ENVIRONMENT

ผู้เชี่ยวชาญ เตือน ฤดูฝน ลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสาย เสี่ยงโคลนถล่ม แนะ เร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน

วันนี้ (22 มี.ค. 68) ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านบริหารจัดการน้ำ สถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม แห่งภาคพื้นเอเชีย (SEI Asia Centre) กล่าวถึงกรณีปัญหาแม่น้ำสายและแม่น้ำกก หลังได้รับผลกระทบจากทำเหมืองที่ต้นน้ำในรัฐฉาน ฝั่งเมียนมา ทำให้น้ำขุ่นขึ้นเป็นอย่างมากว่า วิธีแก้ไขคือการจัดการเหมืองให้ได้มาตรฐาน จากประสบการณ์ที่เคยทำงานที่เมียนมา เคยตรวจเจอโลหะหนักในน้ำ เพียงแต่ก็ยังอยู่ในค่าที่ไม่กระทบรุนแรง

ส่วนภัยพิบัติน้ำโคลนท่วมเมื่อเดือนกันยายน 2567 เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองทางต้นแม่น้ำสาย แม่น้ำกก แต่ไม่ทั้งหมด เป็นผลที่ปนกันจากการทำเหมือง และแลนด์สไลด์ตามธรรมชาติ หากปล่อยไปแบบนี้ฤดูฝนจะเสี่ยงโคลนถล่มอีก เพราะปีที่แล้วคุณภาพต้นน้ำอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม จึงต้องติดตามตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงร่วมกันก่อน

สำหรับน้ำขุ่นข้น ทั้งน้ำกก และน้ำสาย ปัญหาใหญ่คือประปา การแก้ปัญหาที่ปลายทางก็ต้องตรวจคุณภาพน้ำเพื่อความปลอดภัย เพิ่มต้นทุนการบำบัดน้ำประปาให้มากขึ้น เป็นสิ่งที่ท้ายน้ำต้องปรับตัว ยังไม่รวมผลกระทบเรื่องระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นปลา และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในลำน้ำ แหล่งอาศัย แหล่งวางไข่ เราอยู่ท้ายน้ำต้องตั้งรับด้วยข้อมูลที่ชัดเจนว่าผลกระทบเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางต้นน้ำเป็นอย่างไร ต้องไปตั้งจุดตรวจวัดที่เขตชายแดนทุกจุด

น.ส.จุฑามาศ ราชประสิทธิ เจ้าหน้าที่อาวุโสมูลนิธิชุมชนและเขตภูเขา จ.เชียงราย เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ริมแม่น้ำกก ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ว่า ชาวบ้านแก่งทรายมูล และชาวบ้านร่มไทย กังวลเรื่องความขุ่นข้นของน้ำ แม้จะมีการนำน้ำไปตรวจคุณภาพน้ำแล้วก็ตาม เชื่อว่าการท่องเที่ยวและการเล่นน้ำสงกรานต์ในละแวกนี้จะลดลงแน่นอน ก่อนหน้านี้กรมควบคุมมลพิษนำน้ำจาก 3 พื้นที่ไปตรวจ ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนกว่าจะทราบผล

“นอกจากสถานการณ์น่ากังวลใจเรื่องน้ำกกขุ่นแล้ว ยังมีสถานการณ์ไฟไหม้ป่ารอยต่อระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณหมู่ 14 เพราะไฟไหม้ต่อเนื่องยังไม่สามารถดับได้สนิท ชาวบ้านต้องผลัดเปลี่ยนเวรกันไปเพื่อดับไฟด้วยมือ ใช้ไม้ตีไฟ ไม่สามารถแบกถังน้ำขึ้นไปได้” น.ส.จุฑามาศ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat