อ.จุฬาฯ ชี้ หากไทยลดค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ลงมาเท่า WHO จะช่วยลดอัตราเกิดมะเร็งถึง 44%

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 30 ภายใต้หัวข้อ “จุฬาฯ ระดมคิด พลิกวิกฤต PM2.5” เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 แลกเปลี่ยนความรู้และนำเสนองานวิจัยเพื่อเป็นฐานในการขับเคลื่อนมาตรการนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบจากฝุ่น PM2.5
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นย้ำถึงบทบาทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการใช้ความรู้และงานวิจัยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 “เมื่อสังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ” พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน
ดร.พญ.ภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า งานวิจัยทั่วโลกให้ผลยืนยันตรงกันว่า PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งผลกระทบเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น อาการระคายเคืองตา ไอแห้ง เจ็บคอ หายใจไม่สะดวก ผื่นคันตามตัว ผลกระทบเรื้อรัง เช่น หอบหืดกำเริบ หลอดลมอักเสบ มะเร็งปอด โรคหัวใจ อัลไซเมอร์ นอกจากนี้ PM2.5 ทำให้เซลล์ของร่างกายอักเสบบ่อย ๆ จนความสามารถซ่อมแซมเซลล์ของยีนเปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นมะเร็ง
จากงานวิจัยพบว่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น สารหนู แคดเมียม และโครเมียมในปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด จึงแนะนำให้ประชาชนใส่หน้ากาก N95 หรือสูงกว่าเพื่อป้องกัน และหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งเมื่อค่าฝุ่นอยู่ในระดับสูง
“ประเทศไทยใช้ค่า cutoff ของ PM2.5 ที่ปลอดภัยมานานที่ < 50 mcg/m³ และเพิ่งปรับเป็น < 37.5 mcg/m³ ในปี 2566 แต่จากงานวิจัยพบว่าหากเราลดค่า cutoff ลงมาเท่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่ < 15 mcg/m³ จะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งในประชากรไทยได้ถึง 44% และหากลดลงมาอยู่ที่ < 25 mcg/m³ ก็ยังช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งได้ 17%” ดร.พญ.ภัทราวลัย กล่าว
รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศต้องเริ่มจากการตรวจวัดและวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจต้นเหตุของปัญหา และต้องมีการแก้ไขที่แหล่งกำเนิด ควบคู่ไปกับการจัดการแบบบูรณาการในทุกมิติ เพราะแต่ละแหล่งกำเนิดมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย การจัดการแบบแยกส่วนจะไม่ได้ผล
รศ.ดร.ทรรศนีย์ เจตน์วิทยาชาญ ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า วิกฤติฝุ่น PM2.5 ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับสองปัจจัยหลัก ได้แก่ แหล่งกำเนิดมลพิษและสภาพอากาศ ฝุ่น PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้เป็นหลัก แหล่งกำเนิดที่สำคัญในกรุงเทพฯ ได้แก่ การจราจร โรงงานอุตสาหกรรม การเผาชีวมวล และละอองลอยจากเกลือทะเล นอกจากนี้ การเกิดฝุ่นทุติยภูมิจากปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ อิทธิพลของสภาพอากาศ โดยเฉพาะลมอ่อน อุณหภูมิผกผัน และมวลอากาศเย็นที่มีความเร็วลมต่ำในช่วงฤดูหนาว ทำให้ฝุ่นสะสมและกระจายตัวช้า
รศ.ดร.สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ กล่าวว่า การจัดการคุณภาพอากาศเป็นเรื่องของทุกคน เราต้องตั้งรับ ปรับตัว และป้องกันตนเองและครอบครัว โดยเพิ่มการรับรู้ความเสี่ยงและทักษะ Data Literacy ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่เปราะบางต่อปัญหานี้