อ่าน หรือ ฟัง แบบไหนดีกว่ากัน? ทั้งกับหนุ่มสาว และผู้สูงอายุ

มีคำตอบมาเล่าสู่กันฟัง สำหรับข้อถกเถียง เรื่องการอ่านและการฟัง ว่าทักษะอันไหนที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ได้มากกว่ากัน เพราะปัจจุบันการฟังนั้น มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งหนังสือเสียง หรือ ออดิโอบุ๊ค (Audiobook) ที่มีการอัดเสียงพูดของหนังสือประเภทต่างๆ โดยไม่มีการย่อเพื่อรับฟัง แทนการอ่านด้วยตัวเอง ที่มีให้เลือกหลายหมวดหมู่ เช่น นิยาย ธรรมะ กีฬา ฯลฯ
รวมถึงพอดแคสต์ (Podcast) ที่จัดรวมอยู่ในหมวด หนังสือเสียงรูปแบบหนึ่ง และกำลังได้รับความนิยม ในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นการนำเรื่องราว ที่เกี่ยวกับการทอล์ค ของผู้ที่มีประสบการณ์ในชีวิตด้านต่างๆ เช่น กลุ่มคนมีชื่อเสียง หรือเป็นกูรูด้านต่างๆ มาถ่ายทอดให้ผู้ฟังได้รับฟังอย่างมีสีสัน ขณะที่การอ่านหนังสือนั้นได้รับความนิยม ในกลุ่มของเด็กเล็กที่อายุไม่เกิน 5 ปี ที่แม้เด็กจะยังอ่านหนังสือเองไม่ได้ แต่สามารถเปิดดูรูปภาพและรับฟังเสียง จากการที่พ่อแม่อ่านนิทานให้ฟัง ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ ผ่านการอ่านรูปแบบหนึ่ง และเพื่อร่วมกับไขคำตอบเรื่องนี้ อีกทั้งช่วยเลือกทักษะการอ่านและการฟัง ให้สอดคล้องกับช่วงวัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นั้น
The Reporters ได้สอบถามไปยัง “ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล” ที่ปรึกษา สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ได้ให้มุมมองของการอ่านและการฟังไว้น่าสนใจ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ ให้เหมาะกับแต่ละช่วงวัย ทั้งเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่น และผู้สูงอายุไว้น่าสนใจ เนื่องทักษะทั้งการอ่านและการฟัง สามารถสร้างการเรียนรู้ได้อย่างเท่าๆกัน ในคนทุกเพศทุกวัยที่จำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสม
ดร.ทัศนัย ให้ข้อมูลว่า “การอ่านกับการฟัง เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ และเกิดขึ้นควบคู่กันมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบท ของแต่ละคนว่าอยู่ในสถานการณ์ไหน เช่น เด็กเล็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ได้ แต่เขาสามารถดูรูป และฟังสิ่งที่พ่อแม่อ่านนิทานให้ฟังได้ ซึ่งเรียกรวมว่าเป็นการอ่าน เพราะการที่เด็กได้เห็นสมุดภาพและเปิดดูซ้ำบ่อยๆ จะทำให้เกิดความซึมซับและจดจำ รวมถึงเสียงที่ได้ยินนั้น มาจากการที่พ่อแม่อ่านให้เด็กฟัง เมื่อนั้นเด็กเรียนรู้ และจะจำข้อมูลที่ได้ฝังอยู่ในหัว และสร้างเป็นทรงจำที่ดี ผ่านหนังสือนิทานหรือสมุดภาพนั่นเอง”
“ดังนั้นหากจะให้แยกว่า อันไหนดีกว่ากันเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการฟังและการอ่าน ยกตัวอย่างผลวิจัยของประเทศสิงคโปร ที่ระบุว่าการอ่านในเด็ก สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ได้ ซึ่งอยู่ในระดับการอ่านออกเสียง โดยที่ผู้อ่านเป็นผู้ฟังด้วยตัวเอง แต่ถ้าโตมาเป็นเด็กวัยรุ่น จะประกอบด้วย 2 อย่าง คือทั้งการอ่านด้วยตัวเอง และการฟังจากผู้อื่น เช่น ครู อาจารย์ ตรงกันข้ามที่หากย้อนกลับไป 10-20 ปี หรืออยู่ในช่วงวัยเด็กเล็ก ที่คุ้นเคยกับการอ่าน (การอ่านของเด็กเล็ก หมายถึงการเปิดดูหนังสือรูปภาพ หรือหนังสือนิทาน พร้อมกับเสียงเล่านิทานจากพ่อแม่ กระทั่งทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ จากหนังสือนิทาน) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการฟังในเด็กเล็ก จะยังไม่ฮิตเท่าไร โดยเฉพาะในกลุ่มของหนังสือเสียง หรือแม้แต่พอดแคสต์ ที่มักจะได้รับนิยมในกลุ่มของวัยผู้ใหญ่ หรือคนรุ่นใหม่มากกว่า”
ความสะดวกคือปัจจัยแรก ที่คนรุ่นใหม่เลือกฟังมากกว่าอ่าน เพื่อเสริมการเรียนรู้
ส่วนคำถามว่าเหตุใดปัจจุบันกลุ่มของ หนังสือเสียง หรือ ที่เรียกกันว่าออดิโอบุ๊ค (Audiobook) ที่มีให้เลือกฟังหลากหลายประเภท ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้น เนื่องจากความสะดวก เพราะขณะที่ขับรถ ก็สามารถฟังนิยายเรื่องที่ชอบได้ เพราะการอ่านหนังสือนิยายนั้น จะต้องหาที่นั่งอ่านที่สบาย และทุกครั้งที่อ่านจำเป็นต้องจับหนังสือ และโฟกัสอยู่กับสิ่งที่อ่าน เพื่อให้ได้อรรถรสจากหนังสือที่ชอบ
รวมถึงพอดแคสต์ (Podcast) ที่จัดรวมอยู่ในหมวด หนังสือเสียงรูปแบบหนึ่ง และกำลังได้รับความนิยม ในกลุ่มของคนรุ่นใหม่เช่นกัน เนื่องจากเป็นการนำเรื่องราว ที่เกี่ยวกับการทอล์ค ของผู้ที่มีประสบการณ์ในชีวิตด้านต่างๆ เช่น กลุ่มคนมีชื่อเสียง หรือเป็นกูรูด้านต่างๆ มาถ่ายทอดให้ผู้ฟังได้รับฟังอย่างมีสีสัน ซึ่งเป็นการสร้างการเรียนรู้ในอีกระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการนำความคิดเห็น หรือแง่คิดของผู้รู้ในหมวดหมู่ต่างๆ มาปรับใช้หรือเป็นข้อมูลในการทำงาน และการใช้ชีวิตที่ได้จากการฟัง เป็นต้น
การฟังเหมาะสำหรับผู้สูงวัย ลดปัญหาด้านการมองเห็น และข้อจำกัดการใช้เทคโนโลยี
นอกจากนี้ในกลุ่มของผู้สูงอายุ เนื่องจากปัญหาด้านสายตา อาจทำให้การอ่านหนังสือ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ประกอบกับตำรา หรือหนังสือสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะนั้น ก็ยังไม่ค่อยมี หรือมีค่อนข้างจำกัด แต่อาจจะมีหนังสือในรูปแบบของอีบุ๊คส์ (e-book) หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถดาวน์โหลด มาอ่านในอุปกรณ์ไฮเทค เช่น ไอแพด ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีข้อดี ที่สามารถย่อและขยายเพื่อให้คนสูงวัยอ่านได้ แต่มีข้อจำกัดคือการที่ผู้สูงอายุ มักจะไม่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาก่อน จึงทำให้การอ่านในไอแพดไม่เป็นที่นิยม เท่ากับการฟัง
เพราะการฟังให้ประโยชน์กับคนวัยนี้ได้ดี เช่น เพลงหนังสือเสียง เกี่ยวกับธรรมะ หรือ นิยายต่างๆ เกร็ดเคล็ดลับในการดูแลสุขภาพ เป็นต้น ดังนั้นหากต้องการ ให้การฟังหนังสือเสียง และพอดแคสต์ (Podcast) ที่ปัจจุบันมีเรื่องราวที่ค่อนข้างหลากหลาย และเป็นที่นิยม ก็ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะทั้งในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าเอง เพราะอันที่จริงแล้ว ทั้งหนังสือเสียงรูปแบบต่างๆ และการอ่านหนังสือจริงๆ หรือแม้แต่อ่านหนังสือในรูปแบบของอีบุ๊คส์ ก็ช่วยเสริมสร้างความรู้ได้เท่าๆกัน
เลือกฟังในสิ่งที่ชอบและสนใจ ช่วยสร้างความจดจำ ประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
ส่วนผู้ที่มองว่าการอ่าน ทำให้จดจำสิ่งต่างๆได้ดีกว่าการฟัง เพราะการฟังนั้นทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน เมื่อผ่านไปสักพักผู้ฟัง ก็จะลืมสิ่งที่ได้ฟังไปนั้น ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ฟัง ซึ่งหากเป็นเรื่องที่ผู้ฟังชื่นชอบและตรงกับความสนใจ เช่น คนรุ่นใหม่ที่เลือกฟังพอดแคสต์ จากเลือกจากเรื่องและประเด็นที่อยู่ในความสนใจ และกำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น ดนตรี กีฬา ของสะสมฯลฯ ไม่เพียงแค่ช่วยทำให้ผู้ฟัง จดจ่ออยู่กับสิ่งที่สนใจ แต่ยังสามารถนำมาต่อยอด ใช้ประโยชน์ในชีวิตได้ โดยที่ไม่ลืมเช่นกัน
แนวโน้มการอ่านและการฟังอยู่ด้วยกันทั้งคู่ เลือกให้เหมาะกับช่วงวัย
ทั้งนี้อนาคตของทั้งการอ่านและการฟังนั้น เนื่องจากทั้ง 2 ทักษะ ถือได้ว่ามีประโยชน์ ในแง่ของการเพิ่มพูนความรู้ด้วยกันทั้งคู่ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือการเลือกให้เหมาะกับแต่ละช่วงวัย เพราะหนังสือนั้นอย่างไรเสียก็คงไม่มีวันตาย เพราะในเด็กเล็กก็ยังจำเป็นต้องอ่านหนังสือ หรือที่เรียกกันว่าฮาร์ดก็อปปี้ (Hard copy) ซึ่งหมายความถึงหนังสือและตำราที่จับต้องได้ และตีพิมพ์ลงในกระดาษอยู่ ส่วนเด็กวัยรุ่นก็จำเป็นต้องใช้ทั้ง 2 ทักษะ ทั่งอ่านและฟัง ประกอบกับเทรนด์การฟัง โดยเฉพาะพอดแคสต์ (Podcast) ที่ค่อนข้างมีเนื้อหาที่หลากหลาย และมาจากประสบการณ์ตรงของผู้เล่า ก็ได้รับความนิยมในกลุ่มของเด็กวัยรุ่นเช่นกัน เพราะค่อนข้างสะดวก เนื่องจากเด็กยุคใหม่มีอุปกรณ์ไฮเทคที่พร้อมสำหรับการฟังอยู่แล้ว ขณะที่การอ่านหนังสือเป็นเล่ม ก็ช่วยสร้างความผ่อนคลาย ให้กับคนกลุ่มนี้ได้ทางหนึ่ง และสามารถหยิบมาอ่านได้ทุกเมื่อเช่นกัน ดังนั้นการเลือกใช้เหมาะกับสถานการณ์และความชอบ ก็เป็นสิ่งจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ ให้กับคนยุคใหม่ได้ทั้งจาก 2 ทักษะค่ะ”
เสน่ห์ของการอ่านนั้น อยู่ที่การได้สัมผัสหน้ากระดาษ โดยที่มือทั้งสองข้างโฟกัสอยู่กับหนังสือ ไปพร้อมๆกับความเพลิดเพลินและจินตนาการ ในเนื้อหาของสิ่งที่ได้อ่าน ขณะที่การฟังนั้นหากมาเรื่องที่ชอบและสนใจ ก็ช่วยสะกดให้ผู้ฟัง จดจ่ออยู่กับเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังเช่นเดียวกัน ดังนั้นการเลือกให้เหมาะกับความชอบ และช่วงวัยของแต่ละคน ก็ถือเป็นการสร้างขุมพลังสมองด้วยความรู้ เพราะอย่าลืมว่าทั้งการอ่านและฟังนั้น มีประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่…จริงไหมคะ