‘จะนะรักษ์ถิ่น’ บุกถามความคืบหน้า SEA เลขาฯ สภาพัฒน์ โต้ระบุเวลาแน่ชัดไม่ได้ ต้องถกทุกฝ่าย

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ บุกถามความคืบหน้า SEA หลังผ่านมติ ครม. มาเดือนครึ่ง เลขาฯ สภาพัฒน์ โต้ ระบุกรอบเวลาแน่ชัดไม่ได้ ต้องถกผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย-ดำเนินการรัดกุม ย้ำ นายกฯ มุ่งมั่นแก้ปมจะนะ
วันนี้ (27 ม.ค. 65) เวลา 13:15 น. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เข้ายื่นหนังสือต่อ ดร. ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อขอทราบความคืบหน้าการดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 เรื่องการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ในประเด็นดังต่อไปนี้
- ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2564 จนถึงปัจจุบันสศช. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างไรไปแล้วบ้าง ?
- สศช. ได้ออกแบบวางแผนการดำเนินงานจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ SEA) ตามมติคณะรัฐมนตรี 14 ธันวาคม 2564 อย่างไร ?
- ปัจจุบัน สศช. ได้มีการยกร่างหรือออกประกาศ กำหนดหลักเกณฑ์แนวทางหรือกฎระเบียบ เพื่อรองรับการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) อย่างไรหรือไม่ ?
- สศช. วางแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ไว้อย่างไรบ้าง ?
- สศช. ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานใดในสังกัด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 ธันวาคม 2564 เพื่อทางเครือข่ายจะได้ประสานงานติดตามเรื่องการดำเนินการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับ (SEA) ในโอกาสต่อไป
ด้าน ดร. ดนุชา เลขาฯ สศช. ระบุว่า สศช. อยู่ระหว่างดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 ธันวาคม 2564 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายให้ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน และเคยมอบหมายให้นายสุพัฒนพงศ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ไปพูดคุยด้วยแล้ว จึงอยากให้มั่นใจในความตั้งใจของรัฐบาลต่อการดำเนินการในเรื่องนี้
“อย่างไรก็ตาม การศึกษา SEA จำเป็นต้องคุยกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พร้อมหาคนมาทำการศึกษา ก็ต้องประสานกับสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่เครือข่ายระบุต่อไป รวมไปถึงดูเรื่ิงงบประมาณที่คงไม่ติดอุปสรรคอะไร” ดร. ดนุชา กล่าว
เลขาฯ สศช. กล่าวว่า สศช. จะพิจารณากลไกเพื่อศึกษาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ พร้อมส่งคณะทำงานลงไปพูดคุยในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม สศช. ยังไม่สามารถระบุกรอบเวลาที่แน่ชัดได้ เนื่องจากต้องกำหนดพื้นที่ศึกษาให้ชัดเจน และดำเนินการให้รัดกุม
นอกจากนี้ นายรุ่งเรือง ระหมันยะ ผู้แทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เน้นย้ำว่าทางเครือข่ายยินดีร่วมมือกับ สศช. อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ สศช. ตอบกลับหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน