ENVIRONMENT

เผยงานวิจัยวิเคราะห์การใช้เทคโนโลยีในการบำบัดอากาศ สู่ทางเลือกการกำหนดนโยบายแก้ปัญหา PM 2.5

กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงผลการวิจัยเชิงบูรณาการด้านเทคโนโลยีและสังคมเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร โดยมี รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ “การวิเคราะห์ความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการบำบัดฝุ่น PM 2.5 ในบรรยากาศ” โดยยกตัวอย่างการศึกษาข้อมูลของเขตพญาไทในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งมีรายละเอียดผลการวิจัยดังนี้

ข้อมูลค่าความเข้มข้นฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุดในเดือนมกราคม 2564 มีค่า 80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเมื่อพิจารณาค่า ประเภทอัตราการดูดอากาศ จำนวนเครื่อง และค่าใช้จ่าย สำหรับการบำบัดอากาศให้กลับมาอยู่ที่ค่ามาตรฐานนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.เครื่องที่มีอัตราการดูดอากาศ 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดสูงสุดของประเทศ มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเท่ากับ 2 ล้านบาทต่อเครื่อง ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศประเภทนี้ จะต้องมีการติดตั้งทั้งหมด 162 เครื่องในเขตพญาไท เพื่อลดค่าฝุ่น PM 2.5 ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน 24 ชั่วโมง ต้องใช้งบประมาณราว 320 ล้านบาท ไม่รวมค่าบำรุงรักษาระบบในระยะยาว

2.เครื่องฟอกอากาศที่มีอัตราการดูดอากาศ 1,440,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงของประเทศอินเดีย มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนประมาณ 7 ล้านบาทต่อเครื่อง ต้องใช้งบประมาณราว 94 ล้านบาทเพื่อลดความเข้มข้นฝุ่น PM 2.5 ให้เป็นไปตามค่ามาตรฐานรายชั่วโมงสำหรับเขตพญาไทในช่วงเดือนที่มีปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน (เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง กุมภาพันธ์ 2564)

หากใช้ข้อมูลเดียวกันของความเข้มข้นฝุ่นของเขตพญาไทในเดือนมกราคม 2564 แต่ปรับเป็นพื้นที่สวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร เช่นพื้นที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งมีขนาด 196 ไร่ จะใช้เครื่องบำบัดอากาศที่มีอัตราการดูดอากาศ 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จำนวนอย่างน้อย 20 เครื่อง ใช้งบประมาณราว 40 ล้านบาท หรือติดตั้งเครื่องบำบัดอากาศที่มีความสามารถใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย จำนวนอย่างน้อย 1 เครื่อง ใช้งบประมาณ 7 ล้านบาท

สำหรับการศึกษาการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในอาคารควบคู่กัน อาจพิจารณาใช้เครื่องฟอกอากาศที่ใช้ระบบตัวกรองไฟเบอร์ ที่มีลักษณะการทำงานแบบดูดอากาศที่มีลักษณะอนุภาพเป็นแบบแห้ง ผ่านกระดาษกรองเส้นใยเพื่อกรองอนุภาคฝุ่น โดยอาศัยแรงกลเพียงอย่างเดียว สำหรับเทคโนโลยีการกรองประเภทนี้ สามารถกรองฝุ่นในอนุภาคต่าง ๆ ได้ดี แต่เทคนิคประสิทธิภาพไม่สูงเท่ากับระบบดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต และระบบฟอกอากาศแบบปล่อยประจุ ที่ใช้การปล่อยประจุไฟฟ้าเข้ามาช่วยดักจับฝุ่น ส่วนการเลือกใช่เทคโนโลยีแต่ละประเภทนั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณ

การนำเสนอข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดในการประยุกต์ใช้ ความเป็นไปได้ และความเหมาะสมในการใช้งานเพื่อตอบโจทย์สภาพปัญหาที่มีความจำเพาะในประเทศไทย รวมถึงประสิทธิผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐในการพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดแนวทางในการสนับสนุนและส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบำบัดฝุ่น PM 2.5 สู่การยกระดับการแก้ไขปัญหาสาธารณะอย่างถูกต้อง และก่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงานในการลดและควบคุมระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 เพื่อลดผลกระทบอันเกิดต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนต่อไป

Related Posts

Send this to a friend