มหกรรมกัญชา-กัญชงบุรีรัมย์ คึก ประชาชนแห่ร่วมงานวันที่สองล้นหลาม แน่นทุกห้องสัมมนา อย. เปิดห้องติวยิบ เรื่องการขอปลูก
งานมหกรรม กัญชากัญชง 360 องศาเพื่อประชาชน ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มีประชาชนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และทั่วประเทศเข้าร่วมอย่างเนืองแน่น ยังคงได้รับการตอบรับจากประชาชนเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม ในการจัดงานวันที่สอง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. มีประชาชนหลั่งไหลมาลงทะเบียนร่วมงาน ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 การคัดกรองอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานสาธารณสุขตั้งแต่ทางเข้า
ขณะที่แต่ละห้องสัมมนา ให้ความรู้ ครบวงจร ก็มีประชาชนสนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างคึกคัก ภก.สัญชัย จันทร์โต กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวบนเวทีสัมมนาในหัวข้อ “การกำกับดูแลและการนำกัญชากัญชงไปใช้ประโยชน์ภายใต้กฎหมายใหม่”
ภก.สัญชัย กล่าวว่า การปลูกกัญชา อย. ไม่ได้บังคับว่าจะปลูกจากเมล็ดหรือต้นอ่อน แต่คำแนะนำคือ ควรปลูกจากต้นเพศเมียซึ่งมีช่อดอก ซึ่งอยู่ในยาเสพติดให้โทษ โดยต้องนำส่งให้ รพ.สต. คู่สัญญาเพื่อผลิตเป็นยาทางการแพทย์ ดังนั้น การปลูกจากเมล็ดเหมือนเป็นการลุ้นล็อตเตอรี่ ซึ่งไม่รู้ว่าโตมาแล้วจะเป็นเพศอะไร ดังนั้นการปลูกจากต้นกล้าอ่อนจะดีกว่า ซึ่งกัญชา 1 ต้น จะให้ช่อดอกสดต่ำที่สุดประมาณ 0.5 กิโลกรัม(ก.ก.) คิดเป็นกิโลกรัมแห้ง 0.12 ก.ก. ส่วนใบสด กิ่ง ก้าน รวมประมาณ 2 ก.ก.
ดังนั้นหากปลูก 6 ต้น ก็จะได้ช่อดอกสด 6 ก.ก. ช่อดอกแห้ง 0.6 ก.ก. ซึ่งในขณะนี้ อย. ปลดล็อกส่วนของพืชกัญชาทุกส่วน ยกเว้นช่อดอก ใบรองดอก และเมล็ด ออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษแล้ว ดังนั้น รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วก็จะต้องไปดูว่าเราจะนำส่วนที่ปลดล็อกไปทำอะไร ส่วนช่อดอกและเมล็ดกัญชา ที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษ จะต้องส่งมอบให้กับรพ.สต.คู่สัญญา
ภก.สัญชัย กล่าวว่า ต่อมาเป็นส่วนของการปลูก กัญชา จะต้องระบุแบบแปลน พิกัดภูมิศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมาย ไปจนถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้มีการขออนุญาตให้ปลูกในบ้านได้แล้ว แต่ต้องมีแนวกั้นเพาะปลูกกัญชาที่ชัดเจน ติดรั้วลวดหนาม มีรั้วป้องกันการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก สูงประมาณ 1.5-2.0 เมตร บริเวณหน้าประตูทางเข้าแปลง ติดป้ายสีน้ำเงินระบุข้อความว่าสถานที่ผลิตยาเสพติดให้โทษ
ขณะเดียวกันการปลูกพืชกัญชง ที่มีความแตกต่างจากพืชกัญชา คือ มีสารสำคัญ THC น้อยกว่า 1.0 เปอร์เซ็นต์ มากกว่านั้นจะกลายเป็นกัญชาทันทีต้องใช้ในทางการแพทย์หรือศึกษาวิจัยเท่านั้น ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ส่วนของกัญชงที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษมีเพียงช่อดอกและใบรองดอกที่ห่างจากช่อดอก 30 เซนติเมตร ขณะที่ กฎกระทรวงฯ เรื่องกัญชง ฉบับเดิมอนุญาตปลูกโดยรัฐเท่านั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2564 ที่ออกมาใช้แทนประกาศฉบับเก่า ระบุว่า ขณะนี้การขออนุญาตปลูกกัญชงสามารถปลูกได้โดยบุคคลทั่วไป นิติบุคคล เอกชน หรือวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ยังสามารถขออนุญาตสกัดกัญชงได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน เมล็ดกัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ดังนั้น ผู้ที่ขออนุญาตปลูกแล้วสามารถนำเข้าเมล็ดได้จาก 3 แหล่งที่มา ประกอบด้วย การนำเข้าเมล็ดกัญชง เมล็ดพันธุ์รับรอง 4 สายพันธุ์ และเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน แต่ที่สำคัญคือจะต้องเป็นสายพันธุ์ที่ให้สาร THC ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง
การส่งข้อมูลสำคัญในการขออนุญาตปลูกพืชกัญชา คือ การรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน ขั้นตอนการเตรียมสถานที่ และการขออนุญาตปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (พ.ร.บ.) ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ระบุชัดเจนว่า จะต้องอยู่ในการควบคุมของรัฐ โดยหน่วยย่อยที่สุดในการขออนุญาตร่วมปลูกได้คือ วิสาหกิจชุมชน ซึ่งในความหมายคือ การรวมตัวกันของประชาชนมากกว่า 7 คนขึ้นไปที่ปลูกพืชชนิดอื่นๆ อยู่แล้ว และได้รับใบอนุญาตเป็นวิสาหกิจชุมชน หลังจากนั้นนำใบอนุญาตไปขึ้นทะเบียนปลูกกัญชาเพิ่มกับ อย. โดยทางกฎหมายวิสาหกิจชุมชนต้องปลูกร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมีผู้อำนวยการ รพ.สต. ร่วมกับประธานวิสาหกิจชุมชนถือใบอนุญาตคู่กัน เกิดเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เพื่อความสะดวกให้กับประชาชน
การขออนุญาตสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือติดต่อโดยตรงที่ อย. เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ช่อดอก ใบรองดอก และเมล็ดกัญชา ยังเป็นยาเสพติดอยู่ ดังนั้น ต้องปลูกจากเมล็ดพันธุ์ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งขอรับเมล็ดพันธุ์ได้จากเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในจังหวัดของตนเอง
“ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 ในระยะ 5 ปีแรก จะไม่อนุญาตนำเข้าทุกส่วนของกัญชง ยกเว้นเมล็ดเพื่อการปลูกเท่านั้น ไม่สามารถนำเข้าเมล็ดเพื่อนำมาสกัดทำในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ผู้ที่จะใช้ประโยชน์จากกัญชงจะต้องเป็นสิ่งที่ปลูกใช้ภายในประเทศเท่านั้น ไม่สามารถนำเข้าส่วนใดของกัญชง ยกเว้นเมล็ดที่จะนำมาปลูก เพราะหากเปิดให้นำเข้าจากภายนอกได้เกษตรกรไทยก็จะปลูกไม่ทันเขา ทำให้เสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจไทย” ภก.สัญชัย กล่าว
ภก.สัญชัย กล่าวด้วยว่า ผู้ที่ขออนุญาตปลูกพืชกัญชง ก็สามารถขออนุญาตผลิตสกัดช่อดอกที่มีสาร CBD ได้ แต่ต้องมีสาร THC น้อยกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ โดย อย. ก็ได้เปิดกฎหมายในการนำสารสกัดจากเมล็ดกัญชงมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ในรูปแบบ Hemp seed oil หรือใส่ในอาหารได้ แต่หากสกัดมาแล้ว มีสาร CBD มากกว่า 0.2 จะต้องมีการขออนุญาตผลิตยาเสพติดแบบสกัดอีก 1 ใบตามกฎหมายยาเสพติด กล่าวในบทสรุปคือกัญชง ก็ยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่ การปลูกต้องได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การจัดงานมหกรรมกัญชา กัญชง 360 องศา วันที่สองนี้สำนักข่าวต่างประเทศดังอย่างรอยเตอร์ ได้ส่งผู้สื่อข่าวมาติดตามรายงานการจัดงานครั้งนี้ด้วย นายประพันธ์ จันทร์แก้ว ผู้ผลิตข่าวโทรทัศน์อาวุโส กล่าวว่า อยากสื่อสารการขับเคลื่อนนโยบายกัญชา กัญชงของคนไทยเพื่อให้ทั่วโลกรับทราบว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังทำอะไรกันอยู่ ซึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การใช้พืชกัญชา กัญชง เป็นที่แพร่หลายมากในเมืองไทยซึ่งต่างจากที่อื่น จะเห็นได้จากสื่อ การโฆษณาต่างๆ กระแสตอบรับจากผู้ประกอบการร้านอาหาร เช่น ร้านอาหาร ครีมทาผิว ยารักษาโรค ยาคลายเครียด ทำธุรกิจสปา
นายประพันธ์ กล่าวว่า ความตื่นตัวในกระแสกัญชาทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ที่ทวีปอเมริกาและยุโรป เพราะเขาเริ่มมาก่อนหน้าเรา แต่ก็ยังติดเรื่องกฎหมายอยู่บ้าง ส่วนในประเทศไทยเรื่องถือว่า นโยบายกัญชา เป็นเรื่องที่จับต้องได้จริง เป็นการเริ่มต้นที่มีความโดดเด่น เพราะถูกบรรจุอยู่ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เป็นการผลักดันที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งเอกชน รัฐบาล ภาคธุรกิจผู้ผลิตภัณฑ์ ธุรกิจสุขภาพ จึงมีความครอบคลุมมากพอสมควร
“ผมเสนอไปทางสำนักข่าวรอยเตอร์เพื่อนำเสนอเรื่องนี้ แล้วเขาสนใจในความครบวงจร ความหลากหลายของการใช้กัญชาเพื่อผลักดันเศรษฐกิจในประเทศไทย ต่างประเทศเองก็ติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องกัญชาของไทย ทุกครั้งที่ผมทำเรื่องนี้ออกไปกระแสตอบรับก็ออกมาดี” นายประพันธ์ กล่าวและว่า นโยบายกัญชาของไทยไม่ได้คึกคักแค่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่มันทำให้ที่อื่นเขามองเห็นว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่
ทางด้านผู้ประกอบการ และร้านต่าง ๆ ที่นำผลิตภัณฑ์มาร่วมออกงานในครั้งนี้ กว่า 50 ร้าน ต่างก็ได้รับการตอบรับจากประชาชน หาซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดย น.ส.อารยา อินทรานนท์ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ Fu Cha Cannabis เปิดเผยว่า เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าจากใบกัญชา ด้วยการนำมาทำเป็นชาชงดื่ม จากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายกัญชาทางการแพทย์ หลังจากนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ปลดล็อกส่วนของพืชกัญชาที่ยกเว้นช่อดอกและเมล็ด ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แล้ว เราก็มองเห็นอนาคตของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งก็คิดว่ากัญชาน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้ ชาจากกัญชาที่นำมาร่วมงาน สามารถชงร้อนและเย็นได้ มีคุณสมบัติช่วยให้ผู้ดื่มหลับลึกมากขึ้น เพราะมีสารสกัดจากสารซีบีดี(CBD) มีฤทธิ์ช่วยให้ผ่อนคลาย เราก็จะให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับผู้บริโภคในด้านสุขภาพ การรักษาโรค เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต จะต้องให้ผู้ดื่มเก็บข้อมูลก่อนและหลังดื่มเพื่อเป็นข้อมูลของตนเอง โดยแนะนำให้ดื่มในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ระบบหัวใจผิดปกติ ระบบไตบกพร่อง
“เราดำเนินธุรกิจชาจากใบกัญชามาระยะหนึ่งแล้ว โดยศึกษาการขออนุญาตใช้ใบกัญชาและซื้อกับแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมายที่เป็นวิสาหกิจชุมชน ดังนั้น อยากฝากถึงผู้ที่สนใจ นำกัญชาไปสร้างมูลค่าทางธุรกิจ ก็ขอให้ซื้อมาจากแหล่งที่ถูกต้องตามที่ อย. กำหนด ปฏิบัติตามขั้นตอนของการลงทะเบียน ลำดับคิวในการซื้อจากแหล่งปลูกที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ประกอบทุกภาคส่วนเข้าถึงการใช้กัญชาอย่างเท่าเทียม” น.ส.อารยา กล่าว
น.ส.กัลยณัฏฐ์ สิมานุรักษ์ นายกสมาคมการค้าธุรกิจท่องเที่ยวยโสธร ในฐานะอนุกรรมการสมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน(สอทอ.) และเป็นเจ้าของร้านกาแฟเล็กเก้เฮาส์ (Lekgae House) ให้สัมภาษณ์ระหว่างเข้าร่วมงานว่า ตนและครอบครัวเดินทางมาจาก จ.อุบลราชธานี และ จ.ยโสธร เดิมทีครอบครัวมีธุรกิจร้านกาแฟอยู่แล้ว ซึ่งมองว่าหากมาร่วมในมหกรรมกัญชา 360 องศา ครั้งนี้ ก็จะเป็นโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น รวมถึงมีความสนใจในการรวมวิสาหกิจชุมชน เพื่อปลูกกัญชาด้วย จึงเดินทางเข้ามาร่วมงาน เพื่อหาคำตอบว่า หากจะปลูกให้ถูกกฎหมาย จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง
ทางด้านห้องเวทีห้องสัมมนาใหญ่ มีการเปิดบรรยายในหัวข้อ แนวโน้ม ตลาด “กัญชง” พืชเศรษฐกิจ ความหวัง ใหม่สู่โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางประชาชน เกษตรกร และหน่วยงานราชการ ร่วมฟังการบรรยายอย่างคับคั่ง
ดร.สริตา ปิ่นมณี สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องคก์ารมหาชน) หรือ สว.พส. เปิดเผยว่า เรารวบรวมพันธุ์กัญชงจากพื้นที่สูง และคัดเลือกให้มีปริมาณสารเสพติด (THC) น้อย ใช้เวลา 4 ปี จาก 10 สายพันธุ์ รวมได้ 4 พันธุ์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์ RPF1, RPF2, RPF3 … ณ วันนี้สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นใย และเมล็ด ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ คือข้อมูลพื้นฐานของกัญชงที่ไทยมีอยู่ ของ สว.พส. จะมุ่งเน้นที่ต้นน้ำ ตามพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชินีพันปีหลวง ว่า ให้พิจารณาข้อดี และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป จะส่งเสริมเป็นสินค้าได้ ส่งเสริมให้เกษตรกร ชาวเขา ผลิตกัญชงเป็นเครื่องนุ่งห่ม มีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รับมาดำเนินการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย สว.พส. และ มูลนิธิโครงการหลวง เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน มีแผนนำร่องในปี 2553 เพื่อสร้างมูลค่า สร้างงาน สร้างรายได้ ให้ปลูกได้อย่างถูกต้อง โดยมุ่งใช้ประโยชน์ด้านเส้นใย
ดร.สริตา กล่าวต่อว่า ย้อนกลับไป 15-16 ปีที่แล้ว เราเน้นเส้นใยเป็นหลัก ณ วันนั้น กฎหมายบอกว่า กัญชา กัญชง เป็นยาเสพติด ขอวิจัยได้แค่ที่ อย.เท่านั้น แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ จากเดิมที่ชาวบ้านถูกจับ และนำมาใช้ไม่ได้ จึงเน้นศึกษาวิจัย พัฒนาพันธุ์ให้มีสารเสพติดน้อยก่อน ต่อมา คือ วิธีการปลูก ก็จะไม่มีการตีพิมพ์ออกมา แต่เป็นการศึกษาร่วมกับชาวบ้าน มีระบบควบคุมทั้งสิ้น ซึ่งในต่างประเทศก็มีเช่นกัน มีการรวบรวมแผนท้องถิ่น และ ลงปลูกในหลายพื้นที่ 5 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ ตาก ที่พี่น้องชาวม้งทำอยู่