เยียวยา อสมท.ค่าเรียกคืนคลื่น 5 จี 3.2 พันล้านบาท
ตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่แล้ว วันที่ 10 มิถุนายน เป็นต้นมา เกิดปมร้อนขึ้นในองค์กรสื่อที่เคยได้ชื่อว่า “แดนสนธยา” ที่ หลังจากบอร์ด กสทช. หรือคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ได้มีมติจ่ายเงินชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่คลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต หรือเรียกสั้นๆ ว่า เงินเยียวยาค่าคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต ให้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แต่ บอร์ด กสทช. ให้แบ่งเงินเยียวยาดังกล่าวให้บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด คู่สัญญาของ บมจ.อสมท ครึ่งหนึ่ง
จำนวนเงินเยียวยามหาศาล 3,235 กว่าล้านบาท ที่ต้องแบ่งครึ่งให้บริษัทของคู่สัญญา บมจ.อสมท นั่นหมายถึงบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด จะได้ส่วนแบ่งเงินเยียวยามากถึง 1,600 กว่าล้านบาท ทำให้เกิดข้อสงสัย และคำถามว่า เหตุใด บอร์ด กสทช. จึงมีมติให้แบ่งเงินเยียวยาให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาของ บมจ.อสมท มากขนาดนั้น และบริษัทเอกชนดังกล่าว ลงทุนไปแล้วมากน้อยเพียงใด
ผอ.อสมท ชงเองแบ่งเงินให้เอกชนครึ่งหนึ่ง
ตามคำแถลงของนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. หลังจากกล่าวระบุตัวเลขเงินเยียวยา 3,235 ล้าน เขาได้กล่าวถึงเอกสารฉบับหนึ่งว่า คณะกรรมการ กสทช. ได้รับทราบ และให้ บมจ.อสมท ปฏิบัติตามหนังสือของ บมจ.อสมท ที่ นร.6100/1250 วันที่ 4 มิถุนายน ในการแบ่งสัดส่วนเงินเยียวยาระหว่าง บมจ.อสมท กับ บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญา ที่กำหนดว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ในการชดใช้และจ่ายค่าตอบแทน ไม่ใช่อำนาจของกรรมการ หรือ บอร์ด บมจ.อสมท
นั่นหมายความว่า การแบ่งเงินเยียวยาครึ่งหนึ่ง คือ 1,600 ล้านบาท ให้บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด อาจไม่ได้ตั้งต้นมาจากบอร์ด กสทช. เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นความต้องการของผู้อำนวยการ บมจ.อสมท เอง ที่ต้องการให้ บอร์ด กสทช. มีมติแบ่งเงินเยียวยาจำนวนครึ่งหนึ่ง ให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาด้วย
หนังสือฉบับดังกล่าว นายเขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการ บมจ.อสมท ส่งถึงเลขาธิการ กสทช. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ระบุว่า ได้รับมอบอำนาจจากประธานกรรมการ บมจ.อสมท มีสาระสำคัญ 2 ข้อ คือ
1.ผู้อำนวยการ บมจ.อสมท เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณากำหนดสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ มิใช่อำนาจของคณะกรรมการบริหารของ บมจ.อสมท.
2.สำหรับจำนวนสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ระหว่าง บมจ.อสมท กับ บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ขอให้มีการพิจารณาแบ่งค่าตอบแทนดังกล่าวในจำนวนเท่าๆ กัน ทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะทำให้ บมจ.อสมท ไม่เป็นการเสียเปรียบแต่อย่างใด
นับเป็นเรื่องน่าแปลก ที่ผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.อสมท มีความประสงค์เช่นนั้น เพราะมูลค่าเงินมหาศาล สามารถช่วยพลิกวิกฤตการเงินใน บมจ.อสมท ที่กำลังซวนเซได้ แต่เหตุใด ผู้อำนวยการ บมจ.อสมท จึงตัดสินใจเองตามลำพัง โดยไม่ผ่านมติบอร์ด บมจ.อสมท ก่อน
บอร์ด อสมท ลาออก-ทักท้วง ผอ.อสมท ไม่ปกป้องผลประโยชน์องค์กร
การประชุมบอร์ด บมจ.อสมท ในวันที่ 11 มิถุนาย ซึ่งคล้อยหลังเพียงวันเดียวหลังบอร์ด กสทช. มีมติเรื่องจ่ายเงินเยียวยาค่าคลื่นให้ บมจ.อสมท จึงเกิดความวุ่นวายขึ้นระหว่างพิจารณาวาระเรื่องเงินเยียวยาที่ กสทช. มีมติออกมาดังกล่าว
แหล่งข่าวระดับสูงใน บมจ.อสมท ให้ข้อมูลว่า วาระดังกล่าววุ่นวายอย่างหนัก จนประธานบอร์ด ซึ่งเป็นคนเดียวที่ประชุมผ่านทางไกลจากจังหวัดขอนแก่น ต้องปิดประชุม เลื่อนการพิจารณาลงมติ ในเรื่องการมอบอำนาจให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายเขมทัตต์ พลเดช ไปเจรจากับ กสทช. อันเป็นที่มาของการแบ่งเงิน ค่าชดเชยในการเวนคืนคลื่นความที่ 2600 เมกกะเฮิรตซ์ ที่ส่อว่าอาจจะเป็นการกระทำอันมิชอบ
กรรมการจำนวน 4 คน ได้ทักท้วงการกระทำของนายเขมทัตต์ ผู้อำนวยการ บมจ.อสมท ที่ทำหนังสือแจ้งต่อ กสทช. ว่า ได้รับมอบอำนาจจากประธานบอร์ด อสมท ให้เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจ ไปเสนอ กสทช. แบ่งเงินชดเชย จำนวน 3.2 พันล้านบาทในอัตรา 50:50 กับบริษัทเอกชน พร้อมกับทักท้วงว่า ประธานไม่มีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้นายเขมทัตต์ เพราะการมอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการในฐานะตัวแทนองค์กร จะต้องเป็นมติของคณะกรรมการ มิใช่การกระทำโดยส่วนตัวของประธาน
เมื่อมีการโต้แย้งการกระทำดังกล่าวทำให้ประธานกรรมการ ซึ่งประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเร้นท์ จากจังหวัดขอนแก่น แจ้งว่า วาระนี้ให้ว่ากันไปเลย ตัวเองขอไม่พิจารณา จากนั้นก็ปิดวีดีโอคอนเฟอเร้นท์ ที่ประชุมจึงเลือก รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกรรมการ และอาวุโสที่สุดที่อยู่ในการประชุม เป็นประธานในที่ประชุมชั่วคราว และมีการอภิปรายประเด็นนั้นต่ออย่างกว้างขวาง โดยกรรมการหลายคน เห็นว่าควรลงมติเพื่อแจ้ง กสทช. ว่า การกระทำของนายเขมทัตต์ ที่ผ่านมามิใช่การกระทำโดยมติคณะกรรมการ และมิได้มีอำนาจตามกฏหมาย เพื่อให้ กสทช. พิจารณาเรื่องดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้อง
แต่เมื่อถึงขั้นตอนนี้ ประธานบอร์ด ซึ่งออกจากการประชุมไปแล้ว ได้ขอกลับเข้ามาขอร่วมประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เร้นส์อีกครั้ง และสั่งเลื่อนการประขุมในวาระดังกล่าวออกไป อย่างไม่มีกำหนด พร้อมสั่งปิดประชุมทันที
สำหรับเหตุผลที่บอร์ดทั้ง 4 คน ทักท้วงในที่ประชุม คือ ผู้อำนวยการ บมจ.อสมท อาจทำผิดหลักเกณฑ์การได้มาเสียไปซึ่งทรัพย์สินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของ บมจ.อสมท ณ ขณะนี้อยู่ที่ 3,600 ล้านบาท เงินค่าชดเชยที่ได้จากการเยียวยาคลื่น 3,200 ล้านบาท เกินกึ่งหนึ่งของทรัพย์สินรวม ซึ่งหากจะดำเนินการใดๆ ตามหลักเกณฑ์การได้มาและเสียไปซึ่งทรัพย์สิน ต้องนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณา
ดังนั้นการที่ นายเขมทัตต์ อ้างว่า ได้รับความเห็นชอบจากประธานกรรมการให้ดำเนินการกำหนดสัดส่วนการแบ่งเงินเยียวยา จึงเป็นการกระทำโดยมิชอบ เนื่องจากไม่มีอำนาจให้ดำเนินการ
ผลสะเทือนจากการใช้อำนาจดังกล่าวของผู้อำนวยการ บมจ.อสมท ทำให้บอร์ด บมจ.อสมท ลาออกแล้ว 3 คน คือ นายพิเศษ จียาศักดิ์ นางสาวปิยะชาต สถาปิตานนท์ และนายมนตรี แสงหิรัญ
นางสาวปิยะชาต นายมนตรี และนายมารุต (ซึ่งเป็นบอร์ดอีกคนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้อำนวยการ บมจ.อสมท แต่ไม่ได้ลาออก) ได้ทำหนังสือทักท้วงการดำเนินการของนายเขมทัตต์ ผู้อำนวยการ บมจ.อสมท ใจความโดยสรุปว่า หนังสือที่นายเขมทัตต์ ทำถึง กสทช. ให้แบ่งเงินเยียวยาค่าคลื่นครึ่งหนึ่ง ให้บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด อาจเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และไม่เป็นไปตามข้อบังคับ และระเบียบของ บมจ.อสมท รวมทั้งมิได้กระทำบนพื้นฐานเพื่อการปกป้องประโยชน์ของ บมจ.อสมท และผู้ถือหุ้น
ขณะที่ในหนังสือทักท้วงของนายมารุต ระบุเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมในวันที่ 11 มิถุนายน คณะกรรมการไม่สามารถลงมติได้ เนื่องจากประธานกรรมการได้สั่งปิดประชุมก่อน โดยไม่รับฟังความเห็นจากกรรมการ
พบขบวนการงาบเงินเยียวยาก่อตัวมานานแล้ว
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท เป็นหน่วยแรกๆ ที่เห็นความไม่ชอบมาพากล กรณีเงินเยียวยา 2600 เมกกะเฮิร์ต มาเป็น 10 ปีแล้ว มีขบวนการที่เป็นการรวมตัวกันของคนทั้งในและนอก บมจ.อสมท ที่จะงาบเงินเยียวยาก้อนนี้ตั้งแต่ต้น สัญญาที่ทำกับบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด เป็นสัญญาพิเศษ ที่ห้ามใครดู
ซ้ำเรื่องใหญ่ที่เป็นผลประโยชน์มหาศาลขนาดนี้ แต่ทุกครั้งที่นำเรื่องเข้าที่ประชุม บอร์ด บมจ.อสมท กลับเป็นเพียงวาระจร โชคยังดีที่ประธานสหภาพฯ บมจ.อสมท ในอดีต คือนางอรวรรณ กริ่มวิรัตน์กุล และประธานสหภาพฯ บมจ.อสมท คนปัจจุบัน คือนายสุวิทย์ มิ่งมล ได้ร่วมทำหน้าที่เป็นบอร์ดกลั่นกรอง ก่อนการประชุมบอร์ด บมจ.อสมท แต่ละครั้ง ทำให้เห็นความไม่ชอบมาพากลดังกล่าว
ยิ่งเมื่อ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ด บมจ.อสมท คนที่แล้ว ลาออกเมื่อกลางปี 2562 เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น จากกลุ่มก้อนที่พยายามดำเนินการปูทางในการงาบเงินค่าเยียวยาคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต ที่ผ่านมา สหภาพฯ บมจ.อสมท จึงพยายาม เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูแล บมจ.อสมท ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ รวมถึงไปยื่นหนังสือสอบถามกรณีดังกล่าว ต่อ กสทช.หลายครั้ง แต่ก็ไม่ทันการณ์
เมื่อ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพฯ บมจ.อสมท จึงไปยื่นหนังสือ ถึงบอร์ด กสทช. เพื่อให้แจ้งข้อสรุปเงินเยียวยาต่อ บมจ.อสมท อย่างเป็นทางการ และระมัดระวังกระบวนการที่อาจขัดต่อกฎหมาย ที่ให้แบ่งเงินเยียวยากับบริษัทคู่สัญญา ตามหนังสือที่ผู้อำนวยการ บมจ.อสมท ส่งไปยัง กสทช.
แหล่งข่าวระดับสูงใน กสทช. เปิดเผยว่า แผนการเยียวยาเงินค่าคืนคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต เป็นแผนที่เน้นจะแบ่งเงินให้บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด มาตั้งแต่ต้น ซึ่งตลอดเวลาที่พิจารณาเรื่องนี้ ผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.อสมท มีความประสงค์ให้ กสทช. เป็นผู้กำหนดสัดส่วนแบ่งเงินให้บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด 50 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเงินเยียวยาที่จะได้ โดยผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังเป็นอดีตบิ๊กทหารผู้กำลังเรืองอำนาจในรัฐบาล
อสมท-เพลย์เวิร์ค และคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต และคนคุมเกม
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 บมจ.อสมท ทำสัญญากับบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด นำคลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิร์ต ของ บมจ.อสมท ไปดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก แต่หลังทำสัญญา ยังไม่ดำเนินการใด เพราะกฎหมายจัดตั้ง กสทช. ในปี 2554
ต่อมาปี 2562 กสทช. ได้เรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิร์ต จาก บมจ.อสมท เพื่อนำประมูลคลื่นความถี่ 5 จี โดยจะพิจารณาการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ หรือเงินเยียวยาให้ ซึ่งการประมูลคลื่น 5 จี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กสทช. ได้เงินจากการประมูลคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ตมากถึง 37,000 กว่าล้านบาท
แต่เริ่มมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในกระบวนการนี้ เนื่องจากมีความพยายามที่จะให้ กสทช. พิจารณาแบ่งเงินเยียวยาครึ่งหนึ่ง ให้บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด นั่นยิ่งทำให้เกิดคำถามว่า ภายหลังทำสัญญากับ บมจ.อสมท บริษัทนี้ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง
สิ่งที่บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ดำเนินการไปแล้วหลังทำสัญญากับ บมจ.อสมท ที่เห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด คือการแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อปี 2553 และการแถลงข่าวอีกครั้งในปี 2561 ซึ่งทั้งสองครั้งจัดที่ บมจ.อสมท และยังมีการจัดบู๊ท แจกโบรชัวร์ที่สยามเซ็นเตอร์ เมื่อปี 53 และการจัดบู๊ทที่อาคารวรรณศรณ์ ในปี 2561
นอกนั้น ไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่า บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ได้ดำเนินการหรือลงทุนอะไรอีก
แต่เหตุใด ผู้บริหาร บมจ.อสมท จึงประสงค์แบ่งเงินให้บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ครึ่งหนึ่งของเงินเยียวยา และใครบ้างที่อยู่ในการปูทางงาบเงินเยียวยาก้อนนี้ กสทช. เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ รวมถึงคนคุมเกมทั้งหมด ที่สามารถดลบันดาลให้เรื่องทั้งหมดลงเอยได้แบบนี้