“เหตุการณ์แบบนี้เกิดทุกชั้นเรียนในทุกแผนก ถือเป็นยุคที่โดนกดดันหนักที่สุด พ.ศ. 2540 เรียนปวช. ที่มีข่าวสมัชชาคนจนชุมนุมหน้าทำเนียบ มีป้ายสนับสนุนเขื่อนในเมืองแพร่มากมาย พวกเรานักเรียนก็ใช้วิธีไปฉีกป้ายออก พ่อแม่ก็เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ที่แย่คือ มันกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนสะเอียบกับคนในเมือง ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น” กุลเล่า
กุลบอกอีกว่า ที่โรงเรียนประจำจังหวัด มีการเกณฑ์ให้นักเรียนลงชื่อสนับสนุนโครงการเขื่อน มีเแต่ด็กนักเรียนจากสะเอียบเป็นหัวหน้าชั้น แอบถ่ายเอกสารออกมา จึงทราบว่าผู้ว่าฯ สั่งให้ทุกโรงเรียนล่ารายชื่อผู้สนับสนุนโครงการเขื่อน จนชาวบ้านจาก ต.สะเอียบ ต้องพากันมาประท้วงที่ตัวจังหวัด
ช่วงก่อนเรียนจบ กุลได้เป็นประธานกลุ่มประสานงานเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำต่างๆ ราว 10 ลุ่มน้ำ ทั่วประเทศ จำได้ว่าทุกครั้งที่ผู้ใหญ่มีแถลงการณ์ กลุ่มเยาวชนก็จะออกแถลงการณ์จากเยาวชน มีข้อเรียกร้องคือ ให้รักษาทรัพยากรธรรมชาติและอนาคตของลูกหลาน และยืนยันจะทำงานต่อจากพ่อแม่
หลังจากนั้นก็ได้ส่งต่อไม้ให้น้องรุ่นต่อๆ ไป จนสถานการณ์การผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นลดลง ได้เปลี่ยนเป็นกิจกรรมค่ายเรียนรู้ เช่น เก็บผักหวาน หาเห็ด เรียนรู้วิถีป่า สำนึกรักษ์บ้านเกิดและพื้นที่ทางวัฒนธรรม โดยมีน้องๆ เป็นผู้ประสานงาน
ปัจจุบันมีการก่อตั้ง “โฮงเฮียนแม่น้ำยม” ใช้รูปแบบงานวิจัยไทบ้าน รวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้ท้องถิ่นเรื่องแม่น้ำและนิเวศ สอนให้เด็กๆ เรียนรู้ชุมชนและทรัพยากรของตนเอง
กับคำถามว่าทำไมจึงให้ความสำคัญกับงานเยาวชน กุลบอกว่าคิดว่าเรื่องนี้สำคัญในทุกพื้นที่ เพราะเด็กๆ คือผู้สืบทอด และงานเคลื่อนไหวเพื่อการปกป้องสิทธิชุมชน เป็นงานที่ต้องทำยาว การสร้างเยาวชนที่เข้มแข็งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
กุลบอกว่า จนถึง ณ เวลานี้ เชื่อว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างไม่ได้แน่ๆ แต่อย่างไรก็ตามชุมชนต้องอยู่ต่อได้ ให้ชุมชนเรียนรู้และเท่าทันสถานการณ์ ทั้งในประเทศและภูมิภาค ชาวสะเอียบต่างรู้ดีว่านอกจากเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้ว มักจะมีโครงการอื่นๆ ที่เสนอกั้นแม่น้ำยม เขื่อนยมบนยมล่าง อ่างเก็บน้ำเตาปูน และอื่นๆ เข้ามาอีก
กลุ่มเยาวชน ต่างเชื่อว่าขบวนการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นการต่อสู้บนฐานของความไม่ยุติธรรมในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อย่างการสร้างเขื่อน ขบวนการชาวบ้านทำให้เกิดการยอมรับในสิทธิชุมชนในการร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคุณูปการแก่พื้นที่อื่นๆ ทั้งในประเทศและในภูมิภาค
เป็น “ตำนานเขื่อนแก่งเสือเต้น” ที่ชาวบ้านคนธรรมดาสามารถยันโครงการเขื่อนไว้ได้
การผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น กุลบอกว่า เชื่อว่าเป็นความต้องการผลประโยชน์ ต่างๆ อาจหมายถึงเงินทอน อาจหมายถึงไม้สักทองในป่าแม่ยม ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้นทุกวัน และไม่สามารถหาได้ที่ไหนอีกแล้ว เชื่อว่าวัตถุประสงค์หลักที่มีการผลักดันโครงการอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในลุ่มน้ำยม
“การผลักดันสร้างเขื่อนทำให้ลุ่มน้ำยมเสียโอกาสในการใช้ทางเลือกการบริหารจัดการน้ำอื่นๆ” กุลบอก และสรุปว่าที่เราทำ คือปกป้องรักษาผืนป่าสักทองผืนใหญ่ของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ของคนสะเอียบ
วันนี้แม้ยังมีความพยายามปรับรูปแปลงร่าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” บนแม่น้ำยม เป็น “อ่างเก็บน้ำเตาปูน” แต่พลังของชุมชนและคนหนุ่มสาวยังคงแข็งแกร่งในการปกป้องป่าสักทองผืนใหญ่ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับ “นักปั้น”โครงการซึ่งมีทั้งบิ๊กข้าราชการในหน่วยงานรัฐและนักการเมืองใหญ่