จับตาธุรกิจสายเขียว 9 มิ.ย.นี้ จะ ‘รุ่ง’ หรือ ‘ร่วง’
คำว่า “สายเขียว” ไม่ได้มีความหมายในเรื่องของการรณรงค์ลดโลกร้อน เหมือนคำว่าสีเขียว หากแต่เป็นคำกล่าวถึงเรื่องราวของการใช้ประโยชน์จากกัญชา ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในยาเสพติดให้โทษ หากใครมีไว้ในครอบครองถือเป็นโทษร้ายแรง หรือถ้านกคาบเมล็ดมาทิ้งไว้ในบริเวณบ้านแล้วงอกงามเป็นต้นกัญชา ก็นับว่า “ซวย” ไป ทำให้ติดคุกได้ แต่ในปัจจุบันมันตรงกันข้ามไปเสียแล้ว ถ้ามีเยอะๆ เปลี่ยนจากคำว่า“ซวย” เป็น “รวย” ได้เลย เพราะใบกัญชาแห้งกิโลละ 4-5 หมื่น เลยทีเดียว ขณะที่ใบชาแห้งแค่กิโลละไม่กี่ร้อย
การทำกัญชาให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวด เพราะพืชชนิดนี้เคยอยู่ด้านมืดมาก่อน ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสอย่างมหาศาลสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะเป็นสิ่งที่คนค่อนประเทศรู้จักดีอาจจะดีกว่ากะเพราเสียอีก แค่ได้ยินชื่อว่า ชาอารมณ์ดี ทุกคนก็น่าจะรู้ว่า ต้องเป็นชาที่มีส่วนผสมของกัญชาแน่นอน โดยไม่ต้องพลิกส่วนผสม และนี่เป็นข้อได้เปรียบ และกำลังจะกลายมาเป็นพืชที่เป็นยาสามัญประจำบ้านอีกด้วย และสามารถปลูกได้ทุกครัวเรือน และปลูกมากกว่า 6 ต้นขึ้นไป อีกทั้งกัญชายังถูกหมายตาให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในเร็วๆ นี้
หลายคนอาจจะนับเวลาถอยหลังอยากให้ถึง 9 มิถุนายน 2565 เร็วๆ .. วันที่ พ.ร.บ.กัญชา จะมีผลบังคับใช้ ทำให้กัญชากำลังจะพ้นมลทินจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในทุกกรณี “ยกเว้นสารสกัดจากกัญชาที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) เกินร้อยละ 0.2” ยังคงผิดกฎหมายอยู่ ใครมีสารสกัดดังกล่าวในครอบครองเกินปริมาณที่ระบุไว้ โดนตำรวจจับแน่นอน
วันนี้ กัญชานับว่าเป็นวัตถุดิบที่ทรงอิทธิพลในการขับเคลื่อนการค้า และวงการแพทย์ยุคใหม่ๆ ของไทยโดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ และ โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ได้นำ ยากัญชามาใช้กับประชาชน จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วย ได้รับยากัญชา มากกว่า 240,000 รายเป็นยาแผนไทย 85% แผนปัจจุบัน15% รวมถึงมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สร้างรายได้ให้กับประชาชน ประเทศ สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูงกว่า 7 พันล้านบาท
หลายองค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับพันล้านในตลาดหลักทรัพย์ จวบจนระดับพันบาทในตลาดสด ต่างเล็งช่องทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในการสร้างรายได้จากกัญชาได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งหมดล้วนอยู่ที่การคว้าโอกาสที่รัฐบาลกรุยทางได้ใช้ประโยชน์จากกัญชา และนำมาช่วยกันสร้างสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ ที่ส่งผลต่อรายได้ของประเทศในอนาคต ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวในอนาคต หากมีการเดินหน้าด้านนโยบายเต็มสูบในสมัยหน้า ต่างชาติมาก็น่าจะอยากลองชิมอาหารที่มีการฟิวชั่นจากกัญชาคงจะแข่งขันกับโยเกิร์ตดอกฝิ่นของตุรกีได้สบาย
มองให้เป็นรูปธรรมหน่อยก็จะเห็นได้ว่าตอนนี้ขนาดยังไม่มีผลบังคับใช้เรื่องกัญชาให้พ้นจากสภาพยาเสพติดให้โทษเสียทีเดียว ก็มีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาเกิดขึ้นมากมาย กลายเป็นคลื่นยักษ์ทางธุรกิจที่ถาโถมทำให้เกิดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ เครื่องสำอาง สเปรย์แอลกอฮอล์ (ก็ยังมาได้) ธุรกิจอาหาร (สมัยโบราณใช้กัญชาในการเรียกรสชาติก่อนผงชูรสเสียอีก) กาแฟ ชา ขนม คุกกี้ และมีอีกหลากหลายประเภท หลายแบรนด์ที่น่าจะเปิดตัวเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
ตอนนี้กัญชานับว่าเป็นพืชที่ติดลมบน ไม่แน่ว่าในอนาคตสักปีหรือสองปีอาจมีเศรษฐีใหม่ๆ พูดว่าเริ่มต้นจากเงินหลักพัน สู่ความสำเร็จร้อยล้าน โดยตั้งต้นมาจากการเห็นโอกาสเติบโตจากกัญชาก็เป็นได้ และอีกไม่นานคงมีแต่ประเทศไทยที่จะครองตลาดนัมเบอร์วัน ในหมวดผลิตภัณฑ์ที่มีรากเหง้ามาจากกัญชาแน่นอน หากได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่อง และมีโมเมนตัมอย่างเพียงพอ