กรมโยธาฯ รับปากยุติการศึกษาสร้างกำแพงกันคลื่นหาดเกาะสมุย

ลั่น “ไม่กลัวเสียหน้า” เปิดทางกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลฯ เป็นเจ้าภาพหาทางฟื้นฟูหาดอย่างเหมาะสมกับแหล่งท่องเที่ยวเศรษฐกิจสำคัญ
วันนี้ (25 ต.ค. 65) กลุ่มรักษ์หาดสมุย ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ขอให้ยุติโครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่ริมหาดแม่น้ำและหาดบางมะขาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพราะสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้รุนแรง ขัดแย้งกับข้อมูลของโครงการ มีการเร่งรัดสำรวจศึกษาในเวลาเพียง 3-4 เดือน ปิดทางเลือกการแก้ปัญหากัดเซาะด้วยวิธีการอื่นนอกจากการสร้างกำแพงกันคลื่น จากการตั้งวัตถุประสงค์โครงการที่ระบุว่า เป็นการศึกษาออกแบบ รายละเอียดการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะ ริดรอนสิทธิการใช้ประโยชน์บนชายหาดตามวิถีดำรงชีพปกติ เพราะการสร้างเขื่อนโครงสร้างแข็งที่ริมหาด ทำให้สูญเสียมวลตะกอนทราย หรือสภาพชายหาดอย่าถาวร นำไปสู่การทำลายภาพลักษณ์และรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวของเกาะสมุย ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย
ซึ่งในเวทีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เกิดความขัดแย้งรุนแรงในที่ประชุม ตัวแทนของกรมฯ แย่งไมค์จากตัวแทนฝ่ายชาวบ้านไม่ให้พูดแสดงความคิดเห็น จงจนนายกเทศบาลนครสมุยตัดสินใจระงับการสร้างเขื่อนโครงสร้างแข็งซึ่งทุเลาความขัดแย้ง ในวันนี้จึงมายื่นหนังสือถึงกรมโยธาธิการซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงให้มีคำสั่งยุติโครงการนี้
หลังใช้เวลาหารือร่วมกันกว่า 2 ชั่วโมง ช่วงท้าย นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง สรุปว่า “กรมโยธาธิการฯ รับข้อเสนอให้ยกเลิกการศึกษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเกาะสมุย หากประชาชนมองว่าการดำเนินการของกรมโยธาธิการฯ ยังไม่ครอบคลุม ขอให้ถอนโครงการออกไป ให้กรมทรัพยากรทางทะเลมาศึกษา หาเเนวทางที่เหมาะสมให้มีองค์ประกอบคณะทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ต้องประสาน คือ ท้องถิ่น เเละ กมธ.กัดเซาะชายฝั่งฯ ให้มีความเห็นตรงกัน คิดว่าไม่ใช่เรื่องเสียหน้า เป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ กรมฯ ก็พร้อมรับข้อเสนอของท่าน เเต่ต้องไปหารือ เเต่คิดว่าคงไม่มีปัญหาในการยกเลิกโครงการศึกษาดังกล่าว กับทางเทศบาลเกาะสมุย เเละ กรรมมาธิการ ตามที่เขาได้ร้องขอมา …กรมโยธาธิการฯ ยืนยันที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกๆกลุ่ม กรมพร้อมที่จะรับข้อเสนอไปเเละดำเนินการตามกฎหมายต่อไป…”
ด้านนายอานนท์ วาทยานนท์ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์หาดเกาะสมุย กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับการพูดคุยกับกรมโยธาธิการฯ ในวันนี้ เป็นเรื่องดีที่ได้นำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาพูดคุยกับทางกรมฯ โดยตรง โดยเฉพาะเกาะสมุยเป็นพื้นที่เศรษฐกิจท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ การแก้ปัญหาต้องทำอย่างรอบคอบและไม่ใช่การไปเพิ่มปัญหา เพราะสถานการณ์การกัดเซาะในสมุยเกิดเพียงช่วงสั้นๆแล้วธรรมชาติก็ฟื้นฟูตัวเอง คิดว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ในระดับพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนคอนกรีตแข็งขนาดใหญ่ ซึ่งจะกระทบต่อระบบนิเวศชายหาดแน่นอน
ซึ่งหลังจากนี้ ทางกรมโยธาจะไปปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อยกเลิกกระบวนการศึกษาการสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่เกาะสมุยและเปิดทางให้ใช้กลไกคณะกรรมการร่วมที่มีกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งเป็นเจ้าภาพ ตั้งคณะทำงานศึกษาวิธีการอนุรักษ์ชายหาดอย่างเหมาะสมรวมถึงดำเนินคดีหรือหรือถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในหน้าน้ำทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งเสียหายต่อไป
เรื่อง : ทศ ลิ้มสดใส
ภาพ : พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์