วอนนายกฯ หนุนแก้กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า-ยุติวงจรเสือในกรงเลี้ยง
นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เปิดเผยว่า กรณีที่ประชาชนเข้าชื่อ 10,400 รายชื่อ ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เนื่องจากกังวลว่ากฏหมายฉบับนี้ มีช่องว่างที่อาจตกเป็นเครื่องมือส่งเสริมกระบวนการค้าสัตว์ป่าอย่างถูกกฏหมาย โดยเฉพาะ ม.28 ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีอำนาจออกใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครอง แม้กำหนดไว้เพื่อการศึกษาวิจัยหรือขยายพันธุ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ก็ตาม อีกทั้งอนุสัญญาไซเตสมีการส่งจดหมายเตือนมายังรัฐบาลไทยให้ลดจำนวนเสือในกรงเลี้ยง ดังนั้นรัฐบาลควรแก้กฏหมายนี้เพื่อยกเลิกการออกใบอนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อยุติวงจรเสือในกรงเลี้ยง และสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการให้บริการสวนสัตว์ ให้ไปตามกระแสการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า เพื่อตัดตอนกระบวนการเพาะพันธุ์เสือเพื่อการค้า
“ขอเรียกร้องต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เห็นความสำคัญของเสียงประชาชนกว่า 1 หมื่นคนที่ลงชื่อให้แก้กฏหมาย เรากังวลว่าร่างกฏหมายจะถูกตีตก เพราะล่าสุด สภาฯ มองว่าเป็นร่างแก้กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน คืออาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการยกเลิกการออกใบอนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่า จึงต้องส่งให้นายกฯ รับรอง ขณะเดียวกันกระแสโลกให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ ดังนั้นไทยอาจต้องสูญเสียเม็ดเงินจากการถูกคว่ำบาตรด้านการท่องเที่ยว หากปล่อยให้มีการแสดงโชว์เสือหรือสัตว์ป่าเพื่อความบันเทิง หรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับสัตว์ เช่น กรณีลิงเก็บมะพร้าว ที่ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทยมาแล้ว ดังนั้นกรณีของเสือในกรงเลี้ยงทั้งการลักลอบเพาะพันธุ์เพื่อการค้าและการนำสัตว์มาบังคับให้แสดง จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าจะมีผลกระทบตามมา จึงหวังว่านายกฯ จะพิจารณาให้ ร่าง พ.ร.บ ฉบับนี้ ได้เข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาในลำดับต่อไปเพื่อแก้ปัญหาอย่างยืนต่อไป” นายปัญจเดช กล่าว
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ หนึ่งในคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างสวนสัตว์หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ป่า มีความต้องการเสือสูงมาก โดยเฉพาะเสือโคร่ง ชนิดพันธุ์ที่นิยมคือ เสือไซบีเรีย เสือเบงกอล และกลุ่มเสือสายพันธุ์เฉพาะหรือที่เรียกว่าเสือแปลก เช่น เสือขาว หรือเสือลูกผสม เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่แถบเอเชียและนักท่องเที่ยวไทยอยากสัมผัสใกล้ชิดกับเสือ ไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนสวนสัตว์ และเสือในกรงเลี้ยงมากที่สุด
กลุ่มสัตว์หายากหรือสัตว์แปลกจะมีราคาแพงกว่าสัตว์สายพันธุ์ปกติ เช่น การเอาเสือขาวจากซีกโลกเหนือมาผสมพันธุ์กับเสือเบงกอล แต่ในธรรมชาติสัตว์ป่าไม่มีการผสมข้ามถิ่น แต่ด้วยความต้องการทำให้มีการนำเข้าสัตว์กลุ่มนี้เพื่อตอบสนองธุรกิจท่องเที่ยว โดยไม่ได้คำนึงถึงการควบคุมสายพันธุ์ เสือบางตัวราคาหลายล้านบาท เมื่อถูกนำเข้ามาเลี้ยงในประเทศ แม้จะมีกฏหมายควบคุมแต่ยังพบว่ามีการแอบผสมพันธุ์ และลูกเสืออาจถูกขายต่อไปในตลาดมืด นอกจากนี้ฟาร์มที่ลักลอบเพาะพันธุ์เพื่อการค้ามักจะเป็นการผสมไขว้กันเอง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดชิดในสัตว์ป่า ภาวะสุขภาพอ่อนแอหรือความพิการ