เมทัลเล็กซ์ เปิดเวทีเสวนาร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรม ยานยนต์ไร้คนขับ และรถยนต์ไฟฟ้า
“เมทัลเล็กซ์” รวม 6 กูรูอุตสาหกรรมยานยนต์ จัดสัมมนา หัวข้อ “Smart Move รวมพลังขับเคลื่อนและพัฒนายานยนต์ไทย” ที่จัดขึ้นภายใต้งาน METALEX 2022 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ทั้งนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลัก ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมานานกว่า 5 ทศวรรษ โดยที่ผ่านมาประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลก แม้ว่าจะมีความผันผวนทางธุรกิจ และทำให้อุตสาหกรรมมีการชะลอตัวเป็นบางช่วง ซึ่งปัจจุบันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อภาครัฐให้การสนับสนุน ในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไร้คนขับ ทำให้เกิดการตื่นตัวในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งฝั่งผู้บริโภคและค่ายรถยนต์ผู้ผลิต รวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง
นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า “ในฐานะหน่วยงานรัฐ จะต้องให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างไร เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์บรรลุเป้าหมาย ซึ่งการมีคณะกรรมการที่มาดำเนินการขับเคลื่อน จะต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์เดินหน้าต่อไปได้ การเปลี่ยนผ่านยานยนต์แบบเดิม มายังยานยนต์รุ่นใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเติบโต ของอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป”
รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า “ในเชิงนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น มีความชัดเจน ประกอบกับยานยนต์ไฟฟ้าสามารถตอบโจทย์เรื่อง carbon zero ที่กำลังเป็นประเด็นทั่วโลกได้ดี ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย มีการเติบโตขึ้น แต่ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการเชื่อมกันของธุรกิจ ที่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีในอนาคต เช่น ยานยนต์ไร้คนขับจะรับบัตรจอดรถ จากเครื่องจ่ายบัตรอัตโนมัติในลานจอดรถอย่างไร นอกจากนี้การเข้ามาสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หากมีผู้ประกอบการลงมือผลิตได้จริง ก็จะทำให้ต้นทุนของแบตเตอรี่มีราคาถูกลง รวมถึงเรื่องของยานยนต์ไร้คนขับ ที่ประเด็นสำคัญคือการลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ความท้าทายของเรื่องนี้ คือสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่วนใหญ่มาจากรถจักรยานยนต์มากกว่าในขณะที่ยานยนต์ไร้คนขับนั้น ผู้ประกอบการหลายรายให้ความสนใจ ประเภทรถเก๋งมากกว่า โจทย์ก็คือยานยนต์ไร้คนขับ จะช่วยลดความสูญเสียได้จริงหรือไม่”
ด้าน ผศ.ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ เลขานุการ และ co-founder ศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart MOBI) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการโตแบบก้าวกระโดด และน่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นในระยะยาว เพราะมีปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการส่งเสริมคือเรื่องของ Carbon Zero สำหรับยานยนต์แบบไร้คนขับ ที่ปัจจุบันเริ่มมีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ในลักษณะต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อยานยนต์ไร้คนขับ สามารถทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ เชื่อว่าจะเกิด business model ใหม่ๆขึ้นอีกจำนวนมาก รวมถึงสิ่งสำคัญคือการพัฒนาบุคลากร ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ให้มีความรู้ความสามารถควบคู่กันไปด้วย เพราะหากไม่ได้ฝึกฝนคนไว้รองรับ การเติบโตของธุรกิจในอนาคต ก็จะเป็นได้แค่ผู้ประกอบ”
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ที่ทุกคนทั่วโลก มองเห็นถึงศักยภาพในเรื่องนี้ สำหรับทางบริษัทเลือกจับตลาดรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ที่แม้ว่าจะไม่ใช่ตลาดใหญ่ แต่เนื่องจากยังมีคู่แข่งน้อยอยู่ และเหมาะสำหรับโมเดลธุรกิจของสตาร์ทอัพ ซึ่งตลาดรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ คนไม่ค่อยให้ความสนใจเนื่องจากหลายคนมองว่า รถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ใช้พลังงานมากกว่า ใช้แบตเตอรี่จำนวนมาก และใช้เวลาชาร์ตนานกว่าปกติ ทางบริษัทก็ได้ศึกษาเรื่องแบตเตอรี่ ว่าจะทำอย่างไรให้ใช้เวลาในการชาร์ตไม่นาน เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจให้ครบวงจร ซึ่งเรื่องยานยนต์ไฟฟ้านั้น ส่วนตัวแล้วอยากให้ภาครัฐให้การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับตลาดเชิงพาณิชย์ด้วย สำหรับยานยนต์ไร้คนขับนั้น ตนมองว่าเมื่อการทดสอบออกมาเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน จะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาอีกจำนวนมาก เพราะยานยนต์ไร้คนขับ จะเปลี่ยนพฤติกรรมคนและเปลี่ยนต้นทุนการดำเนินการ”
นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด กล่าวว่า “โดยส่วนตัวแล้วเรื่องยานยนต์ไฟฟ้านั้น หากมองตลาดรถโดยสารส่วนบุคคล จะมีการแข่งขันสูง แต่หากมองตลาดเชิงพาณิชย์ ที่แม้ว่าไซส์ตลาดจะเล็กลง แต่ก็ใหญ่สำหรับสตาร์ทอัพ ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าเซ็กเมนต์การดัดแปลงรถเก่าเป็นรถไฟฟ้า ที่เมื่อดัดแปลงแล้วจะเกือบเหมือนรถใหม่ แต่ราคาต่ำกว่าซื้อรถใหม่ ที่จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นในธุรกิจได้ แต่จะต้องทำซัพพลายเชนให้แข็งแกร่ง ทั้งการให้ความรู้และการพัฒนาทักษะ ของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีสกิลมากเพียงพอ จะสามารถขยายตลาดไปยังยานยนต์ ในกลุ่มเฉพาะได้ด้วย เช่น รถไถ รถที่ใช้ในสนามบิน ฯลฯ”
ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด ผู้ให้บริการ MuvMi ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า กล่าวว่า “ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการรถตุ๊กตุ๊ก MuvMi มีกว่า 3 ล้านคน ซึ่งแนวคิดหลักคือเน้นการเดินทางในเมือง ที่เป็นรถตุ๊กตุ๊กเพราะวิ่งเข้าซอกซอยได้ และกลับรถในถนนแคบได้สะดวก โดยมีการปรับภายในห้องโดยสารให้กว้างขึ้น และใช้คอนเซ็ปต์การเดินทางร่วมไปในเส้นทางเดียวกัน โดยมีแอปพลิเคชันเป็นตัวสื่อสาร เชื่อมระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ซึ่งกว่าจะทำได้ประสบความสำเร็จ ต้องผ่านหลายเรื่องหลายขั้นตอน เพราะการเปลี่ยนมาเป็นระบบไฟฟ้ามันคือการเปลี่ยนทั้งระบบ ที่แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุน แต่การสนับสนุนจากแต่ละหน่วยงานนั้นมีให้ไม่เท่ากัน”
จะเห็นได้ว่าทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ต่างก็พยายามที่จะร่วมมือกันผลักดันให้การดำเนินการในเรื่องของ Carbon Zero ผ่านยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไร้คนขับ เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแม้ว่าจะเริ่มมีผลผลิต ในท้องตลาดออกมาบ้างแล้ว แต่ก็อาจจะยังต้องปรับปรุงเพิ่มต่อ ในเรื่องของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องของสถานีชาร์ตประจุไฟฟ้า ที่จะต้องมีการเปิดกว้างในการจัดตั้ง และเพิ่มจุดบริการให้มีมากกว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ให้ได้รับความสะดวกมากขึ้นต่อไป