FEATURE

Oppenheimmer นักวิทยาศาสตร์บนเส้นทางการเมือง เพื่อสันติภาพที่แลกมากับบางสิ่ง

เรียกได้ว่า หนังเรื่องล่าสุดอย่าง ‘Oppenheimmer’ ของผู้กำกับอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) หรือที่ใคร ๆ จะชอบเรียกว่า “เสด็จพ่อโนแลน” ได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลาม ทำรายได้แซงหน้าหนังเรื่องอื่นของเขาอย่าง ‘Batman Begins’ และ ‘Tenet’ หลังฉายได้เพียงแค่ 10 วัน ขณะที่ปัจจุบันสามารถทำเงินแตะหลัก 400 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว จากการฉาย 2 สัปดาห์ แม้แต่ด้านบทวิจารณ์เองก็ได้รับการตอบรับที่ดีไม่แพ้กันจากเว็บมะเขือเน่า the rotten tomatoes โดยได้คะแนนไปถึง 94% (ข้อมูล ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2566)

สำหรับเรื่องราวนั้น หนังบอกเล่าเรื่องราวการคิดค้น ระเบิดอานุภาพทำลายล้างสูงอย่าง ‘ระเบิดปรมาณู’ (atomic bomb) ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเต็มไปด้วยบรรยากาศอันตึงเครียดจากสงคราม การต่อต้านชาวยิวของนาซี รวมทั้งลัทธิคอมมิวนิส์ ที่ถูกจับจ้องว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงในขณะนั้น โดยมีสหภาพโซเวียต เป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจ ที่พร้อมจะช่วงชิงความได้เปรียบระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามถ่ายทอดออกมาไม่ใช่เพียงการเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หรืออัตชีวประวัติของบุคคลเพียงอย่างเดียว หนังพยายามเสนอ “ข้อถกเถียง” ทั้งในแง่ของศีลธรรม การเมือง อุดมการณ์ โดยเฉพาะภายหลังการสร้างระเบิดปรมาณู ซึ่งล้วนแต่เต็มไปด้วยบทพูดที่ชวนให้คนดูต้องคิดตาม อีกทั้งหนังยังพยายามชี้ให้เราเห็นถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของ จูเลียส รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (Julius Robert Oppenheimer) ในฐานะที่เป็นหัวหน้าโปรเจกต์ ต้องแบกรับไปตลอดจากการตัดสินใจในบางอย่างไปตลอดชีวิต

**เนื้อหาต่อจากนี้ จะมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนภายในหนัง**

Photo by Courtesy of Universal Pictures – © Universal Pictures

“Now, I am become Death, the destroyer of worlds”

นี่คือข้อความที่นำมาจากบทหนึ่งของ ‘ภควัทคีตา’ (Bhagavad Gita) คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู เดิมทีคำนี้ ออปเพนไฮเมอร์ พูดในชีวิตจริง เมื่อ 20 ปี หลังเหตุการณ์การระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ขณะที่ในหนังจะพูดขึ้นในการทดสอบ ‘Trinity’ ซึ่งเป็นการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกโดยอเมริกา แม้ว่าบริบทและช่วงเวลาของคำพูดนี้จะดูต่างออกไป แต่นัยของสิ่งที่พยายามสื่ออกมา คือความรู้สึกที่หนักอึ้ง และรับรู้ได้ทันทีว่า “หลังจากนี้ โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” โดยที่เขาเอง คือผู้หยิบยื่นอาวุธชิ้นนี้ให้โลกได้รู้จักมัน

หนังตั้งใจที่จะหยิบประโยคนี้ขึ้นมาใช้ เพื่อตั้งคำถามต่อคนดูว่า การหยิบยื่นบางสิ่งโดยเฉพาะอาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูงให้โลกได้รู้จัก เป็นสิ่งสมควรแล้วจริงหรือ? เห็นได้จากบทพูดที่ว่า “You are the man who gave them the power to destroy themselves and the world is not prepared”

สิ่งนี้เองที่ตลอดการดูหนังทั้งเรื่อง ทำให้เราตั้งคำถามกับทางเลือกตลอดเวลา ตั้งแต่ช่วงทดลองสร้างระเบิดปรมาณู ที่มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนต่างไม่เห็นด้วยกับการบางสิ่งที่ให้อำนาจกับมนุษย์จนเกินไป บางเรื่องและบางสิ่ง “มนุษย์อาจไม่สมควรที่จะได้รับมัน” แต่ในทางกลับกัน ออปเพนไฮเมอร์ ก็เคยเชื่อมาก่อนว่า การสร้างระเบิดปรมาณูจะนำพาไปสู่สันติภาพ ซึ่งก็คือการจบสงครามโลกได้

อย่างไรก็ดี เราต้องเข้าใจบริบทช่วงเวลานั้นก่อนว่า นาซีเยอรมันช่วงนั้นกำลังทดลองการสร้างระเบิดปรมาณูก่อนหน้านั้นแล้ว นั่นจึงทำให้เกิดโปรเจ็กต์แมนฮัตตันขึ้น โดยระดมนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาฟิสิกส์ชั้นนำต่าง ๆ เข้าร่วม เพื่อชิงสร้างระเบิดปรมาณูให้สำเร็จก่อนนาซีเยอรมัน อย่างไรก็ตาม ระหว่างการทดลอง นาซีเยอรมันเกิดแพ้สงครามไปก่อน แต่ออปเพนไฮเมอร์ยังคงเชื่อมั่นว่าระเบิดปรมาณู จะเป็นคำตอบของการยุติสงครามทั้งหมดจริง

Photo by Courtesy of Universal Pictures – © Universal Pictures

ออปเพนไฮเมอร์ คิดแบบนั้นมาตลอด (ถึงแม้จะลังเลบ้างในหลายครั้ง) จนกระทั่งการทดลอง Trinity ผ่านไป ความรู้สึกของเขาเริ่มหวาดกลัวกับสิ่งที่เห็น เสียงโห่ร้องตะโกนภายหลังความพยายามที่ผ่านมานั้นประสบผลสำเร็จ น้ำตาที่ไหลออกมา สีหน้าที่ดูเหมือนจะยินดี แต่ซีนเหล่านั้น ทำให้เรารู้สึกว่า เป็นสิ่งที่แสดงออกมาด้วยความดีใจจริง ๆ หรือ ? หรือกำลังแฝงด้วยความรู้สึกเศร้าเสียใจ กับความสำเร็จนี้กัน ? พวกเขานำฟิสิกส์ที่พวกเขารัก สร้างทฤษฎี ทดลอง จนประสบความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกันกลับรู้สึกหดหู่ และอาจจะรู้สึกแย่ตั้งแต่วินาทีที่ระเบิดปรมาณูทดลองสำเร็จแล้ว

หลังจากที่ระเบิดปรมาณูถูกนำไปใช้ ช่วงเวลานั้น ประธานธิบดีแฮร์รี เอส ทรูแมน (Harry S Truman) ตามบทในภาพยนตร์ คือผู้ที่ต้องการให้เกิดการต่อยอดระเบิดปรมาณูให้ทรงพลังยิ่งขึ้น โดยคาดหวังให้ออปเพนไฮเมอร์ สานต่องานของเขา ขณะที่ตัวของ ออปเพนไฮเมอร์ ได้แต่เพียงบอกว่า “blood on his hands” ก่อนจะถูกทรูแมน สวนกลับมาว่า “Hiroshima isn’t about you”

สับสนอยู่บนหนทางแห่งสันติภาพ

บทบาทของ ออปเพนไฮเมอร์ ในภายหลังคือการพยายามคัดค้านการทดลอง ‘ระเบิดไฮโดรเจน’ (Hydrogen bomb) ซึ่งถือว่าเป็นระเบิดที่เราจะรู้กันในภายหลังว่ามีอานุภาพการทำลายล้างที่สูงยิ่งกว่าระเบิดปรมาณูเสียอีก นั่นจึงวนกลับไปสู่คำถามแรกเริ่มเดิมทีว่า การสร้างระเบิดปรมาณู เป็นการยุติสงครามได้จริงหรือ ? อันที่จริงในบทพูดเองก็มีหลายครั้งที่ทำให้เหล่าคนดูรู้สึกได้คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าสงครามไม่ได้ยุติจริง ๆ เหมือนข้อความที่ว่า “โลกอาจจะได้รับสันติภาพจริง ๆ …จนกว่าจะมีใครสร้างระเบิดที่ใหญ่กว่า”

จากตรงนี้เราจะเห็นทางแยกไปอีก 2 แนวความคิด การแข่งกันสร้างระเบิดที่รุนแรงขึ้น เพื่อกุมความได้เปรียบ หรือเราเลือกที่จะหยุดมัน เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ (Edward Teller) คือมุมมองชั้นดีที่เราจะเห็นได้ชัดว่า ภายหลังการสร้างระเบิดปรมาณูขึ้น พวกเขาเลือกหนทางไหนต่อไป เทลเลอร์ เลือกพัฒนาระเบิดไฮโดรเจน ขณะที่ ออปเพนไฮเมอร์ เลือกที่จะหยุด นั่นทำให้สิ่งที่ตามมาคือการถูกตั้งข้อหาว่าเป็นพวกต่อต้านอเมริกา ด้วยการกล่าวอ้างว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ (ชีวิตของ ออปเพนไฮเมอร์ เองก็พัวพันกับ คนที่เป็นคอมมิวนิสต์ เพียงแต่เราไม่สามารถพูดได้เต็มปาก หรือตัดสินได้ว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ แต่สิ่งสำคัญคือ การใช้วาทกรรม ‘คอมมิวนิสต์’ มาเป็นเครื่องมือเล่นงาม ออปเพนไฮเมอร์ หรือก็คือเล่นงาน ‘ผู้ที่เห็นต่าง’ ทางการเมือง ณ ขณะนั้น

ถึงแม้นาซีจะล่มสลาย แต่สหภาพโซเวียตเองยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลในการต่อสู้ที่ตามมาจากการใช้ระเบิดปรมาณู เพราะเหตุการณ์ขณะนั้น ไม่ใช่เพียงแค่อเมริกาเท่านั้นที่มีระเบิดปรมาณู แต่โซเวียตก็ครอบครองระเบิดปรมาณูได้แล้วเช่นกัน ซึ่งในหนังได้เปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว ในโปรเจกต์แมนฮัตตัน หนึ่งในทีมงานผู้ร่วมทดลองเป็นสายลับที่ส่งข้อมูลให้กับโซเวียต ไม่ใช่ออปเพนไฮเมอร์ตามที่ถูกตั้งข้อหามา

เมื่อรู้แล้วว่าโซเวียตมีระเบิดปรมาณูไว้ในครอบครอง อเมริกา ณ ขณะนั้น เลือกที่จะต่อยอด ทดลองเพื่อสร้างอาวุธที่รุนแรงขึ้น เพื่อชิงความได้เปรียบระหว่างกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตึงเครียดในช่วงเหตุการณ์ที่เรารู้จักในนาม ‘สงครามเย็น’ (Cold War)

เราอาจะพูดได้ว่า ชีวิตของออปเพนไฮเมอร์ นั้นน่าพิศวงมาก เขาก้าวสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับเสียงชื่นชม รวมถึงเป็นผู้ที่เคยสนับสนุนให้รัฐบาลของอเมริกาใช้ระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงคราม กลับกลายเป็นผู้ที่นั่งนึกเสียใจหลังจากได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น นำไปสู่ช่วงชีวิตภายหลังของเขาที่พัวพันอยู่กับความขัดแย้งทางการเมือง จนทำลายชีวิตของเขาในภายหลัง

Photo by Courtesy of Universal Pictures – © Universal Pictures

นักวิทยาศาสตร์ ผู้ไม่เคยตัดขาดจากชีวิตทางการเมือง

ชีวิตของออปเพนไฮเมอร์เอง เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาโดยตลอด แม้จะถูกจดจำในฐานของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’ แต่ตัวเขาเองไม่ได้เป็นเพียงผู้เดียวที่ทำให้การทดลองโครงการแมนฮัตตันสำเร็จ สิ่งที่ทำให้เขาได้รับชื่อดังกล่าวจึงไม่ได้มาจากความเก่งกาจในทฤษฎีด้านเดียว แต่เขายังทำงานควบคู่ไปกับการเป็นนักการเมือง และหัวหน้าผู้ควบคุมโครงการ ที่ต้องอาศัยทักษะการปกครองเป็นอย่างมาก

ใครจะรู้ว่าที่จริงแล้ว โครงการแมนฮัตตันนั้น เปรียบเสมือนการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาในพื้นที่ฐานลับกลางทะเลทราย ลอสอาลาโมส (Los Alamos) ของรัฐนิวเม็กซิโก นำไปสู่การเกณฑ์ผู้คนเข้าร่วมมากถึง 130,000 คน และใช้เงินลงทุนไปกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในขณะนั้น

ดังนั้นแล้ว กว่าจะมาถึงจุดที่เป็นออปเพนไฮเมอร์ หรือคิดค้นระเบิดปรมาณูได้ ไม่ใช่เรื่องของวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว การจะรวมนักวิทยาศาสตร์ ผู้มีความคิด ความเชื่อ ที่แตกต่างหลากหลายให้มาทำงานร่วมกันได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาจำเป็นต้องสวมบทบาทของผู้ปกครอง ผู้ดูแล ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์มากฝีมือร่วมมือกัน

ห้องปฏิบัติการของนักวิทยาศาตร์ คือห้องทดลอง ขณะที่ออปเพนไฮเมอร์นั้นเขาเดินทางไปทั่ว จนหลายคนมองเขาว่า ตัวของออปเพนไฮเมอร์ เริ่มเข้าใกล้เส้นทางของการเมืองมากกว่าการศึกษาทฤษฎีในฐานะนักวิทยาศาสตร์เสียอีก แต่นั่นทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานจนกลายเป็นที่จดจำของใครหลายคนในหลากหลายด้าน

ถูกจดจำในฐานะ ‘บิดา’ หวนกลับมาสู่ผู้ถูกลืมในสังคม

ปลายทางของออปเพนไฮเมอร์ คือความพยายามในการสกัดกั้นไม่ให้มีการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ไปทั่วโลก สิ่งนี้เองกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่ทำให้รัฐบาลมองว่าเขาเป็น ‘ศัตรูของชาติ’ นำไปสู่การถูกสอบสวน โดยคณะกรรมการพลังงานปรมาณูของสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการ พร้อมข้อกล่าวหาว่าเขาเห็นอกเห็นใจคอมมิวนิสต์มากเกินไป ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่าการสอบสวนครั้งนี้ไม่เป็นธรรมเสียเลย นั่นทำให้เขาถูกตัดสิทธิการเข้าถึงความลับด้านความมั่นคงของรัฐ หรือก็คือการผลักเขาออกจากโครงการพัฒนาระเบิดปรมาณูนั่นเอง

นักวิทยาศาตร์หลายคนต่างก็มองว่าออปเพนไฮเมอร์ ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้จะพึ่งรับใช้ประเทศของเขามาก็ตาม ตลอดทั้งภาพยนตร์พยายามพาเราให้เห็นว่าออปเพนไฮเมอร์นั้น แม้จะไม่ใช่ผู้ที่กดปุ่มทิ้งระเบิดด้วยตัวเอง แต่เขามักจะจินตนาการเสมือนว่า เขานั้นอยู่ในเหตุการณ์ หรือบนเครื่องบินทิ้งระเบิดนั้นด้วยตัวเอง

ออปเพนไฮเมอร์ พยายามทุ่มเทไปกับการสร้างระเบิดปรมาณู ก่อนที่พยายามจะก้าวก่ายรัฐเพื่อยับยั้งการพัฒนาอาวุธทำล้ายล้างนี้ จนถูกรัฐบาลมองเป็นภัยความมั่นคง ท่ามกลางเสียงเตือนจากเพื่อนนักวิทยาศาสตร์หลายคนในทำนองว่า เขากำลังทำตัวเหมือนเด็กไร้เดียงสา เช่นเดียวกับที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เตือนเขาว่า “ควรหันหลังให้กับอเมริกา” อย่างไรก็ตาม ออปเพนไฮเมอร์ ก็ไม่สามารถปล่อยมันไปได้

เราจินตนาการไม่ได้เลยว่า ทางเลือกแบบไหนที่ ออปเพนไฮเมอร์ ควรจะตัดสินใจหลังจากที่เขาสร้างระเบิดไปแล้ว เขาควรจะทำตามคำแนะนำของไอน์สไตน์ เหมือนการวางมือไปเฉย ๆ แล้วให้โลก ผู้คนจดจำเขาไว้ในฐานะของ ‘ผู้ริเริ่ม’ ไปตลอด หรือการเลือกคัดค้านรัฐบาลจนตัวเขานั้นถูกกล่าวหา และถูกตราหน้าไปต่าง ๆ นา ๆ เหมือนสิ่งที่เคยทำมาตลอดไร้ความหมายสำหรับรัฐบาล และสถานะทางสังคมของเขาก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจนไร้ที่ยืนในสังคมในช่วงท้ายของชีวิต

อย่างไรก็ดี ในภาพยนตร์ โนแลนพยายามสื่อให้เห็นวิธีที่รัฐบาลใช้นักวิทยาศาสตร์ทำงาน ก่อนจะทิ้งเขาด้วยข้อหาที่ไม่เป็นธรรม และสุดท้ายค่อยมอบเหรียญรางวัลให้กับเขา ดังประโยคที่ว่า “ผู้คนยืนปรบมือ ให้เกียรติ หรือให้รางวัลกับคุณ นั่นไม่ใช่เพราะเขาทำเพื่อคุณ แต่พวกเขาทำเพื่อตัวเองต่างหาก”

Photo by Courtesy of Universal Pictures – © Universal Pictures

บทส่งท้าย ออปเพนไฮเมอร์ สันติภาพที่แลกมากับบางสิ่ง

จากความรู้สึกอันหนักหน่วงตลอดทั้งเรื่อง ก็ย้อนกลับมาสู่บรรยากาศการพูดคุยกันระหว่างออปเพนไฮเมอร์ และไอน์สไตน์ ก่อนหน้านี้ออปเพนไฮเมอร์ เคยปรึกษาไอน์สไตน์ ถึงปฏิกิริยาลูกโซ่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ระเบิดที่เขาคิดค้นอาจนำไปสู่การทำลายชั้นบรรยากาศแบบต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ความหมายโดยนัยก็คือ ปฏิกิริยาดังกล่าว อาจเป็นการระเบิดโลกได้ (แม้จะมีโอกาสเกิดที่ต่ำมาก ๆ ถึงขั้นใกล้เคียงกับเลขเป็น 0 เลยก็ตาม) และในครั้งนี้ ออปเพนไฮเมอร์ กล่าวกับไอน์สไตน์ ด้วยข้อความสั้น ๆ ว่า “I believe we did”

คำพูดดังกล่าว สะท้อนถึงความหมายได้หลายแง่ แง่หนึ่งคือหากเราคิดค้นต่อ มันอาจไปถึงขั้นนั้นได้ คือ ถ้าไม่สร้างระเบิดที่ทำลายระดับนั้นได้ ก็อาจหมายความว่าโลกจะพัฒนาระเบิดที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น

อีกแง่มุมหนึ่ง นั่นหมายถึงการยอมรับว่าสิ่งที่ตัวเขาเองได้ทำลงไป มันคือการเปลี่ยนแปลงโลกไปโดยสิ้นเชิง จากการหยิบยื่นอาวุธให้โลกได้รู้จักมันแล้ว ดังข้อความที่ปรากฎตอนต้นเรื่องว่า

“Prometheus stole fire from the gods and gave it to man. For this he was chained to a rock and tortured for eternity”

ในโลกความเป็นจริงนี้ ออปเพนไฮเมอร์เคยกล่าวว่า “ถ้าเขารู้ว่าเยอรมันไม่สามารถคิดค้นระเบิดปรมาณูได้สำเร็จ เขาคงไม่คิดที่จะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา” เราได้แต่จินตนาการตามไปว่า ถ้าออปเพนไฮเมอร์ ไม่สร้างสิ่งนี้ขึ้น โซเวียต ‘อาจ’ จะไม่มีระเบิดปรมาณูไว้ในครอบครองเช่นกัน (นั่นเพราะโซเวียตได้ข้อมูลระเบิดปรมาณูมาจากสายลับที่แฝงเข้าไปร่วมโครงการแมนฮัตตัน) แต่เราไม่มีทางรู้หรอกว่า ถ้าระเบิดปรมาณูไม่ถูกคิดค้นขึ้นแต่แรก โซเวียตจะคิดค้นระเบิดชนิดนี้ขึ้นมาทีหลังได้หรือไม่ หรือบางที โลกของเราอาจจะไม่มีวันได้รู้จักอาวุธชนิดนี้เลยก็เป็นได้

สุดท้ายนี้ การสร้างระเบิดปรมาณู เป็นสิ่งที่ออปเพนไฮเมอร์ (เคย) มองว่าจะนำไปสู่สันติภาพได้ แต่ในบริบทปัจจุบัน เราเห็นความสูญเสียที่เกิดจากสงครามในอดีตมากมาย จนเราเห็นแล้วว่า สงครามเป็นสิ่งที่เลวร้ายเพียงใด ยิ่งมนุษย์เข้าใกล้กับอาวุธที่มาความรุนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ ความสูญเสียที่ตามมาจะมากขึ้นเท่านั้น สันติภาพในยุคปัจจุบันเราจึงไม่ใช่การครอบครองอาวุธที่มีพลังทำลายสูง แต่คือการพยายามยุติการใช้ความรุนแรงให้ได้มากที่สุด

อ้างอิง

https://thedirect.com/article/oppenheimer-cast-characters-actors
https://www.radiotimes.com/movies/soviet-spy-los-alamos-oppenheimer-explained/
https://www.pbs.org/wgbh/americanexperience/features/bomb-us-scientists/
https://www.boxofficemojo.com/year/world/
https://www.rottentomatoes.com/m/oppenheimer_2023
https://collider.com/oppenheimer-best-quotes-ranked/#ldquo-we-rsquo-re-not-convicting-just-denying-rdquo
https://www.goodreads.com/author/quotes/308544.J_Robert_Oppenheimer
https://www.wired.co.uk/article/manhattan-project-robert-oppenheimer
https://www.bbc.com/thai/articles/c8057p9nx5ko
https://www.vanityfair.com/hollywood/2023/07/oppenheimer-einstein-movie-real-life
https://www.businessinsider.com/einstein-oppenheimer-relationship-disagreements-not-friends-2023-7
https://www.vanityfair.com/hollywood/2023/07/oppenheimer-einstein-movie-real-life
https://www.imdb.com/title/tt15398776/quotes/

เรื่อง: ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat