5 ผลเสียของการใช้ LINE คุยงาน – ปัญหาบานทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

แอพแชทยอดฮิตในไทยคือ LINE มานานหลายปี ถ้าใช้แต่ในเรื่องส่วนตัวทั่วไปก็คงไม่มีปัญหา แต่ปรากฏว่าบริษัทองค์กรและหน่วยราชการต่างๆนำไปใช้คุยงาน สั่งงาน ตามงาน ฯลฯ กันทั่วไป
…และนั่นก่อให้เกิดปัญหาทั้งกับตัวงาน ตัวคน และสุดท้ายก็ตัวทีมหรือองค์กรนั้นๆเอง เพราะแม้ว่าใช้Line ในการสื่อสารพูดคุยงานจะรวดเร็ว ง่าย … แต่กลับทิ้งปัญหาในระยะยาวมากมาย ซึ่งมีอะไรบ้างนั้นเรามาดูกันเป็นข้อๆ
1. ไม่มีการเก็บไฟล์เก่าๆ – แค่ 2 สัปดาห์ก็ลบแล้ว
โดยปกติระบบของ Line จะให้เก็บไฟล์ข้อมูลหรือรูปภาพได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องใช้ไฟล์เก่าๆที่เจ้านายหรือเพื่อนในทีมเคยส่งให้
ซึ่งหลายครั้ง เราก็ต้องให้ผู้ส่งส่งมาใหม่ ก่อให้เกิดความยุ่งยากรำคาญใจทั้งสองฝ่าย
ซึ่งทางแก้ก็คือทุกครั้งที่ได้ไฟล์มา ต้องเซฟลงเครื่อง หรือเก็บไว้ใน Note แต่นั่นก็ยังไม่สะดวก เพราะอยู่แยกไปอีกส่วนหนึ่ง
นอกจากนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนเบอร์ ทุกอย่างที่ผ่านมาก็หายไปหมด
…ซึ่งทางแก้คือต้องมาแบ็คอัพข้อมูลใน Line เพื่อไม่ให้สูญหายทั้งข้อความทั้งไฟล์ ทำให้บางคนที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเท่าไร ต้องใช้เวลาศึกษาวิธีแบ็คอัพกันเป็นวันเลยทีเดียว
บางกรณีแบ็คอัพล้มเหลว ข้อความที่คุยกับไฟล์งานหายหมด คุยอะไรกับลูกค้าไว้จะกลับไปอ่านก็หายไปแล้ว ก่อให้เกิดความลำบากในการทำงานยิ่งขึ้นไปอีก
2. รูปแบบการคุยใน LINE กลับทำลายประสิทธิภาพในการทำงานซะเอง !
การสั่งงานผ่าน Line หรือคุยงานในนั้น มักทำให้เราไม่สามารถปะติดปะต่อเนื้องานได้ เพราะคุยกันแบบไม่มีการแบ่งหัวข้อ ต่อให้มีการตอบ (reply) ข้อความ แต่หลายครั้งก็ไม่แน่ใจว่ารีพลายตอบในประเด็นไหน
และในเมื่อทุกหัวข้อ ทุกเรื่อง อยู่ในห้องเดียวกัน เรียงตามลำดับเวลาเท่านั้น ทำให้ใครที่ไม่ได้เข้าไปอ่านตอนที่เค้าคุยกัน หรือแค่ละสายตาจากโทรศัพท์ไปไม่กี่ชั่วโมง
เมื่อกลับมาก็เจอข้อความเป็นร้อยๆข้อความ ต้องไล่ขึ้นไปอ่านเก็บเนื้อความอีกว่าพูดคุยอะไรกันมาบ้าง และตรงไหนเกี่ยวข้องกับเรา ต้องนั่งแยกข้อความที่พูดแทรกเรื่องส่วนตัว เรื่องประเด็นอื่น ฯลฯ ปนกันไปมาเต็มหน้าแชท
สุดท้ายกว่าจะ follow up งานได้ก็เล่นเอาเหนื่อยแทบแย่ และบ่อยครั้งที่เราตกหล่นไป พอถามเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า คำตอบที่ได้ก็มักจะเจอกับประโยคว่า “ตามที่ได้แจ้งไปใน Line แหละครับ/ค่ะ”
3. มีการคุยเรื่องส่วนตัวในกลุ่มทีมงาน – ซึ่งบางครั้งทำให้ทะเลาะกันโดยไม่จำเป็น
ในกลุ่มไลน์ของแผนกหรือองค์กร นอกจากใช้คุยเรื่องงาน แน่นอนว่าย่อมมีเรื่องส่วนตัวต่างๆด้วย และบางครั้งก็มีเรื่องการเมือง เรื่องข่าวดราม่าต่างๆ
เหตุการณ์แบบนี้ บ่อยครั้งได้สร้างการถกเถียงรุนแรงจากความเห็นต่าง จนผิดใจกัน เกิดปัญหากระเทือนไปถึงการประสานงานในนั้น โดยไม่น่าจะเกิดเลย
4. ละเมิดเวลาส่วนตัว จากการทวงงาน เร่งงาน นอกเวลางาน
เดิมทีและส่วนใหญ่ เราใช้ Line คุยกับครอบครัว เพื่อนๆ หรือคนใกล้ชิดในเรื่องส่วนตัว ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มนี้เราพร้อมรับการแจ้งเตือนและอ่านข้อความแทบจะตลอดเวลา (ถ้าไม่ดึกเกินไป) เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคุยทั่วๆไป ก็ไม่ใช่เรื่องเครียดหรือเร่งด่วนนัก
แต่เมื่อ LINE มีเรื่องงานเข้ามาปะปน ทำให้เราต้องรับรู้เรื่องงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนมันทำให้เราเกิดความเครียดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
ถ้าเป็นงานด่วนที่จำเป็นและคอขาดบาดตายก็พอเข้าใจได้ แต่หลายครั้งเป็นข้อความสั่งงานที่ไม่ได้เร่งด่วนอะไร แต่ส่งมาหลัง 4 ทุ่ม โดยบอกว่า “งานอาทิตย์หน้า คิดออกเลยพิมพ์ไว้”
ข้อความแบบนี้ถ้ามีบ่อยๆ ก็ทำให้พนักงานผู้รับ เครียดตั้งแต่ได้ยินการแจ้งเตือน หยิบมาดูเห็นชื่อเจ้านายส่งมา แล้วเปิดข้อความอ่าน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการต้องมารับรู้เรื่องงานในช่วงเวลาที่ควรเป็นส่วนตัวจนทำให้เราแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวไม่ออกกันเลย
ยิ่งกว่านั้น หลายคนมีกรุ๊ปที่ทำงานด้วย และก็อัพเดตงานกันยันดึกดื่น จะอ่านแต่ไม่ตอบหรือทำไม่รู้ไม่ชี้ก็ไม่ได้ เดี๋ยวไม่ทันความคืบหน้าในทีมว่าทำงานถึงไหน ในส่วนของเราต้องทำอะไรบ้าง ก่อให้เกิดความเครียดจนเราแขยงไม่อยากเปิด Line ไปเลยก็มี
5. ละเมิดความเป็นส่วนตัวด้านอื่นๆด้วย
นอกจากเรื่องเวลาส่วนตัวในข้อแรกแล้ว …การใช้ LINE คุยงาน ยังรุกล้ำความเป็นส่วนตัวด้านอื่นๆด้วยเช่นสาวๆบางคนออกกำลังกายแล้วก็อยากอวดหุ่นสวยในรูปโปรไฟล์ แต่ก็ไม่กล้า เพราะเคยทำแล้วถูกแซวในที่ทำงาน
หรือบางองค์กรบังคับให้พนักงานใช้รูปหน้าตรง และใช้ชื่อจริงนามสกุลจริงเป็นชื่อโปรไฟล์ ซึ่งหลายคนก็ไม่อยากทำ เพราะห่วงถูกนำคนอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลส่วนตัวไปใช้หรือสืบค้นหาเบอร์โทรต่างๆ
นั่นทำให้บางคนถึงกับซื้อมือถือใหม่ เพื่อสร้าง Line แยกสำหรับที่ทำงาน เราก็ต้องหาอีกเบอร์ อีกเครื่องเพื่อใช้งาน ซึ่งบางบริษัทเองก็ไม่ได้มีงบช่วยเหลือด้านนี้ สิ้นเปลืองเวลาและเงินไปอีก
สรุป
แม้การใช้ Line จะง่าย เพราะคนไทยมากมายก็ใช้กัน ไม่ต้องไปโหลดแอพอื่น ไม่ต้องไปเรียนรู้แอพใหม่ แต่ในระยะยาวแล้วก็มีปัญหามากมายอย่างที่ไล่เรียงไป จนสรุปได้ว่า “ไม่คุ้ม” และไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง
ทางออกคือหันไปใช้แอพอื่นๆ ที่ใช้การคุยง่ายๆคล้ายกัน แต่แบ่งหัวข้อได้ เก็บไฟล์เป็นระบบ เก็บประวัติการคุยไว้ตลอด ฯลฯ เช่นแอพ Slack, Asana, ฯลฯ … ซึ่งเดอะรีพอร์ตเตอร์เราได้เคยแนะนำไว้แล้วในบทความ “รู้จัก 7 แอปพลิเคชันและเว็บ เพื่อการทำงานเป็นทีม” ที่ thereporters.co/tech/290420221032
ซึ่งแอพแบบนี้เรียกรวมๆว่า “Collaboration App” ซึ่งส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นใช้ได้ฟรี ถ้าใช้ในทีมเล็กๆ เก็บข้อมูลไม่มาก แต่ถ้าจะใช้งานหนักและรองรับคนมากกว่านั้น ก็ต้องเริ่มจ่ายเงินเพิ่มเป็นขั้นๆไป