ดูข่าวสารการเมืองแบบไม่เครียด เลือกช่วงเวลาให้เหมาะสม
เพราะความเครียดเป็นต้นเหตุ ของปัญหาสุขภาพในหลายๆด้าน โดยเฉพาะผู้ที่ดูข่าวการเมืองก่อนการเลือกตั้งแบบเกาะติดโดยไม่หยุดพัก หรือ “อินหนัก” เพราะกลัวตกข่าวตกกระแส ซึ่งเสี่ยงต่อ “ภาวะติดสื่อ” และทำให้เกิดภาวะย้ำคิดย้ำทำได้ ซึ่งถือเป็นภาวะทางจิต อันเนื่องจากเสพข่าวสารมากเกินไปนั่นเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้
The Reporters ได้สอบถามไปยัง “ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง” อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมบำบัดสังคม ให้ข้อมูลเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะเลือกไทมมิ่ง หรือช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูข่าวสารบ้านเมือง ส่วนหนึ่งเพื่อสมองได้พัก อีกทั้งเติมเต็มข้อมูลข่าวสารด้านอื่นๆ เพราะอย่าลืมว่าสมองต้องการเรียนรู้ ในหลากหลายด้าน และทำให้ผู้เสพข่าวสารได้หันไปออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงร่วมด้วย
ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ กล่าวว่า “การดูข่าวสารการเมืองแบบไม่เครียดนั้น มีคำแนะนำดังนี้ คือ 1.ช่วง 07.00-09.00 น.นั้น เราควรชมสิ่งที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวนั้นสมองต้องการพลังงาน เพื่อสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับมนุษย์ ดังนั้นถ้าเราจะชมเรื่องการเมือง ก็ต้องเป็นการเมืองแบบสร้างสรรค์ โดยการเลือกสื่อที่นำเสนอข่าวการเมือง ที่สร้างสรรค์ทั้งในประเทศไทย หรือเลือกสื่อในต่างประเทศ ที่วิเคราะห์การเมืองแบบมีสาระประโยชน์เช่นกัน
2.ช่วงเวลาหลัง 12.00 น.-15.00 น.นั้น โดยทั่วไปเราสามารถดูข่าวสารได้ทุกรูปแบบ เช่น หากต้องการรับชมข่าวการเมือง ก็จะต้องไม่เกิน 15 นาที เพราะช่วงหลังเที่ยง หรือหลัง 12.00 น.สมองของมนุษย์มักจะล้า เนื่องจากพึ่งรับประทานอาหารกลางวันไป ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว สมองจึงต้องการการพักผ่อน แต่ทว่าก็ยังสามารถเสพข่าวการเมืองสั้นๆได้ หรือเป็นข่าวการเมืองที่วิเคราะห์หรือนำเสนอในแบบสนุก ไม่ต้องคิดมาก หรือบางคนจะใช้วิธีฟัง ขณะที่กำลังนอนพักผ่อนเล่นก็ได้เช่นกัน ส่วนประเด็นที่ 3.ช่วงเวลาตั้งแต่ 15.00 น.-20.00 น.เป็นช่วงที่สมองต้องการการออกกำลังกาย แต่ทั้งนี้ก็ยังสามารถรับชมรับฟังข่าวการเมืองได้ แต่ไม่ควรนั่งชมนานๆ แต่แนะนำให้ฟังไปพร้อมๆกับการออกกำลังกาย เช่น ฟังข่าวการเมืองขณะวิ่งบนลู่วิ่ง หรือเดินเร็วๆ และฟังแบบผ่านๆขณะที่เราทำงานบ้าน โดยที่ไม่ต้องคิดโต้ตอบ หรือหาเหตุผลในสิ่งที่กำลังฟัง ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เราได้ออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงควบคู่กัน หรือถ้าเป็นไปได้แนะนำให้รับชมข่าวสารการเมือง สลับกับการดูข่าวกีฬา ข่าวบันเทิง ข่าวเกษตรฯลฯ เพราะอย่าลืมว่าสมองของต้องการ การเรียนรู้ในหลายๆด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนา
“ผลเสียของการติดตามข่าวการเมือง หรือข่าวที่กำลังเป็นกระแสสังคม ที่คนกำลังจับจ้องอยู่มากเกินไปนั่น จะทำให้เราเกิดภาวะ “ติดสื่อ” ซึ่งเป็นภาวะทางจิตและยังไม่ใช่โรค แต่ทั้งนี้เมื่อเราติดสื่อ ก็จะทำให้เกิดภาวะวิตกกังวล และภาวะย้ำคิดย้ำทำ หมายความว่าเราจะสนใจแต่เรื่องของผู้อื่น ส่วนหนึ่งเพราะกลัวตกกระแสตกข่าว ทั้งนี้เมื่อเราเกิดภาวะย้ำคิดย้ำทำ ก็จะทำให้สมองไม่จำในสิ่งที่เราต้องทำ หรือไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำเพราะไปโฟกัสเรื่องอื่น โดยสรุปแล้วเวลาที่เราติดตามข่าวสารต่างๆนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือเมื่อรับชมรับฟังแล้ว เราสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ เป็นต้น”
“ส่วนประเด็นการปรับจิตใจ เกี่ยวกับเรื่องการเมือง เช่น หากพรรคการเมืองที่เราชื่นชอบในดวงใจ พลาดหวังจากการเลือกตั้งนั้น ก็แนะนำว่าอันดับแรกให้เรายอมรับความจริง อย่าหงุดหงิดอย่าเสียใจ และอย่าโมโห โดยเฉพาะผู้ที่คาดหวังในพรรคที่ตัวเองเลือกค่อนข้างเยอะ แต่ให้คิดทบทวนว่าเรากำลังทำอะไรและทำเพื่อใคร หรือใช้วิธีตั้งคำถามว่าเราทำวันนี้ หรือ พรุ่งนี้เพื่อใคร ถ้าเราได้คิดทวบทวนคำถามดังกล่าว ก็จะได้คำตอบในลักษณะที่ว่า เราได้ทำหน้าที่พลเมืองที่ดีที่สุดแล้ว ทุกอย่างคือจบแล้ว หรือเมื่อได้เลือกตั้ง และผลตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องยอมรับให้ได้เพราะอย่าลืมการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องของเกมทางการเมือง หรือการแข่งขัน เมื่อผลออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับมัน ซึ่งอันที่จริงจะเป็นใครก็ได้ ที่สำคัญขอให้คิดว่าเรายังมีหน้าที่อื่นๆ ที่ต้องทำต่อไป ในฐานะพลเมืองไทย”