อ.วิศวฯ จุฬาฯ เตือน โลกเข้าสู่ยุคโลกเดือด กระทบสุขภาพมนุษย์ และภาคการเกษตร แนะทุกภาคส่วนร่วมกันลดคาร์บอนฟุตพริ้น

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงสถานการณ์อุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลังจากที่เลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations) ออกมาประกาศว่าปัจจุบันโลกของได้สิ้นสุด ‘ยุคโลกร้อน’ (Global Warming) และกำลังเข้าสู่ ‘ยุคโลกเดือด’ (Global Boiling)
ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวว่า ยุคโลกเดือดเปรียบเหมือนน้ำที่กำลังเดือดอยู่บนไฟตลอดเวลา และโลกเดือดนี้จะส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนของโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มทำงานกลางแจ้ง ที่อาจเจ็บป่วยจากอากาศร้อนได้ รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวน ก็ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากข้อมูลการสำรวจคาร์บอนฟุตพริ้นภายในคณะ ปี 2565 พบว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 2,879 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ประเทศไทยประกาศว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30
หากพิจารณาจากข้อมูลจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นเมื่อปี 2565 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรเหลือ 2,015 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2030 และเตรียมมาตรการสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง