FEATURE

เปลื้องขบวนการ “งาบเงินเยียวยาคลื่น 5 จี อสมท” วิ่งเต้นปิดดีล 10 ปี 1,600 ล้านบาท!! (ตอนที่ 2)

เปิดข้อมูลลึก พบคนในระดับ “อดีตผู้บริหาร บมจ.อสมท” มองเห็นอนาคต กสทช. เวนคืนคลื่น 5 จีพร้อมจ่ายเงินชดเชยมหาศาล จับมือคนนอกเปิดบริษัทเซ็นต์สัญญาบริหารคลื่นล่วงหน้า 10 ปีไม่มีผลงาน วิ่งเต้นผู้ยิ่งใหญ่ปิดดีล

ในภาวะเศรษฐกิจดิ่งเหว ทั้งจากพิษโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ซบเซามาก่อนหน้านี้ หลายบริษัทปิดตัวลง แต่บริษัทเอกชนเจ้าหนึ่งที่เปิดบริษัทมาเป็นสิบปีและทำธุรกิจมีกำไรหลักสิบล้าน กำลังจะกลายเป็นบริษัทที่โชคดีมากๆ เมื่อจู่ๆ ก็ตกถังข้าวสารทองคำ จะได้รับเงิน 1,600 กว่าล้าน จากบริษัท อสมท จำกัดมหาชน หรือ บมจ.อสมท จากเงินชดใช้ หรือค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่คลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต  หรือเรียกสั้นๆ ว่า เงินเยียวยาค่าคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่เวนคืนคลื่นนี้ จาก บมจ.อสมท ไปเปิดประมูล 5 จี และได้เงินจากการประมูลมากถึง 37,000 กว่าล้านบาท

เมื่อได้เงินจากการประมูลแล้ว คณะกรรมการ กสทช. จึงมีมติเมื่อ 11 มิถุนายน 2563 ให้จ่ายเงินเยียวยาค่าคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต ให้ บมจ.อสมท เป็นเงิน 3,235 ล้านบาท และให้แบ่งครึ่งให้บริษัทคู่สัญญา บมจ.อสมท คือ “บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด” ส่งผลให้บริษัทนี้ ได้ส่วนแบ่งเงินเยียวยามากถึง 1,617.5 ล้านบาท

แต่ที่น่าตกใจ การให้แบ่งเงินเยียวยาให้เอกชนคู่สัญญาครึ่งหนึ่ง มิใช่เกิดจาก กสทช.ฝ่ายเดียว แต่มาจากความต้องการของนายเขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการ บมจ.อสมท ที่ทำหนังสือถึง กสทช. ก่อนการลงมติ 7 วัน ให้ กสทช. แบ่งเงินเยียวยาดังกล่าวให้บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ในจำนวนเท่าๆ กัน ทั้งสองฝ่าย โดยอ้างอำนาจคำสั่งของประธานบอร์ด
ทำให้เกิดการทักท้วงจากคณะกรรมการ บมจ.อสมท ส่วนหนึ่งที่มองว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจตัดสินใจของบอร์ดทุกคนไม่ใช่ประธานบอร์ดคนเดียว จนถึงขั้นตัดสินใจลาออก เพราะรับไม่ได้กับเรื่องนี้แล้ว 3 ราย

มีเหตุผลใดที่ผู้บริหาร บมจ.อสมท จึงกล้าประสงค์แบ่งเงินให้บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ครึ่งหนึ่งของเงินเยียวยา และใครบ้างที่อยู่ในการปูทางงาบเงินเยียวยาก้อนนี้  

คนในรู้อนาคตเวนคืนคลื่น
วางหมาก งาบเงินเยียวยา

ย้อนกลับไปในปี 2553 บมจ.อสมท ทำสัญญากับบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด นำคลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิร์ต ของ บมจ.อสมท ไปดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก แต่หลังจากนั้น มีกฎหมายจัดตั้ง กสทช. ในปี 2554 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการโทรทัศน์และคมนาคม ทำให้กระบวนการต่างๆ ต้องขออนุญาต กสทช. ด้วย และ กสทช. อนุญาตให้เปิดให้บริการโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิกได้ในปี 2562 แต่พอถึงต้นปี 2562 กสทช. ได้เรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิร์ต เพื่อนำประมูลคลื่นความถี่ 5 จี

ดูผิวเผินเหมือนบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด จะสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจให้บริการโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก ที่ทำสัญญาไว้กับ บมจ.อสมท แต่ลึกลงไป สัญญาฉบับนี้ อาจเป็นเพียงสัญญา ที่ทำไว้เพื่อหวังเงินเยียวยาค่าคลื่นจาก กสทช. เพราะมีคนรู้ว่า เมื่อกฎหมาย กสทช. ประกาศใช้ในต้นปี 2554 ไม่ช้าไม่นาน คลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต ที่ บมจ.อสมท ถือครองมาอย่างยาวนาน จะต้องถูกเวนคืนไปเปิดประมูล

ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่าย เหมือนคนที่มีข้อมูลวงในว่า จะมีโครงการตัดถนน หรือทางด่วนเกิดขึ้นบริเวณนั้นบริเวณนี้ แล้วไปกว้านซื้อไว้ เพื่อเก็งกำไรราคาที่ดินในอนาคต
ก่อนกฎหมาย กสทช. จะถูกประกาศใช้ไม่กี่เดือน มีการเซ็นต์สัญญาระหว่าง บมจ.อสมท กับบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ให้บริการโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก ซึ่งสัญญาฉบับนี้ กลายเป็นสัญญาพิเศษ สัญญาลึกลับ ที่ห้ามเปิดเผย แม้แต่คนใน บมจ.อสมท ด้วยกันเอง ที่เริ่มเห็นความไม่ชอบมาพากล ของการเซ็นต์สัญญาร่วมธุรกิจครั้งนี้

แหล่งข่าวระดับสูงใน บมจ.อสมท เปิดเผยว่า ผู้บริหาร บมจ.อสมท ที่เป็นคีย์แมนคนสำคัญในการขับเคลื่อนแผนการเซ็นต์สัญญากับบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ขณะนั้น ชายคนนี้น่าจะมองเห็นช่องทางทำกำไรให้ตัวเองและกลุ่มพรรคพวกในวันข้างหน้า จึงคิดเล่นแร่แปรธาตุ นำคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต ขององค์กรที่ตัวเองทำงานอยู่ ไปเซ็นต์สัญญากับบริษัทเอกชน เพื่อหวังผลเงินเยียวยาในอนาคต ซ้ำร้าย บริษัทเอกชนที่ชักชวนมาเซ็นต์สัญญา น่าจะนอมินี หรือเป็นกลุ่มพรรคพวกที่สมประโยชน์กัน เพราะมองเห็นเงินเยียวยาก้อนโตที่จะได้จาก กสทช. ในวันที่ถูกเรียกคืนคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต

บ.เพลย์เวิร์ค แค่นอมินี หรือทำธุรกิจจริง
14 ปี กำไรเพียง 10 ล้าน

เมื่อตรวจสอบข้อมูลของบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ในฐานข้อมูลของกรมธุรกิจการค้าข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2548 ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท มีนายธราดล โตศุกลวรรณ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ  30 เมษายน 2563 จำนวน 3 คน คือนางสาวสริตา วัฒนะจันทร์ ถือหุ้นใหญ่ 60 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 18,440,000 บาท  นางอภิญญา เวชพงศา ถือหุ้น 35 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 10,780,000 บาท และนายชูชัย ชาญสง่าเวช ถือหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 1,580,000 บาท 

บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด นำส่งข้อมูลงบการเงินล่าสุด 31 ธันวาคม 2562 มีสินทรัพย์หมุนเวียน 37 ล้านบาทเศษ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 125 ล้านบาทเศษ รวมสินทรัพย์ 162 ล้านบาทเศษ
มีหนี้สินหมุนเวียน 63 ล้านบาทเศษ หนี้สินไม่หมุนเวียน 2 ล้านบาทเศษ รวมหนี้สิน 66 ล้านบาทเศษ ส่วนของผู้ถือหุ้น 96 ล้านบาทเศษ รวมหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น 162 ล้านบาทเศษ
งบกำไรขาดทุน รวมรายได้ 188 ล้านบาทเศษ รวมค่าใช้จ่าย 174 ล้านบาทเศษ กำไรสุทธิ ณ  31 ธันวาคม 2562 จำนวน 10,569,999.55 บาท

ส่วนการลงทุนในโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก ที่ทำสัญญาไว้กับ บมจ.อสมท ตั้งแต่ปี 2553 ไม่มีข้อมูลที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่า บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ได้ลงทุนอะไรไปบ้าง ที่เห็นเป็นรูปธรรม มีเพียงการแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อปี 2553 และการแถลงข่าวอีกครั้งในปี 2561 ซึ่งทั้งสองครั้งจัดที่ บมจ.อสมท และยังมีการจัดบู๊ท แจกโบรชัวร์ที่สยามเซ็นเตอร์ เมื่อปี 53 และการจัดบู๊ทที่อาคารวรรณศรณ์ ในปี 2561

อีกทั้งในยุคที่นายศิวพร ชมสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการ บมจ.อสมท ช่วงปี 2558-2559 เคยตั้งทีมศึกษาสัญญานี้ และไม่ปรากฏว่า บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ได้ดำเนินการอะไรไปมากน้อยเพียงใด ตอนนั้น บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ไม่เคยจัดส่งแผนการส่งเสริมการตลาด แผนกลยุทธ์ และแผนงานทางการตลาดให้ บมจ. อสมท แม้แต่เครื่องหมายทางการค้า ทางบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ยังไม่ได้ออกแบบด้วยซ้ำ

หนึ่งในผู้ถือหุ้น บ.เพลย์เวิร์ค
ถือหุ้นในบริษัทที่ชนะประมูลเครื่องส่งดิจิตอล อสมท

หนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด คือนางสาวสริตา วัฒนะจันทร์ ยังมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เทคทีวี จำกัด ซึ่งร่วมกับบริษัท โรเดอร์ แอนด์ ชวาร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช ประเทศเยอรมนี จัดตั้งบริษัทกิจการค้าร่วมเทคทีวี (TEQTV and Rohde & Schwarz) เข้าร่วมประกวดราคาในโครงการจัดหาเครื่องส่งสัญญาญทีวีดิจิตอลของ บมจ.อสมท มูลค่า 440 ล้านบาท เมื่อปี 2557 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจไม่โปร่งใส เพราะสามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่ของวงการเทเลคอม เช่น บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) (Loxley) บริษัท สามารถเทเลคอม จำกัด (มหาชน) (Samart) ไปได้แบบที่บริษัทเหล่านี้ยังคงกังขา

มีรายงานว่า การชนะประมูลโครงการจัดหาเครื่องส่งสัญญาญทีวีดิจิตอล บมจ.อสมท ของบริษัทกิจการค้าร่วมเทคทีวี เมื่อปี 2557อาจ มีบุคคลใน บมจ.อสมท ที่เป็นคีย์แมนสำคัญ เดินเกมคาดว่าเป็นการล็อกสเป็คในทีโออาร์ ให้บริษัทกิจการค้าร่วมเทคทีวี ได้เปรียบ โดยบุคคลดังกล่าว เป็นคนเดียวกับที่เดินเกมให้เกิดสัญญาโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก กับบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด แต่ในปี 2557 เขาได้ปรับเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการ บมจ.อสมท
ข้อมูลของกรมธุรกิจการค้าข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัทเทคทีวีจำกัด จดทะเบียนเมื่อ 11 มกราคม 2554 กรรมการบริษัทมี 1 คน คือ นางสาวสริตา วัฒนะจันทร์ ทุนจดทะเบียน 37 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้น 3 คน โดยนางสาวสริตา วัฒนะจันทร์ เป็นถือหุ้นใหญ่ 99.2 เปอร์เซ็นต์
งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 รวมสินทรัพย์ 42 ล้านบาทเศษ รวมหนี้สิน 4 ล้านบาทเศษ รวมหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น 42 ล้านบาทเศษ รวมรายได้ 180,860.90 บาท รวมค่าใช้จ่าย 2,000,000 บาทเศษ ขาดทุนสุทธิ 1,986,349.20 บาท

จากปี 2553 ถึงปี 2563
10 ปีแห่งการรอคอย

นับจากวันที่ บมจ.อสมท จรดปากกาเซ็นต์สัญญากับบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด บุคคลที่เป็นคีย์แมนสำคัญ ซึ่งได้วางหมากหวังงาบเงินเยียวยาค่าคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต เกษียณอายุไปในเดือนกันยายน 2557 แต่เขาเป็นนักประสานผลประโยชน์ ที่วางทายาทไว้ในกลไกสำคัญๆ ของ บมจ.อสมท เพื่อขับเคลื่อนแผนการสำคัญ คือภารกิจปิดดีลเงินเยียวยาค่าคลื่นจาก กสทช. โดยตัวเขาเอง แม้จะเกษียณอายุไปจาก บมจ.อสมท แล้ว แต่ใช้ประสบการณ์และเครดิตจากการเคยเป็นรองผู้อำนวยการ บมจ.อสมท วิ่งเต้นวางหมากให้ตัวเองได้เข้าไปอยู่ในองค์กรใหม่ที่จะมีผลต่อการพิจารณาเงินเยียวยาให้ บมจ.อสมท โดยมีเป้าหมายแบ่งเงินครึ่งหนึ่งให้บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด

ในที่สุด คีย์แมนคนสำคัญคนนี้ ก็ทำภารกิจดังกล่าวสำเร็จ แต่การที่จะควบคุมดีลนี้ไม่ให้ผิดพลาด เขาเพียงคนเดียวคงไม่มีศักยภาพมากพอ ที่จะทำเรื่องใหญ่ขนาดนี้ได้ เพราะเป็นเงินจำนวนมหาศาลหลักพันล้านบาท และเป้าหมายสำคัญคือต้องแบ่งเงินเยียวยาก้อนนี้ให้เอกชนครึ่งหนึ่ง ตัวละครจึงเพิ่มขึ้นมามากขึ้น

 

คนที่จะสามารถชี้เป็นชี้ตาย ดลบันดาลให้ดีลนี้จบได้อย่างสงบราบคาบ ผู้คนทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างเกรงในบารมี ต้องเป็นคนที่มีอำนาจมากภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน

ติดตามในตอนต่อไป …

Related Posts

Send this to a friend