ศาลปกครองยกฟ้อง คดี เครือข่ายปชช. ขอให้เพิกถอนประกาศ ก.ทรัพย์ฯ ยกเว้นให้โรงไฟฟ้าขยะไม่ต้องทำ EIA

โดยศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่มูลนิธิบูรณะนิเวศและเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 7 จังหวัด (ปทุมธานี ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สระบุรี) ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2558 ที่ยกเว้นให้โรงไฟฟ้าขยะ กำลังการผลิตตั้งแต่ 10 เมกกะวัตต์ขึ้นไปไม่ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ คดีหมายเลขดำที่ ส.47/2558
สืบเนื่องจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2558 แก้ไขจากเดิมที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทุกประเภทที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แก้ไขเป็น ยกเว้นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาดไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA ประกอบการขออนุมัติอนุญาต ทั้งที่เป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูงด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเท่านั้น
มูลนิธิบูรณะนิเวศและเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 7 จังหวัด มองว่า การออกประกาศดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และเป็นการยกเลิกมาตรการหรือกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน ปิดกั้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมแสดงความคิดเห็นและติดตามตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าขยะทั้งของรัฐและเอกชน
มูลนิธิบูรณะนิเวศและเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 7 จังหวัด จึงมีคำขอให้ศาลปกครอง พิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงฯที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฉบับดังกล่าว และเห็นว่าแม้การจัดการปัญหาขยะจะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่การรีบเร่งผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าขยะซึ่งเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูงด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยการออกกฎหมายยกเว้นการจัดทำรายงาน EIA โดยไม่มีหลักประกันหรือมาตรการการประเมินและควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่ารองรับ ถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะที่ผิดพลาด และภาครัฐต้องยกเลิกการประกาศใช้ประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว
ทั้งนี้ ศาลปกครองพิพากายกฟ้อง ขณะที่มูลนิธิบูรณะนิเวศและเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 7 จังหวัด เตรียมยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน