอบครัว หรือเพื่อนบ้าน และหากปล่อยให้การสะสมของส่งผลกระทบต่อผู้อื่น สิ่งที่ตามคือการทะเลาะเบาะแว้ง และทำให้อยู่ในสังคมได้อย่างยากลำบาก

The Reporter ได้สัมภาษณ์ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคชอบเก็บสะสมของไว้น่าสนใจ ทั้งการสังเกตโรค พร้อมด้วยคำแนะนำไปยังคนใกล้ชิดผู้ป่วยโรคนี้ เพื่อนำไปสู่การรักษา และปรับปรุงพฤติกรรมการสะสมของ ให้เกิดความเป็นระเบียบร้อยมากขึ้น โดยเฉพาะในรายของผู้ที่ยังไม่เข้าข่ายป่วยโรคนี้ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และการอยู่ร่วมกับสมาชิกในบ้าน และคนรอบข้างได้อย่างมีความสุข

แพทย์หญิงอัมพร ให้ข้อมูลว่า “การสะสมของนั้นมีทั้งรูปแบบของ “อาการ” และ “โรค” ซึ่งถ้าเป็นแค่ “อาการ” นั้น ก็จะเป็นลักษณะของการชอบสะสมของทั่วไป เช่น เพียงแค่รู้สึกผูกพันกับสิ่งของชิ้นนั้น หรือมีความหลังกับของชิ้นนั้น และคิดว่าถ้าเก็บไว้จะได้ใช้ประโยชน์ ที่สำคัญถ้าหากต้องทิ้งไป ก็จะรู้สึกเพียงแค่เสียของชิ้นนั้น หรือเมื่อได้เก็บของชิ้นนั้นก็จะรู้สึกอุ่นใจ

แต่ถ้าหากป่วย “เป็นโรค” ซึ่งทางการแพทย์จะเรียกว่า “Hoarding Disorder” ซึ่งถือเป็นความผิดปกติและเป็นโรคทางจิตเวช ผู้ป่วยมักจะเก็บสะสมของจำนวนมาก และเวลาที่จะทิ้งจะรู้สึกแย่ ที่สำคัญสิ่งของที่เก็บไว้ มักส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเอง และเป็นอันตรายกับคนรอบข้าง ที่สำคัญโรคเก็บสะสมของนั้น สามารถเกิดกับสัตว์เลี้ยงได้เช่นเดียวกัน ไม่เฉพาะแต่การเก็บสิ่งของเท่านั้น เช่น การที่ผู้ป่วยเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก และไม่สามารถดูแลสัตว์ได้หมด กระทั่งสัตว์เลี้ยง เป็นอันตรายต่อตัวเองและเพื่อนบ้าน

“ถ้าพูดถึงสาเหตุของการเกิดโรคสะสมของนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่มีสัญญาณที่บอกให้เห็นว่า  เช่น การที่คนในครอบครัวมีประวัติชอบเก็บของ เช่น แม่เป็นคนชอบเก็บของ ซึ่งก็จะนำมาสู่การเลี้ยงดูลูก ให้มีพฤติกรรมชอบเก็บสะสมของตั้งแต่เด็ก และมีความรู้สึกเสียดายของอย่างลึกซึ้ง เมื่อต้องทิ้งสิ่งของชิ้นนั้นๆ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ถ่ายทอดมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่มีประวัติดังกล่าว แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดโรคได้ชัดเจน ยังต้องรอผลการศึกษาในอนาคต เป็นตัวระบุสาเหตุการเกิดโรคนี้ นอกจากนี้ “ความเครียดในชีวิต” เช่น ความเครียดที่เกิดจาก การผ่านเรื่องราวที่ทำให้รู้สึกกดดันในชีวิต ก็คาดว่าน่าจะมีส่วนต่อการเป็นโรคสะสมของ แต่ทว่าหลักฐานก็ยังไม่ชัดเจนเช่นเดียวกัน หรือในผู้ป่วยโรคนี้บางคน เริ่มมาจากการเป็นโรคที่เกี่ยวกับการตัดสินใจไม่ได้ หรือเลือกไม่ถูกสักที ก็สามารถเป็นตัวก่อโรคสะสมของได้เช่นกัน ส่วนการรักษาผู้ป่วย “Hoarding Disorder” นั้น โดยหลักๆแล้วใช้การบำบัดทางจิต หรือที่เรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy หรือ “CBT” ซึ่งเป็นการบำบัดทางจิต เพื่อบำบัดความคิดและพฤติกรรม ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ นักจิตวิทยา หรือบุคคลากรด้านสุขภาพจิต กระทั่งทำให้ผู้ป่วยมีมุมมองในการใช้ชีวิตด้วยเหตุและผลมากขึ้น กระทั่งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไปในทางที่ดี สำหรับผู้ที่ต้องรักษาด้วยยา ทั้งนี้ยาที่ใช้ส่วนใหญ่ มักจะเป็นยาที่ใช้รักษาอาการทางจิต เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า เพราะผู้ป่วยโรคสะสมของบางราย มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย หรือ ผู้ป่วยโรคนี้ที่มีภาวะย้ำคิดย้ำทำ ก็มักจะต้องกินยารักษาอาการวิตกกังวล เป็นต้น พูดง่ายๆว่ากินยาตามลักษณะอาการทางจิตเวชที่ร่วมด้วย ซึ่งเป็นยาที่รักษาอาการทางจิตเวชนั่นเอง ซึ่งจะทำให้พฤติการเก็บของเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

การดูแลจากคนในครอบครัว ช่วยปรับพฤติกรรมผู้ป่วยโรคสะสมของได้

ทั้งนี้การดูแลของคนในครอบครัว เช่น การที่พ่อแม่พี่น้อง มีความเข้าใจในตัวผู้ป่วยโรคสะสมของ ตรงนี้ถือเป็นเทคนิคที่ครอบครัว จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขพฤติกรรม ผ่านการ “ช่วยตัดสินใจให้กับผู้ป่วย” เช่น การพูดคุยเพื่อชี้ชวนให้ผู้ป่วยเห็นว่า สิ่งของหรือเสื้อผ้าที่ผู้ป่วยเก็บไว้นั้น สามารถส่งต่อให้คนอื่นได้ หรือ ให้ผู้ป่วยเลือกเฉพาะชุดที่ใส่แล้วดูดีไว้ 2-3 ชุด เพราะเนื่องจากเสื้อผ้าสามารถหาซื้อใหม่ได้ตลอด เป็นต้นว่า “ชุดไหนที่ใส่แล้วสวยใส่แล้วดูดี ก็ให้เก็บชุดนั้นไว้ ส่วนชุดไหนที่ใส่แล้วดูหุ่นไม่ดี หรือทำให้ดูมีอายุ ก็ไม่ควรเก็บไว้ เพราะเสื้อผ้าสามารถหาซื้อใหม่ได้ตลอดน่ะ” หรือ “ชุดนี้ถ้าลูกไม่ได้ใส่แล้ว ก็ให้น้องเอาไปใส่ดีกว่า มันก็จะเกิดประโยชน์กับคนอื่นน่ะ”

หรือแม้แต่การช่วยหาทางออก แทนที่จะปล่อยให้ผู้ป่วยกองสุมสิ่งของไว้ ก็แนะนำให้พูดคุยกับผู้ป่วย โดยการช่วยชี้ให้เห็นว่า “การจัดระเบียบสิ่งของ” นั้น จะทำให้ผู้ป่วยมองเห็นว่า ตัวเองมีเสื้อผ้าที่เกินความจำเป็นจำนวนมาก เช่น เมื่อมีการจัดเสื้อผ้าเข้าตู้ และชั้นเรียงให้เป็นระเบียบ ก็จะทำให้เห็นว่าผู้ป่วยมีกางเกงแบบเดียวกันมากถึง 80 ตัว ดังนั้นให้เก็บไว้ใส่เองเพียง 10 ตัว ส่วนที่เหลือแนะนำให้ไปบริจาคผู้อื่น หรือแจกให้กับคนที่ยากไร้ ตรงนี้เป็นวิธีชี้ชวนให้เลิกสะสมของ โดยอาศัยความร่วมมือของสมาชิกในครอบครัว

“นอกจากนี้การลดความเครียด ให้กับผู้ป่วยสะสมของ โดยเฉพาะผู้ที่เก็บสะสมของ เนื่องจากมีความหลัง และความผูกพันธ์กับของชิ้นนั้น เพราะความรู้สึกโดดเดี่ยว เคว้งคว้าง ตรงนี้ครอบครัวสามารถเติมเต็ม ความรู้สึกด้านดีๆดังกล่าว ให้กับผู้ป่วยที่รู้สึกขาดได้ โดยแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วย ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก แต่ยังมีพ่อแม่พี่น้องอยู่เคียงข้าง และพร้อมรับฟังทุกเรื่อง ซึ่งดีกว่าสิ่งของที่ผู้ป่วยเก็บไว้ เพราะมันจะไม่สามารถแสดงความรัก ความห่วงใยได้ดีเท่ากับคนจริงๆ ที่อยู่ตรงหน้าและอยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย ดังนั้นความรักจากครอบครัว จะช่วยให้ผู้ป่วยลดการยึดติด ในสิ่งของที่เก็บไว้ได้ เพราะแท้จริงแล้วสิ่งของที่รู้สึกผูกพัน ก็สามารถเติมเต็มได้ ด้วยความรัก การโอบกอด การพูดคุย และการรับฟังกันได้ในทุกๆเรื่อง ของสมาชิกในครอบครัว ที่นั่งพร้อมหน้าพร้อมตากัน ”

สร้างแรงจูงใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เทคนิครับมือผู้ป่วย “Hoarding Disorder” ต่อต้านครอบครัว

ทั้งนี้หากพบปัญหาว่าผู้ป่วยดื้อดึง หรือไม่ยอมฟังพ่อแม่ ดังนั้นวิธีการสื่อสารที่ดี คือ ต้องพูดจูงใจในลักษณะที่ทำให้เห็นว่า นอกจากผู้ป่วยจะมีความสุขในพื้นที่ของตัวเอง โดยการเก็บของเต็มห้องนอนแล้ว ต้องชี้ให้เห็นว่าการสะสมของเป็นจำนวนมาก อาจเสี่ยงต่อการผลัดตกหกล้มต่อตัวเองได้ หรือทำให้ปู่ย่าตายายได้รับบาดเจ็บ และถ้าไม่เก็บของเยอะนั้น คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจะดีขึ้นอย่างไร เช่น ไม่หกล้ม ไม่เป็นภูมิแพ้ เป็นต้น ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นข้อแตกต่าง ระหว่างเก็บของเยอะ กับเก็บของให้น้อยลง และจัดให้เป็นระเบียบ ซึ่งในทางการแพทย์เรียกกันว่า “การสร้างแรงจูงใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเอง” ซึ่งถือเป็นเทคนิครับมือกับผู้ป่วยโรคสะสมของ ทางหนึ่งค่ะ

นอกจากนี้สามารถใช้เงื่อนไข เพื่อจำกัดพื้นที่เก็บของ เช่น แบ่งพื้นที่เก็บของเฉพาะห้องของผู้ป่วยคนเดียว และที่สำคัญต้องชี้ชวน ให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองให้ปลอดภัย จากเชื้อโรคหรืออันตรายจากของที่สะสม หรือใช้ประเด็นกฎหมายคุ้มครองสัตว์เข้ามาช่วย ในกรณีของผู้ป่วยที่นิยมเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก แต่ไม่สามารถดูแลได้ กระทั่งไปกระทบผู้อื่น ซึ่งอาจจำเป็นต้องแจ้งสำนักงานเขต เป็นต้น เพื่อเป็นแรงกดดันให้เลิกการสะสมของ หรือเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือแม้แต่การที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา และกลับมาเก็บสะสมของซ้ำอีก ก็สามารถใช้เพื่อนบ้าน หรือคนรอบข้าง จำกัดพฤติกรรมให้คล้อยตาม การไม่สะสมของ หรือไม่กล้าที่จะกลับมาสะสมของอีก เช่น การช่วยกันจัดบ้านของตัวเองให้เป็นระเบียบ เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ป่วย หรือการรวมตัวกันพูดคุย ไม่ยอมรับอย่างหนักแน่น เกี่ยวกับการเก็บสะสมของจำนวนมาก จนส่งผลต่อผู้อื่น เป็นต้น

ชวนไปรักษาประจำตัว ช่วยผู้ป่วยกล้าพบแพทย์ นำมาสู่การรักษาทางจิตเวชที่ตรงจุด

ทั้งนี้หากญาติหรือคนในครอบครัว สังเกตอาการผู้ป่วยแล้ว ว่าอยู่ในข่ายของการป่วยเป็นโรคสะสมของ เพราะเก็บของเป็นจำนวนมาก จนกระทบทั้งตัวเองและผู้อื่น แนะนำว่าให้ใช้เทคนิคของการชวนผู้ป่วยไปรักษาโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น หากผู้ป่วยโรคสะสมของมีภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล ก็แนะนำให้ชวนผู้ป่วย ไปรักษาอาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้าต่างๆ หรือแม้แต่อาการทั่วไป เช่น อาการนอนไม่หลับ ท้องอืด หายใจไม่ทั่วท้อง ฯลฯ เพราะเทคนิคนี้ จะช่วยทำให้ผู้ป่วยไปอยู่ในมือแพทย์ จากนั้นแพทย์จะทำการค่อยๆ หาต้นเหตุของการเกิดโรคดังกล่าว และนำไปสู่การรักษาอาการทางจิตเวช ให้กับผู้ป่วยโรคสะสมของในที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในความดูแล ของแพทย์แล้ว ระยะหนึ่ง ก็จะทำให้ผู้ป่วยไว้ใจแพทย์ และนำมาซึ่งการรับการรักษาโรคสะสมของค่ะ

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat